สรุป 4 เป้าหมาย 4 แนวทาง ‘เป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG’

สรุป 4 เป้าหมาย 4 แนวทาง ‘เป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG’ จากการริเริ่มของไทย สู่นโยบายระดับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมควบคู่การเติบโตทางเศรษฐกิจ
“เป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว” หรือ Bangkok Goals on Bio-Circular-Green (BCG) Economy เป็นหนึ่งในผลลัพธ์เป้าหมายสำคัญของเอเปค 2022 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ
วันนี้ (19 พ.ย. 65) พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เปิดเผยต่อสื่อมวลชนหลังเสร็จสิ้นภารกิจการประชุมระดับผู้นำว่า ที่ประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 29 มีมติรับรองเป้าหมายกรุงเทพฯ ดังกล่าวแล้ว
The Reporters ประมวลรายละเอียดของเอกสารเป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG ที่ได้รับการพูดถึงมากที่สุด และมีสัญญาณฉันทามติจากสมาชิกชัดเจนที่สุด ในการประชุมระดับต่าง ๆ ของเขตเศรษฐกิจ ดังนี้
เหล่าสมาชิกเอเปคมุ่งมั่นในการเติบโตภายในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เน้นย้ำถึงเป้าหมายความยั่งยืนเพื่อสอดรับกับความท้าทายทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมที่ซับซ้อนขึ้นในภูมิภาค เพื่อความผาสุกสวัสดีของประชากรและชนรุ่นหลัง โดยเป้าหมายกรุงเทพฯ ประกอบด้วย 4 เป้าหมาย ได้แก่
1. สนับสนุนการจัดการทุกความท้าทายทางสิ่งแวดล้อม ทั้งปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสภาพอากาศเลวร้าย และภัยพิบัติธรรมชาติ เพื่อโลกที่ยั่งยืนขึ้น โดยเฉพาะผ่านการบรรเทา การปรับตัวและการยืดหยุ่น สภาพความเปลี่ยนแปลงเหล่านั้น
2. ต่อยอดการค้าการลงทุนที่ยั่งยืนและครอบคลุม ให้สอดรับกับนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม
3. ส่งเสริมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การใช้และจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน ตลอดจนยับยั้งและทวงคืนการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ
4. เดินหน้าบริหารทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ และจัดการของเสียอย่างยั่งยืน มุ่งสู่เป้าหมายไม่เหลือทิ้ง
ในเอกสารเป้าหมายกรุงเทพฯ ยังระบุถึงกลไกของเอเปคที่จะเป็นแนวทางขับเคลื่อนสู่เป้าหมายข้างต้นถึง4 แนวทาง ได้แก่
1. การมีกฎการดำเนินงานและสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เอื้ออำนวยและฉับไวต่อสถานการณ์ ทั้งการปฏิรูปโครงสร้าง การปฏิบัติตามกฎอย่างดี และความร่วมมือทางกฎระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการปฏิรูปโครงสร้าง
2. การเสริมสร้างศักยภาพ ผ่านการขับเคลื่อนความร่วมมือในทางปฏิบัติและทางเศรษฐกิจ การแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวปฏิบัติที่ดีที่สุด การถ่ายทอดเทคโนโลยีโดยสมัครใจ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และการส่งเสริมแรงงาน
3. การสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การจัดหาเงินทุน และการลงทุนอย่างมีคุณภาพ ตลอดจนการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม และการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล
4. การมีเครือข่ายสำหรับความร่วมมือร่วมกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการเงิน ภาควิชาการตลอดจนองค์การระหว่างประเทศและระดับภูมิภาค และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้อง
นอกจากนี้ คณะกรรมการเอเปคและหน่วยงานระดับล่างที่เกี่ยวข้องจะบูรณาการและผลักดันประเด็นวาระข้างต้น ผ่านยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติงานตามความเหมาะสม โดยสำนักเลขาธิการเอเปคจะสรุปรายงานการปฏิบัติการและนโยบายตามเป้าหมายกรุงเทพฯ เพื่อรายงานต่อเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปค ซึ่งมีหน้าที่ติดตามและประเมินผลความคืบหน้าของเป้าหมายกรุงเทพฯ ในภาพรวม
เรื่อง : ณัฐนนท์ เจริญชัย