POLITICS

‘ศิริกัญญา‘ ยก 4 เหตุผล ตัดงบดิจิทัลวอลเล็ตเหลือหมื่นล้าน

‘ศิริกัญญา‘ แปรญัตติยก 4 เหตุผล ตัดงบดิจิทัลวอลเล็ตเหลือหมื่นล้าน ซัดรัฐบาลกู้สุดเพดานไม่คำนึงความเสี่ยง-ความคุ้มค่า หวั่นเป็นปัญหาผูกพันอนาคต

วันนี้ (31 ก.ค. 67) นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล แปรญัตติในมาตราที่ 3 ปรับลดงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ให้เหลือเพียงหมื่นล้านบาท ด้วย 4 เหตุผล

เหตุผลแรก เราไม่ควรจะกู้เงินเพิ่มอีกแล้ว ด้วยฐานะทางการคลังของประเทศยังอยู่ในกรอบวินัยการเงินการคลังแต่ปริ่มเพดานหนี้สาธารณะ แม้จะเล่นแร่แปรธาตุแก้นิยาม แต่ดอกเบี้ยไม่หลอกใคร ในปีงบประมาณ 67 และ 68 มีการตั้งงบสำหรับชำระดอกเบี้ยไว้ไม่พอ ปีงบประมาณ 69 เฉพาะดอกเบี้ยอย่างเดียวจะขึ้นสูงถึง 3.7 แสนล้านบาท ขณะที่ปีงบประมาณ 71 จะเพิ่มสูงไปจนเกือบ 5 แสนล้านบาท หมายความว่าเราเก็บภาษีหารายได้ได้เท่าไรก็นำไปจ่ายภาษีทั้งหมด ซึ่งจะเป็นปัญหาผูกพันไปถึงอนาคต

การกู้ครั้งนี้เป็นการกู้จนสุดเพดานไม่เผื่อเหลือเผื่อขาดกรณีการจัดเก็บรายได้ที่อาจไม่เข้าเป้า คณะกรรมาธิการได้สอบถามถึงการประมาณการรายได้ของปีงบประมาณ 67 ไว้หรือไม่ว่าจัดเก็บพลาดเป้าไปเท่าไร ซึ่งตัวแทนกระทรวงการคลัง ไม่ได้เปิดเผยตัวเลขประมาณการรายได้ใหม่ แต่ล่าสุดกรมสรรพสามิต แถลงว่า 9 เดือนที่ผ่านมาจัดเก็บพลาดเป้าไปเกือบ 6 หมื่นล้านบาท ดังนั้นการกู้เพิ่มจนสุดเพดานเป็นการสร้างความเสี่ยงโดยไม่จำเป็น

เหตุผลที่ 2 ถึงจะกู้ได้ก็ต้องใช้ภายในปีงบประมาณ
นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะคณะกรรมาธิการเสียงข้างมากระบุว่าการลงทะเบียนเป็นหนี้ตามมาตรา 4 ของ วิธีการงบประมาณระบุไว้ว่าหนี้เกิดได้ 4 อย่างประกอบด้วยกู้ ค้ำ ซื้อ และจ้างโดยใช้เครดิต หรือจากวิธีการอื่น ไม่มีข้อใดระบุว่าการลงทะเบียนจะเข้าข่ายเป็นหนี้ตามมาตรา 4 การเป็นหนี้ได้ต้องมีระเบียบมารองรับ จึงกังวลว่าการกระทำเช่นเป็นนี้จะเป็นการสร้างบรรทัดฐานที่ผิดในอนาคต

ส่วนเหตุผลที่ 3 ถึงจะกู้ได้ใช้ภายในปีงบประมาณ แต่สัดส่วนรายจ่ายลงทุนต้องทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย ก่อนหน้านี้มีการชี้แจงในห้องงบประมาณว่าทำไมถึงคิดว่ารายจ่ายดิจิทัลวอลเล็ต เป็นรายจ่ายลงทุนถึง 80% และเมื่อเข้ามาชี้แจงในห้องฝ่ายค้านก็มีการเปลี่ยนแปลงอีก โดยวิเคราะห์ส่วนที่ก่อให้เกิดดอกผลกับส่วนที่ไม่ก่อให้เกิดดอกผล และระบุว่าส่วนที่ก่อให้เกิดดอกผลคือการลงทุน

ส่วนที่ไม่ก่อให้เกิดดอกผลมีประมาณ 19.9% ของค่าใช้จ่ายรายเดือน ได้แก่ ค่ารักษาพยาบาล ค่าใช้จ่ายท่องเที่ยว ค่าทำบุญบริจาค และงานสังคม ส่วนที่ 2 ก่อให้เกิดดอกผลสูงถึง 80.1% ประกอบด้วยค่าเช่าสถานที่ ค่าเครื่องใช้ ค่าการซ่อมแซม ค่ายานพาหนะซึ่งถือเป็นรายจ่ายลงทุน จากการรวบรวมค่าใช้จ่ายครัวเรือนของประชาชน ซึ่งอยู่ในเอกสารที่หน่วยงานมาชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการพบว่า ค่าใช้จ่ายครัวเรือนสูงถึง 23,000 บาทต่อเดือน คิดเป็นค่าอาหาร 37% ค่าเสื้อผ้ารองเท้า 8% ค่าน้ำมันและค่าเดินทาง 7% ค่าน้ำค่าไฟ 4% ค่าซื้อรถยนต์รถมอเตอร์ไซต์ 6% และค่าเช่าบ้าน 13% การนำเอาค่าใช้จ่ายครัวเรือนมานับเป็นรายจ่ายลงทุน ถือเป็นเรื่องที่เกินเลยไปมาก

เหตุผลที่ 4 ถึงจะกู้ได้ใช้ภายในปีงบประมาณ มีสัดส่วนรายจ่ายลงทุนถูกต้องทุกประการแต่ยังไม่คุ้มค่า เพราะแหล่งที่มาของเงินเปลี่ยนไปแล้วจากเดิมที่จะเติมเงิน 3.5 แสนล้านบาทจากการกู้ 3 แหล่ง เป็นการกู้เพียง 2 แสนกว่าล้าน สภาพัฒน์ฯ เปิดเผยตัวเลข GDP ที่จะน้อยลงกว่าเดิม หากแหล่งที่มาลดลง GDP จะเติบโตเพียง 0.9% แต่รัฐบาลใช้ตัวเลขที่สูงกว่า สะท้อนแล้วว่าโครงการนี้ไม่ได้มีการประเมินความคุ้มค่าไว้ล่วงหน้า

นางสาวศิริกัญญา ทิ้งท้ายว่าโครงการนี้มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาสรุปแล้วไม่รู้จะใช้ตัวเลขใด เอกสารงบประมาณไม่ได้มีการระบุตัวเลขไว้อย่างชัดเจน จึงไม่เห็นด้วยกับคณะกรรมาธิการเสียงข้างมาก

Related Posts

Send this to a friend

Thailand Web Stat