POLITICS

นายกฯ ถกเข้ม ปมส่ง SMS เตือนภัยแผ่นดินไหว

นายกฯ ถกเข้ม ปมส่ง SMS เตือนภัยแผ่นดินไหว มองเป็นเครื่องมือเชิงรุกสื่อสารประชาชน ด้านเครือข่ายมือถือแจงไทม์ไลน์-วิธีการส่ง บอกมีข้อจำกัดตัวอักษร ขึ้นอยู่กับความสามารถในการส่งของแต่ละค่าย

วันนี้ (31 มี.ค. 68) นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมติดตามและแก้ไขปัญหาการเตือนภัย SMS ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ณ ห้องสีเขียว ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล โดยมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ศาสตราจารย์คลินิก สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช. นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ กสทช. และผู้แทนจากเครือข่ายมือถือ เข้าร่วม

นางสาวแพทองธาร สอบถามในที่ประชุมสอบถามถึงการออกข้อความแจ้งเตือนภัย โดยอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานว่าได้ใช้ข้อมูล 3 ฐาน ประกอบด้วย กรมอุตุนิยมวิทยา สำนักงานสำรวจธรณีวิทยาของสหรัฐฯ (USGS) และศูนย์วิจัยธรณีศาสตร์ของเยอรมนี (GFZ) ของเยอรมนี จากนั้นจะวิเคราะห์ข้อมูล โดยวันดังกล่าวได้รับ SMS จากกรมอุตุนิยมวิทยาในเวลา 13.36 น. โดยใช้เวลาวิเคราะห์ราว 4 นาที ก่อนที่ ปภ.จะส่งข้อความครั้งแรกเวลา 14.40 น.

นางสาวแพทองธาร กล่าวว่าความจริงควรจะแจ้งเตือนภายในเวลา 5 นาที ตนเองเห็นใจและเข้าใจว่าข้อมูลต้องชัด แต่แผ่นดินไหวแล้ว ข้อความส่งได้เลย เช่น การส่ง 2-3 ประโยคให้ทุกคนออกจากตึก ด้านประธาน กสทช. ชี้แจงว่ามีรูปแบบการแจ้งเตือนภัยอยู่แล้ว ซึ่งเครือข่ายมือถือมีข้อจำกัดว่าจะส่งได้เพียงแค่ 70 ตัวอักษร

ตัวแทนจาก AIS กล่าวว่าในวันเกิดเหตุระบบ SMS ยังไม่ได้เตรียมการ หลังจากนั้นได้มีการปรับปรุงสามารถส่งข้อความได้ชั่วโมงละ 30 ล้านหมายเลข โดยวิธีการส่งจะไล่เรียงตามเบอร์ และไม่ได้กำหนดโลเคชั่น ขณะที่ตัวแทนจาก True ชี้แจงว่าการส่ง SMS ไม่ใช่การสื่อสารหลักในการแจ้งเตือนภัย เนื่องจากเป็นการส่งจากเบอร์หนึ่งไปอีกเบอร์หนึ่ง วิธีการส่งคือ จะต้องรู้เลขหมาย แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ปภ.ให้เราส่งไปยังผู้ใช้หมายเลขในกรุงเทพฯ และปริมณฑล วิธีการคือจะต้องให้ระบบรู้ว่า ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลมีหมายเลขอะไรบ้าง ซึ่งจะใช้เวลาเกือบชั่วโมง เพื่อให้รู้ว่าในกรุงเทพฯ มีกี่หมายเลขแล้วค่อยทยอยส่ง

เบื้องต้นจะต้องมีฐานข้อมูลหมายเลขในการส่ง และรู้ว่าใครอยู่ตรงไหนบ้าง แต่คำสั่งแรกให้ส่งไปไปยังพื้นที่กรุงเทพฯ สมุทรปราการ นนทบุรี และปทุมธานี จากนั้นจึงจะเอาเลขหมายที่อยู่ในพื้นที่ดังกล่าวส่ง ซึ่งเวลาส่งจะขึ้นอยู่กับความสามารถของแต่ละค่ายมือถือด้วย

นางสาวแพทองธาร กล่าวต่อว่าการส่ง SMS เป็นเครื่องมือเชิงรุกในการแจ้งเตือนว่ามีแผ่นดินไหว เช่นเหตุการณ์เมื่อเช้าที่จะต้องสื่อสารว่า “ไม่ใช่แผ่นดินไหว” ตนเองก็ได้ให้สัมภาษณ์ และโพสต์ในโซเชียลมิเดีย ต้องช่วยกันทั้งสองอย่างเพื่อช่วยยืนยัน

Related Posts

Send this to a friend

Thailand Web Stat