WORLD

รัฐศาสตร์ จุฬาฯ จัดเสวนาอิสราเอล-ปาเลสไตน์

คาดสงครามอาจบานปลาย แต่อยู่ในวงจำกัด ไม่ยกระดับ แนะรัฐบาลป้องกันไม่ให้คนไทยทำงานในพื้นที่เสี่ยง พร้อมกำหนดนโยบายส่งออกแรงงานทั้งระยะสั้น กลาง ยาว

วันนี้ (3 พ.ย. 66) มูลนิธิฟรีดริชเนามัน ประจำประเทศไทย (Friedrich Naumann Foundation Thailand) คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสถาบันศึกษาความมั่นคงและนานาชาติ (ISIS Thailand) จัดงานเสวนา “ความขัดแย้งอิสราเอล-ปาเลสไตน์ : สงครามที่ไม่มีจุดจบ” ณ อาคารประชาธิปก-รำไพพรรณี คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมี ผศ.ดร.พงศ์พิสุทธิ์ บุษบารัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันศึกษาความมั่นคงและนานาชาติ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้ดำเนินรายการ

สุวัฒน์ จิราพันธุ์ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) กรรมาธิการ (กมธ.) การต่างประเทศ วุฒิสภา และอดีตรองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ให้ความเห็นก่อนเริ่มเสวนาว่า พื้นที่ดังกล่าวมีชุมชนชาวคริสต์ ยิว และมุสลิม อยู่กันมาอย่างยาวนาน หากไม่แก้ไขที่ต้นตอ ความขัดแย้งจะมีมาและอยู่ตลอดไป ส่วนตัวต้องการเรียกร้องให้ประเทศไทยวางตัวอย่างเหมาะสมในแต่ละกรณี แม้การโจมตีของฝ่ายหนึ่งจะไม่ถูก แต่การตอบโต้อย่างบดขยี้ก็ไม่ถูกเช่นกัน สำหรับรัฐบาล ในฐานะรัฐ การคุยกับกลุ่มเหล่านี้ต้องระมัดระวังพอสมควร ขณะที่ฝ่ายนิติบัญญัติบินไปหารือก็ถือว่าดี แต่อยากให้ฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติคุยกันนิดหนึ่งเพราะถือเป็นภารกิจช่วยเหลือคนไทยเช่นกัน วันนี้ไม่ใช่แค่เรียนรู้ แต่เราในฐานะประชากรโลกจะได้พิจารณาว่า มีแนวทางอย่างไรเพื่อสนับสนุนสันติได้อย่างแท้จริง

ฐปณีย์ เอียดศรีไชย สำนักข่าว The Reporters ในฐานะสื่อมวลชนที่ติดตามทำข่าวในประเทศอิสราเอล ตั้งข้อสังเกตก่อนการไปลงพื้นที่ในครั้งนี้ว่า ทำไมคนไทยเราถึงถูกจับ คนไทยเป็นไปตามที่ข่าวที่เราได้ยินหรือไม่ และได้ทำความเข้าใจสภาพแวดล้อมเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนลงพื้นที่ ในเวลาต่อมาได้ติดต่อประสานงานไปที่ฝ่ายแรงงาน เพื่อลงพื้นที่พูดคุยกับแรงงานชาวไทย เกี่ยวกับความเป็นอยู่ในพื้นที่ในสถานการณ์สงคราม ซึ่งเมื่อเดินทางไปถึงแล้วก็พบว่า ยังคงมีแรงงานไทยทำงานอยู่ในพื้นที่สีแดงมาเป็นเวลากว่า 25 วัน เนื่องจากยังไม่ได้รับผลกระทบและอยากได้ยินข่าวคราวจากเพื่อนด้วย

สำหรับประเด็นคนไทยตกเป็นเป้าหมายการโจมตีหรือไม่นั้น ฐปณีย์ เปิดเผยข้อมูลของตัวแทนพูดคุยของกลุ่มฮามาสที่ระบุว่า ฮามาสไม่ได้เจาะจงว่าจะจับคนไทย แต่พื้นที่คนไทยบางส่วนอยู่ เป็นพื้นที่ของปาเลสไตน์ จึงถือว่าเป็นการบุกรุกเข้าพื้นที่ที่ฮามาสต้องการเอาคืน และฮามาสยังฝากบอกคนไทยว่า ไม่อยากให้แรงงานทำงานในพื้นที่ตรงนั้น เพราะฮามาสจะยึดพื้นที่กลับจากอิสราเอล จึงมีความจำเป็นต้องโจมตีพื้นที่ดังกล่าว ด้วยเหตุนี้ พื้นที่เสี่ยงมากสุดในประเทศอิสราเอลคือ ชายแดนทางตอนใต้ติดกับฉนวนกาซา และชายแดนทางเหนือติดกับประเทศเลบานอน

ในขณะเดียวกัน ในช่วงท้ายที่กำลังปิดศูนย์อพยพฯ ที่รัฐบาลไทยกดดันให้แรงงานชาวไทยกลับประเทศนั้น ฐปณีย์ กล่าวถึงข้อมูลที่พบระหว่างการลงพื้นที่ว่า แรงงานชาวไทยมีเหตุผลที่ยังอยู่คือ

1.รายได้อยู่ที่ 50,000-100,000 ต่อเดือน ซึ่งเป็นรายได้ที่สูงมาก ทั้งยังสามารถเลี้ยงดูครอบครัวได้

2.พื้นที่ที่อยู่เป็นพื้นที่ปลอดภัย ได้รับความเสี่ยงน้อย จึงเป็นเหตุผลที่แรงงานชาวไทยเลือกที่จะอยู่ต่อ

“รัฐบาลไทย ท่านรัฐมนตรี และนายกฯ ต่างกดดันให้อพยพกลับ แรงงานหลายคนก็ตั้งคำถามว่า ทำไมรัฐบาลต้องกดดันให้อพยพกลับด้วย เพราะเขายังอยู่ได้และต้องการเงิน คนที่ไม่อยู่ในพื้นที่ก็ไม่ได้รับผลกระทบ … จึงเสนอให้รัฐบาลกำหนดแผนอพยพที่ชัดเจน และกำหนดพื้นที่สีแดงไม่ให้มีแรงงานไทยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย และกำหนดมาตรการดูแลแรงงานไทยที่กลับมายังประเทศไทยต่อไป ตลอดจนทำให้ตัวประกันไทยได้รับความปลอดภัยเช่นกันกับทุกคน” ฐปณีย์ ระบุถึงข้อเสนอเกี่ยวกับการดำเนินการของรัฐบาล

ด้าน ศาสตราจารย์ พลโท ดร.สมชาย วิรุฬหผล ประธานที่ปรึกษา องค์กรรณรงค์เพื่อความเป็นเอกภาพของปาเลสไตน์ (Palestine Solidarity Campaign Thailand: PSC Thailand) ซึ่งต่อสู้เป็นหนึ่งเดียวกับปาเลสไตน์เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมตามหลักมนุษยธรรม โดยแสดงความเสียใจต่อครอบครัวผู้สูญเสีย เป็นห่วงในตัวประกัน และเข้าใจว่าแรงงานไทยต้องการรายได้จึงแสวงหางานที่นั่น โดยอาจไม่ทราบว่ามีประเด็นปัญหาในพื้นที่ จึงเกิดคำถามต่อรัฐบาลที่ส่งแรงงานไปทำงาน เพราะการส่งแรงงานไปทำงานในพื้นที่ยึดครองที่เป็นกรณีพิพาท ถือว่าผิดกฎหมายระหว่างประเทศ ดังนั้น จะตีความได้หรือไม่ว่า รัฐบาลสนับสนุนให้ละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศด้วย

ศาสตราจารย์ พลโท ดร.สมชาย วิเคราะห์มุมมองจากโลกมุสลิมต่อปัญหาและแนวทางการแก้ไขโดยสันติวิธี โดยเท้าความถึงสหประชาชาติว่า ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อไม่ให้มีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ รวมถึงชาวปาเลสไตน์ด้วย โดยสหประชาชาติมีมติเมื่อปี ค.ศ. 1947 นอกจากการแบ่งแยกดินแดนแล้ว ยังมีมติห้ามบีบบังคับคนปาเลสไตน์ออกจากพื้นที่ด้วย แต่ปัจจุบันอิสราเอลกลับส่งกองกำลังไปฆ่าคนปาเลสไตน์อยู่

ปัจจุบันประเทศมุสลิมจึงมีมติสนับสนุนฮามาส และเรียกร้องให้กลับไปใช้มติสหประชาชาติข้างต้นในการตั้งประเทศปาเลสไตน์ กระทั่งวันนี้ครบกำหนดที่ฮิซบอลเลาะห์ขีดเส้นตายต่ออิสราเอลแล้ว จึงคาดว่าสงครามจะไม่ยุติแค่กาซา ฮามาส และอิสราเอล แม้อิสราเอลประกาศจะกำจัดฮามาสให้หมดสิ้นไปจากกาซา แต่น่าจะกำจัดได้ไม่หมด เพราะฮามาสไม่ได้อยู่แค่ในกาซา ฮามาสมีอุดมการณ์และเคลื่อนไหวอยู่ในระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นขบวนการกู้ชาติที่ไม่ใช่การก่อการร้าย

“การที่อิสราเอลยิ่งสร้างความแค้น ผมเชื่อว่าจะทำให้สงครามบานปลาย แต่ก็เชื่อว่าประเทศมุสลิมจะไม่เปิดหน้ารบ เพราะหากรบกับอิสราเอลแล้ว ก็คือรบกับสหรัฐฯ แพ้อยู่ดี และคิดว่ารัสเซียและจีนก็ไม่เข้ามาร่วม เพราะมีผลประโยชน์กับอิสราเอลด้วย เหตุนี้จึงน่าจะเหลือเป็นกองกำลังติดอาวุธที่สนับสนุนโดยต่างชาติ อย่างอิหร่าน จึงเป็นลักษณะสงครามจรยุทธ์ขยายวง ทั้งสองฝ่ายจึงต้องใช้สติ การเข้าข้างพิจารณาอย่างตื้นเขินโดยไม่ดูประวัติศาสตร์ คือ การมองแคบ จึงต้องศึกษาด้วย เพราะสงครามสื่อเป็นเครื่องมือที่สำคัญที่สุด” ศาสตราจารย์ พลโท ดร.สมชาย กล่าว

ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อภิปรายถึงปัจจัยภูมิรัฐศาสตร์โลกและภูมิภาคตะวันออกกลางที่มีผลต่อพัฒนาการความขัดแย้งว่า วันนี้เราเห็นสงครามชุดใหญ่ในเวทีโลก ทั้งเป็นวันที่ 618 สำหรับสงครามยูเครน และเป็น 18 วันของสงครามกับฮามาส สำหรับวันที่ 7 ตุลาคม 2566 น่าจะเป็นเส้นแบ่งเวลาใหญ่ในตะวันออกกลาง ที่ทำให้เกิดความผันผวนในภูมิภาค และพาโลกทั้งโลกให้หันมาดูสถานการณ์และปัญหามนุษยธรรมในกาซาอย่างจริงจัง พร้อมตั้งโจทย์ว่าจะกลับเข้าสู่กระบวนการสันติภาพกันหรือไม่ เพราะทั้งหมดนี้สะท้อนความล้มเหลวของ Oslo Accord และ Two-State Solution จึงต้องจับตาว่ามีการฟื้น Abraham Accord ในกลางปีหน้าได้หรือไม่

ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.สุรชาติ ยังวิเคราะห์ว่า จากประสบการณ์ คิดว่าต้องเตรียมพร้อมรับกับการก่อการร้ายชุดใหม่ อย่างที่หลายฝ่ายกังวลว่า บรรดาผู้รอดชีวิตส่วนหนึ่งจะเข้าร่วมกับฮามาสโดยสมัครใจ และทำให้เงื่อนไขและเหตุการณ์ก่อการร้ายขยายตัวในอนาคต ขณะเดียวกัน ตะวันออกกลางยังเป็นพื้นที่แข่งขันระหว่างรัฐมหาอำนาจใหญ่ ไม่ต่างจากยุคสงครามเย็น แต่ครั้งนี้เป็นสงครามเย็นใหม่ สำหรับกรณีอิหร่าน แม้ไม่ได้เปิดเข้าสู่ปฏิบัติการขนาดใหญ่ มีแค่เพียงเรียกร้องให้หยุดส่งความช่วยเหลือไปยังอิสราเอล แต่ความกังวลหลายฝ่ายว่า อักษะแห่งการต่อต้านจะขยายเป็นหลายสงครามหรือหลายนรกหรือไม่ พบว่า กลุ่มฮูติเปิดการโจมตีอิสราเอลทางอากาศและโดรนจากเยเมนรวมเพียง 3 ครั้ง จึงทำให้ที่ผ่านมาสงครามยังคงอยู่ในวงจำกัดระหว่างอิสราเอลและฮามาส

“ไม่ได้โลกสวย แต่คิดว่าสงครามอิสราเอล-ฮามาสจะยังไม่ยกระดับ” ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.สุรชาติ กล่าว

ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.สุรชาติ ยกถึงผลกระทบต่อชีวิตประจำวันว่า วิกฤตพลังงานจะเกิดขึ้นหรือไม่ ? อาจไม่ถึงขั้นกับแขวนป้ายน้ำมันหมดหน้าปั๊มในกรุงเทพฯ แต่ราคาจะสูงขึ้นไปกว่านี้หรือไม่ ? อย่างที่ราคาแก๊สได้สูงขึ้นมาแล้ว ขณะเดียวกันวิกฤตเศรษฐกิจที่มาจากโควิด-19 สงครามยูเครน และสงครามฮามาส จะกระทบกับค่าครองชีพหรือไม่ ซึ่งสะท้อนความต้องการของแรงงานไทยในอิสราเอล ขณะเดียวกัน สำหรับประเด็นตัวประกันนั้น หลายครอบครัวมองการเจรจาที่โดฮาเป็นความคาดหวังด้วย เพราะการที่รัฐบาลอิสราเอลกำหนดยุทธศาสตร์ปัจจุบันนั้นย้อนแย้ง เกิดคำถามว่าอิสราเอลจะรบก่อน หรือปล่อยตัวประกันก่อนกัน น่ากังวลว่าจะเป็นการติดกับดักสงคราม ด้วยบริบทระหว่างประเทศเช่นนี้ ประเทศไทยจึงต้องขบคิดโจทย์ใหญ่นี้อย่างระมัดระวัง

“รัฐบาลเศรษฐาอาจจะต้องคิดจริงจัง และเป็นโอกาสทองของรัฐมนตรีพิพัฒน์ ในการตั้งโต๊ะเพื่อกำหนดนโยบายส่งออกแรงงานไทย (Labor Export) เช่น ถ้าเราตัดสินใจส่งพี่น้องไทยไป ต้องคิดในเชิงนโยบายทั้งระยะสั้น กลาง ยาวให้ชัดเจน สำหรับมิติแรงงาน ครอบครัว และนัยกับประเทศรองรับแรงงาน ขณะเดียวกันยังพ่วงกับอีกโจทย์ที่แรงงานไทยมีจำนวนลดลง และจะเอาอย่างไรกับแรงงานในประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งต้องคิดคู่ขนานกัน เป็นโจทย์ทั้งหมดที่ต้องคิดคู่ขนานให้ได้ รวมถึงนโยบายต่างประเทศที่เห็นรัฐมนตรีปานปรีย์เดินสายทำการทูตในหลายประเทศตะวันออกกลาง ซึ่งแม้มีบวกมีลบ แต่ดีกว่า 9 ปีที่ผ่านมาที่รัฐมนตรีต่างประเทศไม่ไปไหนเลย และไม่มีประเทศไทยอยู่ในจอเรดาร์” ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.สุรชาติ เสนอทิ้งท้ายต่อรัฐบาล

Related Posts

Send this to a friend

Thailand Web Stat