‘วุฒิพงษ์’ เตือน เร่งเจรจา สปป.ลาว ก่อน ‘เขื่อนภูงอย’ กระทบพื้นที่ภาคอีสาน
‘วุฒิพงษ์’ หวั่น น้ำท่วมอีสานซ้ำซาก วอนหน่วยงานรัฐร่วมกันบูรณาการแก้ เตือน เร่งเจรจา สปป.ลาว ก่อน ‘เขื่อนภูงอย’ กระทบพื้นที่ภาคอีสาน
วันนี้ (31 ก.ค. 67) นายวุฒิพงษ์ นามบุตร สส.อุบลราชธานี พรรคประชาธิปัตย์ แสดงความกังวลต่อสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคอีสานว่า ในภาคอีสานมีแม่น้ำสายหลัก ๆ คือ แม่น้ำโขง แม่น้ำชี แม่น้ำมูล และจากการซักถามในที่ประชุมงบประมาณได้รับคำชี้แจงจากหน่วยงานที่มาชี้แจงยืนยันว่าจะบริหารจัดการน้ำไม่ให้มีน้ำท่วมภาคอีสาน แต่ในทุกปีที่ผ่านน้ำก็ยังท่วมเหมือนเดิม ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตและการสัญจรของประชาชน
ทั้งนี้ จึงฝากถึงเจ้าหน้าที่รัฐบาลและส่วนราชการต่าง ๆ ให้บริหารจัดการแบบบูรณาการร่วมกัน ทั้งจังหวัด กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และเขื่อนต่าง ๆ รวมทั้งคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำในระดับจังหวัด ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ต้องบริหารบูรณาการร่วมกัน เพราะการบริหารน้ำที่มีประสิทธิภาพต้องมีน้ำเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภค และไม่ท่วม
นายวุฒิพงษ์ กล่าวถึงปัญหาเขื่อนปากมูลว่า เป็นปัญหาใหญ่ที่มีการถกกันมานาน เขื่อนปากมูลอยู่ภายใต้กำกับของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แม้เคยมีมติว่าเขื่อนปากมูลจะเปิดเมื่อน้ำไหลปริมาณ 500 ลูกบาศก์เมตร หรือระดับน้ำมากกว่า 100 เมตร ระดับทะเลปานกลาง ต่อมาการบริหารจัดการต้องผ่านคณะกรรมการบริหารจัดการเขื่อนปากมูล แต่เมื่อมีมติที่ประชุมของคณะกรรมการแล้ว เขื่อนปากมูลก็ไม่ได้ทำตามมติ โดยอ้างปัญหาระบบนิเวศ ปัญหากลุ่มผู้ร้องเรียน ปัญหาเรื่องการประมงท้ายเขื่อน ดังนั้น ขอเรียกร้องให้ทุกส่วนบริหารจัดการร่วมกันแบบบูรณาการเพื่อแก้ปัญหาให้ถูกจุด
นายวุฒิพงษ์ กล่าวด้วยว่า ได้ตั้งข้อสังเกตและทักท้วงในที่ประชุมงบประมาณ แต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเรื่องของระบบนิเวศ และการบริหารจัดการน้ำ กรณี สปป.ลาว จะมีการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขง ชื่อเขื่อนภูงอย เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า เมื่อสร้างเสร็จ น้ำจากแม่น้ำมูลจะไม่มีที่ไหลไป เพราะระดับน้ำมีความสูงต่ำขึ้นอยู่กับเขื่อนภูงอย ซึ่งห่างจากเขื่อนปากมูลประมาณ 60 กิโลเมตร
ทั้งนี้ เมื่อซักถามผู้มีส่วนเกี่ยวข้องว่ามีมาตรการรองรับ หรือมีการพูดคุยระหว่างประเทศหรือยัง เมื่อสร้างเขื่อนภูงอยเสร็จจะมีผลกระทบอย่างไร หรือมีเงื่อนไขตกลงกันอย่างไร ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่ามติของคณะกรรมการแม่น้ำโขงจะเป็นเช่นไร ในการที่จะบริหารจัดการน้ำตรงนี้ กังวลว่าหากปล่อยให้มีการสร้างโดยไม่มีการข้อตกลงร่วมกันจะส่งผลกระทบกับภาคอีสานของไทยเป็นบริเวณกว้างใหญ่ ทั้งพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี อำนาจเจริญ ศรีสะเกษ ยโสธร รวมทั้งแม่น้ำสายหลักในพื้นที่ภาคอีสาน