ศาลอาญา สั่งขังต่อ คดีส่งผู้ร้ายข้ามแดน ‘อี ควิน เบอดั๊บ‘ ผู้ลี้ภัยชาวเวียดนาม
ศาลอาญา สั่งขังต่อ คดีส่งผู้ร้ายข้ามแดน ‘อี ควิน เบอดั๊บ‘ ผู้ลี้ภัยชาวเวียดนาม ยกมาตรา 9 ให้รัฐบาลเป็นผู้ตัดสินใจ ด้านทนายความ เห็นแย้ง ชี้ สถานะเป็นผู้ลี้ภัย ขัดต่อกฎหมายอุ้มหายฯ มาตรา 13 จี้ รัฐบาล ไม่ส่งตัวกลับ เพื่อปกป้องสิทธิฯ ชี้ ถือเป็นความจริงใจแรก เพื่อพิสูจน์ตัวในการร่วมเป็น UNHRC
วันนี้ (30 ก.ย. 67) เวลา 13:00 น. ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลนัดฟังคำพิพากษา คดีส่งผู้ร้ายข้ามแดนของนายอี ควิน ควิน เบอดั๊บ (MR.Y Quynh Bdap) ผู้ลี้ภัยชาวเวียดนาม และนักเคลื่อนไหวเพื่อเสรีภาพในการนับถือศาสนาในกลุ่มชาติพันธุ์ ที่พนักงานอัยการ สำนักงานต่างประเทศ สำนักงานอัยการสูงสุด เป็นผู้ร้อง
ภายหลังเสร็จสิ้นการฟังคำพิพากษา น.ส.ณัฐาศิริ เบิร์กแมน ทนายความของจำเลย เปิดเผยว่า ศาลพิจารณาตาม พ.ร.บ.ส่งผู้ร้ายข้ามแดน โดยพิจารณาตามมาตรา 19 ซึ่งศาลได้สั่งให้ขังไว้เพื่อที่จะส่งเป็นผู้ร้ายข้ามแดนต่อไป
ส่วนข้อต่อสู้ของเรา ที่ว่าไม่ควรที่จะขังไว้เพื่อส่งเป็นผู้ร้ายข้ามแดน เนื่องจากจำเลยเป็นผู้ลี้ภัยที่เป็นข้อยกเว้น ตามมาตรา 9 ของ พ.ร.บ.ส่งผู้ร้ายข้ามแดน เพราะมี พ.ร.บ.อุ้มหายฯ ในตามมาตรา 13 ที่บัญญัติห้ามไว้ สำหรับกรณีที่เชื่อได้ว่า หากบุคคลนั้นถูกส่งข้ามแดน และจะต้องตกอยู่ในอันตรายต่อชีวิต รวมทั้งนายอี ควิน เบอดั๊บ เป็นผู้ลี้ภัยผ่านการรับรอง และได้สถานนะ UNHCR รวมทั้งหลังเหตุการณ์โจมตีที่เมืองดั๊กลัก ทาง UNHCR ก็ได้ติดต่อขอสัมภาษณ์เขาถึงความเกี่ยวข้อง หากเกี่ยวข้องจริง UNHCR ก็ต้องยกเลิกสถานะ แต่ผลออกมายืนยันแล้วว่าไม่ได้เกี่ยวข้อง
ดังนั้น จำเลยเป็นผู้ลี้ภัย มีสถานะพิเศษ ไม่สามารถกลับประเทศได้อยู่แล้ว รัฐบาลก็ไม่ควรส่งกลับไป ซึ่งข้อต่อสู้ของเรา ศาลก็ไม่หยิบยกขึ้นมา และศาลบอกว่า มาตรา 9 เป็นอำนาจของรัฐบาลในการพิจารณา ส่วนอำนาจของศาลพิจารณาตามมาตรา 19 ของ พ.ร.บ.ส่งผู้ร้ายข้ามแดน เพียงเท่านั้น ซึ่งฝั่งทนายความก็เห็นต่าง เพราะมาตรา 9 ก็ระบุถึงกฎหมาย พ.ร.บ.อุ้มหายฯ มาตรา 13 ที่ระบุถึงเจ้าหน้าที่รัฐทุกคน ไม่ใช่แค่รัฐบาล
สำหรับตัวจำเลยหลังจากนี้ ก็จะถูกคุมขังต่อ ซึ่งเจ้าตัวถูกคุมขังมาตั้งแต่วันที่ 11 มิ.ย. 67 และจะครบ 4 เดือนในวันที่ 11 ก.ย. 67 นี้ และมีข้อจำกัดในการเข้าเยี่ยมของภรรยา และครอบครัว ซึ่งเยี่ยมได้เฉพาะทนายความ รวมทั้งในระหว่างการอุทธรณ์ก็จะยังต้องถูกคุมขังต่อไปอีกจนกว่ากระบวนการศาลจะถึงที่สิ้นสุด และเข้าสู่ขั้นตอนส่งผู้ร้ายข้ามแดน
น.ส.ณัฐาศิริ กล่าวต่อว่า เรื่องนี้ นายกรัฐมนตรีสามารถมีคำสั่งได้ ในเรื่องการปกป้องสิทธิมนุษยชน เพื่อป้องกันอันตรายถึงชีวิต โดยนายกฯ สามารถใช้อำนาจยกขึ้นมาสั่งเลยก็ได้ แต่ไม่รู้ว่าเขาจะมองเห็นคดีนี้หรือไม่ โดยตนมองว่า หากรัฐบาลรณรงค์หาเสียงเพื่อให้ได้เป็นคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ที่พยายามจะอ้างว่าไม่มีประเทศไหนที่ไม่มีชื่อเสียงด่างพร้อย แต่หากรัฐบาลไทยต้องการที่จะเข้าไปเป็นตัวแทนการปกป้องสิทธิมนุษยชน
“นี่คือคดีที่ดีที่สุดที่จะทำให้เห็นถึงตัวอย่างว่าเราเคารพสิทธิมนุษยชนของทุกคนที่อยู่ในประเทศ แม้จะไม่ใช่คนไทย และเรายินดีที่จะทำตามกฎหมาย บทบาทข้อผูกพันระหว่างประเทศที่เราได้เซ็นชื่อไว้” น.ส.ณัฐาศิริ
น.ส.ณัฐาศิริ กล่าวทิ้งท้ายว่า รัฐบาลยืนยันว่าตัวเองจะไปปกป้องสิทธิมนุษยชน ก็ขอทำให้เห็นตัวอย่าง และแสดงความจริงใจที่จะเข้าไปทำหน้าที่คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชน จึงเป็นความจริงใจแรกที่จะแสดงให้เห็นว่าเราปกป้องทุกคนที่อยู่ในประเทศของเรา