‘พิพัฒน์‘ ลงพื้นที่ตั้งศูนย์ ศปช.รง. ดูแลแรงงานที่ประสบภัยตึกถล่ม

‘พิพัฒน์‘ ลงพื้นที่ตั้งศูนย์ ศปช.รง. ดูแลแรงงานที่ประสบภัยตึกถล่ม ดูแลประสานตรวจสอบสิทธิ์ ยัน ผู้ประกันตน ม.33 หากเสียชีวิต พร้อมเยียวยาเต็มที่
วันนี้ (31 มี.ค. 68) เวลา 16:20 น. ที่เขตก่อสร้างสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แห่งใหม่ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เข้าติดตามการค้นหาแรงงานที่ติดอยู่ใต้ซากอาคารที่ถล่มมา โดยนายพิพัฒน์ ได้เข้ารับฟังรายงานของศูนย์ประสานงานและช่วยเหลือแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหว (ศปช.รง.)
นายพิพัฒน์ เปิดเผยว่า ตั้งแต่เกิดเหตุได้มีเจ้าหน้าที่ของกระทรวงแรงงานลงพื้นที่มาทันที ส่วนตนนั้นเพิ่งกลับมาจากต่างจังหวัด ซึ่งมีความเป็นกังวลเกี่ยวกับเรื่องนี้ วันนี้ตนจึงเดินทางมาทันที โดยจากที่ได้รับรายงานเบื้องต้น ขณะนี้มีผู้เสียชีวิต 18 คน บาดเจ็บมากกว่า 30 คน ซึ่งอาการหนักประมาณ 11 คน โดยขั้นตอนของกระทรวงแรงงาน จะต้องทำการตรวจสอบว่าบุคคลเหล่านี้ เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 หรือไม่ เพื่อที่จะได้ดูแลตามสิทธิ
สำหรับผู้ประกันตนที่เสียชีวิต รวมเบ็ดเสร็จแล้วจะมีการจ่ายเงินเยียวยาประมาณเกือบ 2 ล้านบาท ซึ่งตอนนี้พบว่ามีประมาณ 10 คน ส่วนที่เหลือรอตรวจสอบ ส่วนผู้ประกันตนที่ได้รับบาดเจ็บจะมีการดูแลรักษาจนกว่าจะหายดี
ส่วนผู้ที่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม ก็จะมีการดูแลรักษาอาการบาดเจ็บในเบื้องต้น ก่อน และเข้าไปช่วยดูแลว่ามีประกันอะไรบ้าง ซึ่งผู้ที่เสียชีวิตก็ต้องให้ผู้รับเหมารับผิดชอบ แต่อะไรที่กระทรวงแรงงาน สามารถรับผิดชอบช่วยดูแลได้ ก็จะพยายามเข้าไปประสาน
ทั้งนี้ศูนย์ประสานงานที่มาตั้งในวันนี้ จะอยู่บริเวณหน้าศูนย์การค้าเจเจมอลล์ เปิดให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง มีเจ้าหน้าที่ผลักเปลี่ยนเวรกัน และได้มีการนำล่ามเมียนมา และกัมพูชามาด้วย สำหรับพี่น้องแรงงานชาวต่างชาติ สามารถมาแจ้งชื่อของญาติที่ยังสูญหายได้ เจ้าหน้าที่ก็จะช่วยประสานงานกับทางผู้รับเหมาให้ ไม่ว่าจะอยู่ในระบบประกันสังคมหรือไม่ ก็พร้อมอำนวยความสะดวกช่วยเหลือในเบื้องต้น
อีกทั้ง นอกจากที่จุดเกิดเหตุก็ยังสามารถไปติดต่อที่สำนักงานเขตทั้ง 12 เขต ในกรุงเทพมหานครได้ ส่วนในต่างจังหวัดก็ สามารถติดต่อได้ที่หน่วยงานสังกัดกระทรวงแรงงานประจำจังหวัดได้ทั้งหมด
นอกจากนี้ ยังมีเหตุที่เกิดขึ้นในประเทศเมียนมา ตอนนี้ได้ประสานผ่านทางเอกอัครราชทูตเมียนมาประจำประเทศไทยว่า มีอะไรให้ช่วยแบ่งเบาภาระด้วยหรือไม่
ในส่วนของผู้รับเหมาตอนนี้ยังอยู่ระหว่างการประสานข้อมูลโดยเฉพาะข้อมูลของผู้รับเหมาที่รับช่วงต่อตอนนี้ยังไม่แน่ใจว่ามีกี่รายต้องขอรายชื่อมาทั้งหมด เพราะการพิสูจน์อัตลักษณ์ตอนนี้อาจทำได้ยาก รายชื่อแรงงานทั้งหมดจึงสำคัญ
ส่วนเรื่องการจ้างงาน นายพิพัฒน์ ระบุว่า หากพบว่ามีการจ้างงานที่ผิดกฎหมาย เช่น การใช้แรงงานเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ก็ต้องมีการดำเนินคดี แต่สำหรับบุคคลที่อายุเกิน 60 ปีนั้น หากสมัครใจทำงานก็ไม่มีความผิด
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า จะมีการเข้าไปตรวจสอบบริษัทผู้รับเหมาจีนหรือไม่ นายพิพัฒน์ กล่าวว่า ก็ต้องมีการขออนุญาตเข้าไปตรวจสอบต่อไป