POLITICS

6 ตุลาคม 2562 ครบรอบ 43 ปี เหตุการณ์ประวัติศาสตร์อีกหนึ่งเหตุการณ์ของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย 6 ตุลา 19

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จัดงานรำลึก 43 ปี 6 ตุลา 19 ขึ้นที่ลานประติมากรรม 6 ตุลา ภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตนักศึกษาที่เข้าร่วมการชุมนุมและอดีต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข สมัยรัฐบาลพรรคไทยรักไทย ผู้ร่วมผลักดันนโยบาบ 30 บาทรักษาทุกโรค ขึ้นกล่าวปาฐกถาในหัวข้อ “หยุดซึมเศร้าแล้วก้าวต่อไป”

นพ.สุรพงษ์ รำลึกความทรงจำถึงเหตุการณ์เมื่อ 43 ปีก่อน ขณะเป็นนักศึกษาแพทย์ ม.มหิดล วัย 19 ปี เข้าร่วมชุมนุมอยู่กลางสนามหญ้ามหาวิทยลัยธรรมศาสตร์ แต่ต้องกลับออกมาในคืนวันที่ 5 ตุลาคม เพราะมีภารกิจที่ต้องทำที่มหาวิทยาลัยมหิดล โดยไม่สังหรณ์ใจว่าจะเกิดเหตุนองเลือดครั้งใหญ่ ในอีก 10 ชั่วโมงข้างหน้า

“ชีวิตคนหนุ่มสาวหลายคนเปลี่ยนไปอย่างมากมายเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ชีวิตผมก็เช่นกัน”

สายวันที่ 6 ตุลาคม 19 นพ.สุรพงษ์บอกว่า ตัวเองยืนอยู่นอกกำแพงรั้วมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หลังจากตกใจตื่นจากเตียงนอนในหอพักแพทย์รามาธิบดีตอนเช้าตรู่ จากเสียงของรุ่นพี่ที่ตะโกนบอกถึงเหตุนองเลือดที่ธรรมศาสตร์ และรีบนั่งรถเมล์มาทันที

“นิ่งงัน งุนงง ไม่รู้จะทำอย่างไรต่อไป พยายามบังคับน้ำตาไม่ให้ไหลออกมา เพราะกลัวจะเป็นเป้าสายตา ไม่มีเสียงปืน ไม่มีการวิ่งหลบวิถีกระสุน มีแต่กลิ่นไหม้ของยางรถยนต์ เมื่อเดินเข้าไปใกล้ ก็ต้องเบือนหน้าหนี มีร่างของใครสองสามคนอยู่ที่กองยางรถยนต์นั้น มองไปไกลอีกเล็กน้อย เห็นร่างคนถูกแขวนไว้ที่ต้นมะขาม และคนกลุ่มหนึ่งยังมุงดูกันอยู่ไม่ห่าง”

นพ.สุรพงษ์บอกว่า ห้วงเวลา 15 นาทีกลางสนามหลวงในวันนั้น เป็นห้วงเวลาที่ไม่เคยลืมจนถึงวันนี้ เด็กหนุ่มอายุ 19 ปีกับภาพที่จำฝังลึกลงไปสุดใจ ทำให้ตนเองเปลี่ยนวิธีมองโลกไปตลอดกาล และบอกกับตัวเองว่าความฝันแสนงาม โลกใบที่สดใส และผู้คนที่รักสันติภาพ “ไม่มีหรอก”

ต้นเดือนพฤศจิกายน มหาวิทยาลัยเปิดเรียน แต่บรรยากาศในมหาวิทยาลัยไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว หม่นหมอง เงียบเหงา ซึมเซา นักศึกษามาเรียนเสร็จก็รีบกลับบ้าน ไม่มีการจับกลุ่มพูดคุยกันอีก ภาพจำกลางสนามหลวงในวันนั้นยังผุดขึ้นมาในความทรงจำเป็นครั้งคราว

หลังจากนั้น เริ่มมีรุ่นพี่มาติดต่อว่า อยู่ในเมืองไม่ปลอดภัย ชวนหลบเข้าไปในป่า

นพ.สุรพงษ์เล่าว่า ด้วยความคิดของตัวเองที่เกิดขึ้นมาตลอดว่าจะเรียนต่อไปทำไม ทำให้ตัดสินใจได้ไม่ยาก ใช้เวลาเตรียมกาย เตรียมใจ และเตรียมความคิด อยู่นับเดือนเพื่อให้พร้อมเสมอเมื่อได้รับนัดหมาย

เมื่อกำหนดนัดหมายมาถึง คืนก่อนเดินทาง ใจรู้สึกพะวงว่าเรากำลังตัดสินใจทิ้งครอบครัวไปโดยที่ไม่รู้ว่าจะได้กลับเมื่อไหร่หรือจะได้กลับไหม อาม่าที่เลี้ยงตนเองมาตั้งแต่แบเบาะจะทำใจได้ไหม จะตรอมใจจนป่วยหรือไม่ ขณะที่อีกใจหนึ่งก็พยายามบอกกับตัวเองว่า เราต้องเดินหน้าต่อไป

เช้าวันรุ่งขึ้น ตัดสินใจบอกเพื่อนว่าจะไม่ร่วมเดินทางไปกับเขาแล้ว ซึ่งเพื่อนก็เข้าใจ ยอมรับการตัดสินใจของเรา แต่ขออย่างเดียว ขอว่าอย่าลืมเพื่อนของเราที่เสียชีวิตไปในวันที่ 6 ตุลา

หลังจากวันนั้น นพ.สุรพงษ์บอกกับตัวเองว่า ชีวิตและความฝันหลังจากนี้ ไม่ใช่ความฝันเดิมที่สวยใสและราบเรียบอีกต่อไปแล้ว จะไม่ใช้เวลาแค่เรียนหนังสือเพียงอย่างเดียว แต่จะใช้เวลาที่เหลือจากอยู่ทำตามความฝันอย่างมุ่งมั่น มีสติ ด้วยปัญญาที่รู้เท่าทัน จะหยุดซึมเศร้าแล้วก้าวต่อไป

นพ.สุรพงษ์เริ่มต้นด้วยการนัดพบพูดคุยกับเพื่อนมิตรที่ยังอยู่นอกมหาวิทยาลัย เริ่มเผยแพร่ความจริงของ 6 ตุลาและข้อเขียนของอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ทำหนังสือทำมือ ทำหนังสือพิมพ์กำแพง และผลัดกันไปให้กำลังใจผู้ต้องหาคดี 6 ตุลา

เมื่อสถานการณ์เริ่มผ่อนคลายหลังรัฐประหารวันที่ 20 ตุลาคม 2520 รัฐบาลเปิดให้มีบรรยากาศประชาธิปไตยในมหาวิทยาลัยมากขึ้น ก็เริ่มฟื้นบทบาทของสโมสรนักศึกษาและเริ่มติดต่อนัดหมายกับเพื่อนนักศึกษาระหว่างมหาวิทยาลัย รวมกันเป็นสโมสรนักศึกษา 18 สถาบันในเวลาต่อมา ท่ามกลางกระแสข่าวที่สับสนเกี่ยวกับความขัดแย้งของเพื่อนมิตรที่อยู่ในป่าเขาและพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ซึ่งส่งต่อผ่านกันมา

แต่นพ.สุรพงษ์บอกว่า ตนเองไม่สนใจในเรื่องนี้เพราะความฝันในขณะนั้นคือ ทำอย่างไรให้เพื่อนร่วมสังคมอยู่ดีกินดี มีโอกาสในชีวิตเท่าเทียมกัน มีเสรีภาพในการแสดงความเห็น และเลือกผู้บริหารประเทศด้วยตัวของเราเอง

ชีวิตหลังจบการศึกษา มีขึ้นมีลงหลายครั้งผ่านประสบการณ์หลากหลาย เริ่มจากการออกไปเป็นแพทย์ชนบท กลับมาเป็นอาจารย์แพทย์ เป็นรัฐมนตรี เป็นผู้ต้องขังในเรือนจำ

“แต่ผมไม่เคยลืมภาพจำของยามสายวันที่ 6 ตุลาคม 2519”

นพ.สุรพงษ์สรุปบทเรียนให้ตัวเองหลังจากการก้าวเดินจากวันที่เปลี่ยนชีวิตมา 43 ปี ไว้ส่วนหนึ่งว่า

1.ไม่มีใครอยากตาย แต่มีบางคนพร้อมเผชิญหน้ากับความตายเพื่อแลกกับอุดมการณ์ที่ตนใฝ่ฝัน

2.จงมีความสุขที่ได้ทำตามความฝัน อย่ามีความสุขเพราะอยากให้ผู้คนยกย่องจดจำชื่อและตัวตนของเรา

3.ฝันให้ยิ่งใหญ่ แต่เดินไปทีละก้าวอย่าโบยตีตัวเองจนหม่นหมองในความทุกข์ ใช้ชีวิตแต่ละวันอย่างมีความสุข ทำตามความฝันไปเรื่อยๆไม่หยุด เหนื่อยก็พัก หายเหนื่อยก็ลุกขึ้นมาใหม่ ใครคิดเก่ง ก็ช่วยคิด ใครพูดเก่งก็ช่วยพูด ใครทำเก่งก็ช่วยทำ ใครถนัดนำก็นำไป ใครถนัดตามก็ตามสนับสนุน ระหว่างเดินไปด้วยกัน บ่นกันบ้าง ก็ไม่เป็นไร หนทางยังอีกยาวไกล ต้องกุมมือกันไป กอดคอกันไป ไม่ชิงดีชิงเด่น ไม่ยึดติดในหัวโขน ไม่หลงใหลในอำนาจ ใช้ปัญญาในการออกแบบจำลองของความฝัน ทดลองทำ ใช้ไม่ได้ก็ปรับปรุงหรือเปลี่ยนใหม่

4.สรรพสิ่งล้วนเป็นอนิจจัง ต้องเปลี่ยนแปลง เกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นเรื่องหนีไม่พ้น ณ จุดตัดของกาลเวลาหนึ่ง ที่ปัจจัยทุกอย่างพร้อม การเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้น ตัวอย่างเล็กๆแต่ยิ่งใหญ่ คือ ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

วันที่ 6 มกราคม 2544 สิ่งที่สะสมมาได้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงระบบบริการสาธารณสุขที่ทะเยอทะยานที่สุดครั้งหนึ่งของมนุษยชาติ เมื่อพรรคไทยรักไทยได้รับฉันทามติจากเสียงของประชาชนซึ่งมาลงคะแนนเลือกตั้งในระบบใหม่ตามรัฐธรรมนูญ 2540 ถึง 248 ที่นั่ง เป็นการเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ของการเมืองไทย ถือเป็นฉันทานุมัติเต็มเปี่ยมในการขับเคลื่อนระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

และหลังจากวันนั้นการสาธารณสุขไทยและการเมืองไทยก็เปลี่ยนไป ไม่กลับไปเหมือนเดิมได้อีก

นพ.สุรพงษ์สรุปทิ้งท้ายการปาฐกถาด้วยสุภาษิตทิเบตว่า “พรุ่งนี้หรือชาติหน้า ไม่มีใครรู้ว่าอะไรจะมาก่อน”

วันนี้เรายังลืมตาตื่น แต่พรุ่งนี้เราอาจหลับไปตลอดกาล
วันนี้จึงควรอยู่อย่างมีสติ อยู่อย่างราวกับว่า วันนี้เป็นวันสุดท้ายของชีวิต ไม่มีอะไรติดค้างใคร ไม่มีอะไรติดค้างในใจ เพื่อวินาทีที่เราจะจากไป เราบอกกับตัวเองได้ว่า ฉันได้ใช้ชีวิตอย่างที่ฉันฝันแล้ว

Related Posts

Send this to a friend