‘วีระ‘ ชี้สัญญาณอันตราย หวั่นสร้างวิกฤตเศรษฐกิจรอบใหม่ ร้ายแรงกว่า 2 รอบที่ผ่านมา

วันนี้ (31 ก.ค. 67) ที่อาคารรัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่ 9 สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 1 พิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณร่ายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 วงเงิน 1.22 แสนล้านบาท เพื่อใช้กระตุ้นเศรษฐกิจ ผ่านโครงการดิจิทัล วอลเล็ต 10,000 บาท ในวาระ 2 และ 3 ซึ่งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว โดยมีนายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่หนึ่ง เป็นประธานการประชุม
นายวีระ ธีระภัทรานนท์ ในฐานะกรรมาธิการ อภิปรายว่า ขอเสนอให้ปรับลดงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ 2567 โดยมีข้อสังเกตเบื้องต้นเป็นประเด็นสำคัญว่า แท้จริงแล้วเราต้องมองภาพรวมของโครงการดิจิทัลวอลเล็ตทั้งหมด ซึ่งใช้เงินรวมกัน 4.5 แสนล้านบาท แม้จะลดวงเงินจากเดิม 5 แสนล้าน ว่ามีความเชื่อมโยงกับแหล่งที่มาของเงินที่จะใช้ในโครงการนี้ นอกเหนือจากงบฯ เพิ่มเติม ที่กำลังพิจารณาในวาระที่ 2-3 นี้ จะเรียกว่าเป็นการจัดทำงบประมาณแบบรวมห่อ หรือ Package ซึ่งเป็น การใช้เทคนิคในการจัดทำงบประมาณที่ไม่ตรงไปตรงมา ขอตั้งเป็นข้อสังเกตให้เห็นถึงความผิดปกติในการจัดทำงบประมาณของโครงการนี้
สำหรับที่มาของเงินในการทำโครงกานดิจิทัลวอลเล็ต มาจากอยู่ 3 แหล่ง
1.งบประมาณรายจ่ายปี 67 เป็นงบปกติ และงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมที่กำลังพิจารณา วงเงินรวมกัน 1.65 แสนล้านบาท
2.งบประมาณปกติจากปี 68 วงเงิน 1.572 แสนล้านบาท
3.จากงบประมาณปกติปี 68 โดยไม่บอกที่มาอย่างชัดเจน วงเงิน 1.32 แสนล้านบาท ตอนนี้มีความเป็นไปได้ว่าอาจจะให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์เพื่อการเกษตร (ธกส.) ทดลองจ่ายไปก่อนตามมาตรา 28 ของพระราชบัญญัติว่าด้วยการเงินการคลังของรัฐ หรืออาจจะออกเป็นงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมปี 68 หรืออาจจะจัดสรรวงเงินงบประมาณปกติปี 68 ที่ กำลังพิจารณาในชั้น กมธ. ก็ไม่ทราบได้
นายวีระ กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงการคลัง ยังไม่ส่งรายละเอียดเข้ามาชี้แจง ในคณะกรรมาธิการ ของงบประมานรายจ่ายปี 68 ทั้งที่รับปากว่า จะส่งมาให้ภายใน 2 สัปดาห์ ซึ่งตอนนี้ผ่านมา 5 สัปดาห์แล้ว ทั้งนี้ งบประมาณของโครงการนี้ทั้งหมดรวม 4.5 แสนล้านบาท คิดเป็น 2.5% ของ GPD ที่ตกประมาณ 18 ล้านล้านบาท ซึ่งในแง่จำนวนถือว่าไม่มาก แต่มาดำเนินการในช่วงที่รัฐบาลก่อนหน้าใช้เงินไปแล้วถึง 10% ของ GDP ในช่วงวิกฤตสาธารณสุข อันที่จริงช่วงเวลานี้ รัฐบาลควรถอนคันเร่งในการอัดเงินเข้าไปช่วยเศรษฐกิจ ต้องปรับลดไม่ใช่กู้เงินเพิ่มผ่านการขาดดุลอย่างต่อเนื่อง จนทำให้ยอดคงค้างหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น ในอัตราเร่งที่น่าเป็นห่วง แผนประมาณการด้านการคลัง 3 ปีข้างหน้าจะเห็นได้ว่า ตัวเลขอัตราส่วนหนี้สาธารณะเมื่อเทียบกับ GPD เพิ่มขึ้นอยู่ที่ร้อยละ 68-69 และแม้จะไม่เกินเพดานร้อยละ 70 แต่ไม่มีแนวโน้มที่ตัวเลขนี้จะลดลงในอนาคตอันใกล้ การดำเนินนโยบายการคลังผ่านการทำงบประมาณขาดดุลเรื้อรังและพอกพูนหนี้สาธารณะไปเรื่อยๆ แบบนี้อันตราย และการใช้เงินดังกล่าว เป็นการกระตุ้น ผ่านการจับจ่ายใช้สอยอุปโภคและบริโภค ซึ่งมีลักษณะเฉพาะกิจ และดำเนินการทางด้าน Demand Side แทนที่จะดำเนินการด้าน Supply Side ที่จะสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจไทยมากกว่า แม้จะมีข้อถกเถียงว่าการดำเนินงานด้าน Demand Side จะนำมาซึ่ง Supply side ก็ตามที
ถึงแม้ว่าการผลักดันโครงการดิจิทัลวอลเล็ต จะสลับซับซ้อนเพื่อลดข้อขัดแย้งทางกฎหมาย แม้จะต้องชื่นชมรัฐบาลที่พยายามใช้งบประมาณปกติ โดยไม่ใช้การเงินกึ่งการคลัง และไม่ออก พ.ร.ก.กู้ยืมเงิน แต่ไมได้หมายความว่า การผ่านความเห็นชอบงบประมาณนี้จะไม่มีความเสี่ยงด้านการเงินการคลังในอนาคต การดำเนินโครงการนี้ นอกจากประเด็นข้อกฎหมายที่มีความสุ่มเสี่ยงที่จะขัดกับ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง และ พ.ร.บ.อื่นๆ รวมถึงรายละเอียดในข้อปฏิบัติที่อาจมีช่องโหว่ทำให้ไม่ได้ผลตามที่ตั้งใจไว้
“โดยสรุปประเด็นข้อกฎหมายในการดำเนินนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตยังเป็นปัญหา อาจต้องส่งให้มีการตีความโดยองค์กรอิสระ ตามรัฐธรรมนูญในอนาคต แต่ประเด็นด้านการเมือง และเศรษฐกิจก็ควรให้ความสนใจไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน” นายวีระ กล่าว
ถ้าเราดูวิกฤติเศรษฐกิจที่ผ่านมา โดยเฉพาะปี 2527-2529 ที่มีการลดค่าเงินบาท และปี 2540-2542 ที่มีการลอยตัวค่าเงินบาท สิ่งที่ควรตระหนักคือ สิ่งที่เคยเกิดขึ้นมีความแตกต่างไปจากสิ่งที่เกำลังกิดขึ้นขณะนี้ ที่อาจจะพัฒนากลายเป็นวิกฤตในอนาคตได้ เพราะรากเหง้าที่สำคัญของวิกฤตการเงินก่อนหน้าคือ หนี้ต่างประเทศภาครัฐ และหนี้ต่างประเทศภาคเอกชน จนทำให้มีการปรับระบบอัตราแลกเปลี่ยนด้วยการลด และลอยตัวค่าเงินบาท แต่รากเหง้าของปัญหาครั้งนี้ เป็นเรื่องของหนี้สาธารณะและหนี้ครัวเรือน ซึ่งเป็นเรื่องของเงินบาท ไม่เกี่ยวข้องกับเงินตราต่างประเทศ เชื่อมโยงกับการบริหารการเงินการคลังของรัฐโดยตรง เราไม่มีประสบการณ์จัดการปัญหาแบบนี้มาก่อน จึงขอเสนอให้ทางการที่เกี่ยวข้อง ศึกษาบทเรียนจากสิ่งที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ ช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรีซ และกลายเป็นวิกฤตค่าเงินยูโร ซึ่งแม้จะแตกต่างกันแต่ก็มีความเหมือน
นายวีระ กล่าวต่อว่า ขณะนี้จะเห็นตัวชี้วัดอันหนึ่ง ที่เป็นอันตรายซ่อนเร้นอยู่คือ อัตราส่วนระหว่างรายจ่ายดอกเบี้ย เทียบกับรายได้ที่รัฐบาลจัดเก็บในแต่ละปี งบประมาณปี 67 มีรายจ่ายเพื่อชำระหนี้ภาครัฐ คิดเป็นร้อยละ 8 ของประมาณการรายได้ที่จัดเก็บแต่ละปี ในขณะที่งบประมาณปี 68 มีรายจ่ายเพื่อชำระหนี้ภาครัฐ คิดเป็นร้อยละ 9 ของรายได้ โดยสรุปคือ เราจ่ายดอกเบี้ยในแต่ละปีในงบประมาณ รายจ่ายประจำปีเกือบเท่าร้อยละ 10 ของรายได้ที่หามาได้ ซึ่งเป็นอันตรายถ้าหากแนวโน้มยังมีอัตราส่วนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
ถ้าหากมองตัวชี้วัดที่สำคัญอีกตัวนึง คืออัตราส่วนระหว่างงบจ่ายลงทุน กับยอดขาดดุลงบประมาณ แม้ว่างบลงทุนยังมียอดสูงกว่างบขาดดุลในแต่ละปี เป็นสัญญาณเตือนภัยที่ต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษ เพราะเป็นการบิดเบือนเพื่อให้ตัวเลขงบจ่ายลงทุนสูงกว่าที่ควรจะเป็น และคำนวณงบจ่ายลงทุนที่นำโครงการร่วมทุนภาครัฐและเอกชน หรือ PPP บางรายการมารวมไว้ในงบจ่ายลงทุนอีกต่างหาก สิ่งที่เกิดขึ้นในงบปกติ และงบเพิ่มเติมปี 67 เป็นการทำงบประมาณขาดดุลสูงที่สุด จนติดเพดานการทำงบประมาณขาดดุล อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน การทำงบปกติและเพิ่มเติม 67 ทำให้ มียอดขาดดุลรวมกัน 8.05 แสนล้านบาท ในขณะที่เพดานที่ขาดดุลได้โดยไม่ผิดกฎหมายอยู่ที่ 8.15 แสนล้านบาท เหลือเพดานที่จะขาดดุลได้เพียง 1 หมื่นล้านบาท เท่ากับว่าการใช้จ่ายงบประมาณแทบไม่เหลือช่องว่างให้ทำอะไรได้อีกแล้ว
ยังไม่รวมภาระทางการคลังในงบประมาณที่ต้องตั้งสมทบให้กับกองทุนต่างๆ ที่ยังไม่ครบถ้วน และภาระการคลังนอกงบประมาณที่มียอดคงค้างอีก 1 ล้านล้านบาท และมีภาระการคลังนอกงบประมาณที่ยังไม่มีการจัดการอีก 3 ก้อนใหญ่ คือภาระหนี้ของกองทุนน้ำมัน ภาระหนี้ของ กฟผ. ภาระหนี้ของกองทุนประกันวินาศภัย
“นี่เป็นส่วนหนึ่งของระเบิดเวลาที่จะทำให้ภาคการคลังของรัฐมีความอ่อนไหว จนสามารถพัฒนาเป็นวิกฤตการเงินการคลังในอนาคตหากบริหารจัดการไม่ถูกต้อง” นายวีระ ย้ำ
ด้านประเด็นการเมืองที่เกี่ยวข้องกับดิจิทัลวอลเล็ต นายวีระมีข้อสังเกตดังนี้
1.โครงการนี้เป็นนโยบายเรือธงของพรรคเพื่อไทย และพรรคร่วมรัฐบาล ทำให้สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นการบริหารจัดการ ที่ดำเนินไปในลักษณะที่นำเป้าหมายมาสร้างความชอบธรรม
2.จะมากหรือน้อยก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นนโยบายในการหาเสียงของการเลือกตั้ง ที่สร้างภาระทางการคลังในอนาคต และอาจเป็นตัวอย่างนโยบายการคลังที่สุ่มเสี่ยงต่อรัฐบาลในอนาคต
ด้วยเหตุนี้เพื่อให้การดำเนินโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ลดความเสี่ยงที่จะเกิดวิกฤติการคลังในอนาคต จึงขอเสนอให้ลดวงเงินในงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปี 2567 จากเดิม 1.22 แสนล้านบาท เหลือเพียง 5 หมื่นล้านบาท และลดการขาดดุลจากเดิม 1.12 แสนล้านบาท เหลือเพียง 4 หมื่นล้านบาท เชื่อว่าการลดวงเงิน และลดการขาดดุลดังล่าวมีความเหมาะสม และสอดคล้องกับภาระทางการคลังที่ตึงตัวอยู่ในขณะนี้ แม้การปรับลดวงเงินดังกล่าว จะไม่มากพอจะทำให้ภาระทางการคลังลดลงอยู่ในระดับที่เหมาะสมก็ตามที ถ้าหากพิจารณาเชื่อมโยงว่าการขาดดุลงบประมาณในงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 และ 2568 อยู่ในเกณฑ์ที่เกินกว่ามาตรฐานที่ยอมรับได้คือ ร้อยละ 3 เมื่อเทียบกับ GDP ซึ่งปัจจุบันประมาณร้อยละ 4 เป็นหมุดหมายที่สำคัญที่จำเป็นหากต้องการหลีกเลี่ยงวิกฤตการเงินการคลังในอนาคต
นายวีระ กล่าวสรุปว่า ในขณะนี้มีแนวคิดสำคัญต่อสิ่งที่รัฐบาลกำลังดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะนโยบายการคลังที่เชื่อมโยงกับงบงบประมาณรายจ่าย หนี้สาธารณะ และรายได้ภาครัฐในปัจจุบันและอนาคต หนึ่งในนั้นคือโครงการดิจิทัลวอลเล็ต มีแนวคิด 2 แบบด้วยกัน
1.ถ้าหากรัฐบาลดำเนินนโยบายเศรษฐกิจอย่างที่กำลังทำในขณะนี้ และที่จะทำต่อไปในอนาคตแบบไม่รอบคอบมากพอ มีความสุ่มเสี่ยงที่จะทำให้เกิดวิกฤติการเงินการคลังในอนาคตได้
2.ถ้าหากรัฐบาลไม่ดำเนินการนโยบายแบบที่กำลังทำอยู่ในขณะนี้ และในอนาคตอันใกล้นี้ จะทำให้เกิดวิกฤติการเงินการคลังในอนาคต หรือมิฉะนั้นก็สามารถที่จะหลีกเลี่ยงวิกฤตการเงินการคลังที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้
“เรื่องการเงินการคลัง และวิกฤติการเงินการคลังเป็นเรื่องใหญ่ และที่สำคัญเราไม่เคยมีประสบการณ์ในการแก้ไขเรื่องนี้มาก่อน ถ้าหากเกิดวิกฤติดังกล่าวในอนาคตจะสร้างความลำบากให้กับพวกเรามากเสียยิ่งกว่าวิกฤติการเงินที่เคยเกิดขึ้น 2 ครั้งในอดีตที่ผ่านมา ผมจึงหวังว่าท่านสมาชิกจะได้พิจารณาเรื่องความเห็นชอบด้วยความรอบคอบใช้สติปัญญาเต็มพิกัด โดยคำนึงถึงส่วนรวมเป็นสำคัญ” นายวีระกล่าว