TRAVEL

ส่องคุกนักโทษคดีการเมืองยุคเผด็จการ! ที่ ‘พิพิธภัณฑ์สิทธิมนุษยชนแห่งชาติ’ ของ ‘ไต้หวัน’

หากพูดถึง ‘ไต้หวัน’ เราอาจนึกถึงรสเผ็ดชาของหม่าล่าหม้อไฟ หรือรสหวานนุ่มของชานมไข่มุก รสชาติอันโอชะเหล่านี้ ทำให้ไต้หวันกลายเป็นหนึ่งจุดหมายปลายทางยอดนิยมในภูมิภาคเอเชียตะวันออก ไม่แพ้ญี่ปุ่นหรือเกาหลีใต้เลยทีเดียว

แต่ดินแดนแห่งสิทธิเสรีภาพที่เราเห็นทุกวันนี้ ในความทรงจำของชาวไต้หวันบางส่วน ยังทิ้งรสชาติอันขมขื่นจากความรุนแรงในอดีต โดยเฉพาะช่วงที่รัฐบาลพรรคก๊กมินตั๋งประกาศใช้กฎอัยการศึกเป็นเวลาต่อเนื่องถึง 38 ปี จนเป็นที่กล่าวขวัญกันว่า เกาะไต้หวันในขณะนั้นถูกปกคลุมด้วย ‘ความน่าพรึงสีขาว’ (White Terror) ที่เต็มไปด้วยการปราบปราม กักขัง และสังหารผู้เห็นต่างทางการเมือง

หนึ่งในทัณฑสถานหลักที่ยังคงหลงเหลืออยู่ ปัจจุบันถูกปรับปรุงให้เป็นนิทรรศการให้เข้าชม มีชื่อว่า ‘คุกจิ๋งเหม่ย’ หรือ พิพิธภัณฑ์สิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ถือเป็นทั้งประจักษ์พยาน และบทเรียนราคาแพง ต่อการธำรงหลักสิทธิมนุษยชนในดินแดนแห่งนี้

ทันทีที่เข้ามาในศูนย์บริการข้อมูล นักท่องเที่ยวจะได้รับแผ่นพับข้อมูล และอุปกรณ์เล่นเสียงบรรยาย ซึ่งมีภาษาไทยอยู่ตลอดทุกจุด ทำให้เราทราบทั้งเนื้อหาของนิทรรศการหลัก ไปพร้อมกับคำสัมภาษณ์ประสบการณ์ของเหยื่อและครอบครัวที่เกี่ยวข้อง

เมื่อเดินเข้าประตูหลักของตึกเหรินอ้าย ซึ่งเป็นตึกหลักของคุกจิ๋งเหม่ย มาตามเส้นทางแรกรับนักโทษ จะพบกับห้องที่มีโต๊ะผู้คุมพร้อมโซ่ล่าม ที่นี่คือห้องทำประวัตินักโทษแรกเข้า และยังเป็นห้องสุดท้ายสำหรับนักโทษก่อนส่งตัวประหาร ในบรรดาห้องแถวเดียวกัน ยังมีห้องปรึกษาทนายความ ห้องรักษาพยาบาล รวมถึงห้องเยี่ยมญาติที่มีกระจกและลูกกรงกั้น มีเพียงโทรศัพท์วางไว้ที่เชื่อมถึงกันได้ สำหรับผู้ต้องขังนั้น การสนทนากับบุคคลที่ไว้ใจในห้วงเวลาอันน่าสะพรึงกลัว คงบรรเทาความทุกข์ระทมลงไปได้ไม่น้อย

ชั้นบนของตึกถูกซอยย่อยเป็นห้องขังขนาดเล็ก ลำพังช่องน้อยที่อยู่สูงติดเพดาน ก็ไม่ทำให้อากาศถ่ายเทได้มากนัก ยังไม่นับประตูที่ถูกทาเป็นสีฟ้าแกมเขียว ตัดสลับผนังสีขาวโพลน ชวนให้ทุกย่างก้าวรู้สึกเย็นและอึดอัดไปพร้อมกัน

หากลัดเลาะเข้าแต่ละห้องของนิทรรศการ จะพบการจำลองชีวิตความเป็นอยู่ของผู้ต้องขัง ทั้งต้องคอยอาหารที่รสชาติเหมือนมูลสุกร จากช่องผนังระดับพื้นดิน ไปจนถึงชักโครก ที่ใช้ประโยชน์มากกว่าขับถ่าย แต่ยังอุดมันเพื่ออาบน้ำ ล้างหน้า ซักผ้า และล้างจานในที่เดียวกันด้วย

นอกจากคุกขังเด็ดขาดในชั้นบนแล้ว อีกด้านหนึ่งของตึก เป็นพื้นที่สำหรับแรงงานผู้ต้องขัง (Penal Labor) ที่ต้องทำงานเกินเวลาอย่างหนัก ทั้งการซักล้างอบรีดเสื้อผ้าปริมาณมหาศาล ในสภาพแวดล้อมที่อบอ้าวและอัดแน่น แต่พวกเขาเหล่านี้จะมีอิสระเล็กน้อย โดยสามารถออกกำลังกายบนลานกลางแจ้ง และรับประทานอาหารในโรงเลี้ยงที่มีโทรทัศน์และหนังสือพิมพ์แบบควบคุมเนื้อหาโดยรัฐบาล

ส่วนสุดท้ายที่ใหญ่โตโอโถ่งที่สุดของอนุสรณ์สถานแห่งนี้ คือ อนุสาวรีย์จารึกชื่อของเหยื่อจากคุกจิ๋งเหม่ย มีทั้งผู้ต้องโทษจำคุกตลอดชีวิต ผู้เสียชีวิตภายในเรือนจำ ผู้ที่ถูกยัดข้อหาคุมขัง ทั้งหมดรวมกว่า 7,977 ราย โดยในจำนวนดังกล่าว มีผู้ต้องโทษประหารด้วยการยิงเป้ามากถึง 1,117 ราย

การสถาปนาพิพิธภัณฑ์บนพื้นที่อันโหดร้ายของไต้หวันในอดีต สะท้อนให้เราเห็นตัวอย่างของความพยายามในการทวงคืนความยุติธรรมให้กับเหยื่อ ทั้งผู้สูญเสียและครอบครัวของพวกเขาจำนวนมาก ไปพร้อมกับการยอมรับและชำระประวัติศาสตร์ชาติ บนพื้นฐานของหลักสิทธิมนุษยชนสากล

หากสนใจเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์สิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรืออนุสรณ์สถานความน่าสะพรึงสีขาว (白色恐怖景美紀念園區) ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนใต้ของกรุงไทเป สามารถเดินทางด้วยรถไฟฟ้าสายสีเขียว มายังสถานี Dapinglin แล้วเดินเท้าอีก 15 นาที โดยพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ เปิดให้บริการโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ทุกวันอังคารถึงวันเสาร์ เวลา 09:00 – 17:00 น.

เรื่อง/ภาพ : ณัฐนนท์ เจริญชัย

Related Posts

Send this to a friend

Thailand Web Stat