POLITICS

สว.ถกกฎหมายประชามติ จับตาหวนใช้เสียงข้างมาก 2 ชั้นแก้ รธน.

เริ่มแล้ว สว.ถกกฎหมายประชามติ จับตาหวนใช้เสียงข้างมาก 2 ชั้นแก้ รธน. ด้าน ‘นันทนา‘ จี้ สภาสูงแสดงความกล้าหาญลงมติเอา ประชาชนเป็นที่ตั้ง หวั่นตกเป็นจำเลยสังคม

วันนี้ (30 ก.ย. 67) เวลา 11.38 น. ที่ประชุมวุฒิสภา ครั้งที่ 15 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) พิจารณาร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว โดยมีนายมงคล สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภา เป็นประธานการประชุม

นางสาวนันทนา นันทวโรภาส สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ในฐานะกรรมาธิการเสียงข้างน้อย ลุกขึ้นอภิปรายในมาตรา 7 แก้ไขมาตรา 13 โดยระบุว่าความจริงตนเองควรขึ้นไปนั่งบนบัลลังก์แถลงผลการประชุมพิจารณา พ.ร.บ.ประชามติที่สนับสนุนร่างของสภาผู้แทนราษฎรอย่างราบรื่น ถึงตอนนี้ก็ยังงงว่าทำไมตนเองและกรรมาธิการฝ่ายรัฐบาล 5 คน จะต้องอภิปรายคัดค้านมติของคณะกรรมาธิการเสียงข้างมาก ทั้งที่การประชุมครั้งแรกทุกคนดูเหมือนจะยอมรับและสนับสนุนแนวทางของเสียงข้างมากชั้นเดียวตามที่สภาผู้แทนราษฎรได้เสนอมา

ตลอดการประชุม 4 ครั้งเรามีอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายมหาชน เช่น ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ศ.วุฒิสาร ตันไชย นายกฤช เอื้อวงศ์ นายนิกร จำนง ที่อภิปรายข้อดีของแนวทางเสียงข้างมากชั้นเดียวอย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรม ซึ่งกรรมาธิการขอให้ลงมติสนับสนุนไปในทิศทางเดียวกัน ปฏิเสธการแปรญัตติของนายพิสิษฐ์ อภิวัฒนาพงศ์ สว.ที่เสนอให้มีการแก้ไขข้อความในมาตรา 13 ให้กลับไปใช้เสียงข้างมากสองชั้นในการทำประชามติรัฐธรรมนูญ

ในการประชุมครั้งที่ 5 เมื่อวันที่ 25 ก.ย.ที่ผ่านมา ประธานคณะกรรมาธิการเสนอให้ที่ประชุมทบทวนมติที่กรรมาธิการได้ลงมติไปการประชุมครั้งที่ 4 น่ามหัศจรรย์ที่กรรมการอภิปรายสนับสนุนโดยพร้อมเพรียง ก่อนลงมติเห็นชอบในมาตรา 13 ให้การทำประชามติต้องใช้เสียงข้างมากสองชั้น กล่าวคือให้มีผู้มาใช้สิทธิมากกว่ากึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

นางสาวนันทนา กล่าวต่อว่าในวันอังคารที่ 24 ก.ย.67 มีหัวหน้าพรรคการเมืองหนึ่งระบุว่า ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จึงตั้งคำถามว่าเป็นเหตุให้มีการกลับมติในวันพุธที่ 25 ก.ย.หรือไม่ การกลับมติโดยพร้อมเพรียงกันด้วยเสียง 17:1 มันไม่งาม ชาวบ้านจะนินทาว่าการลงมติครั้งนี้เป็นไปตามใบสั่ง

ตนเองในฐานะกรรมาธิการเสียงข้างน้อย ขอปกป้องสิทธิในการอภิปราย หลักการสำคัญที่ผู้ทรงคุณวุฒิได้หยิบยกมาสนับสนุนการทำประชามติด้วยเสียงข้างมากชั้นเดียว มี 7 ข้อ ดังนี้

1.การเลือกตั้งทุกประเภทในไทยใช้เสียงข้างมากชั้นเดียว เหตุใดการทำประชามติจึงต้องแหวกขนบและหลักการให้แตกต่าง เหตุใดถึงไม่ใช้มาตรฐานเดียวกับการเลือกตั้งทั่วไป

2.การทำประชามติรัฐธรรมนูญทั้ง 2 ฉบับ ปี 2550 และปี 2559 ก็ใช้เสียงข้างมากชั้นเดียวไม่ต้องเปลี่ยนกติกาอะไร

3.การทำประชามติของประเทศต่าง ๆ เกือบร้อยประเทศทั่วโลกใช้เสียงข้างมากชั้นเดียว

4.การทำประชามติควรเป็นเรื่องง่าย ประชาชนเข้าถึงได้ไม่ซับซ้อนเหมือนการเลือกตั้งทุกประเภท ทำให้เราสามารถหาข้อยุติความขัดแย้ง รู้ว่าเสียงข้างมากของประชาชนต้องการอะไรโดยที่ไม่ต้องลงถนน

5.การทำประชามติแบบเสียงข้างมากสองชั้น จะทำให้เสียงของคนที่ไม่ออกมาใช้สิทธิมีอำนาจเหนือคนที่ออกมา หากคนที่ไม่อยากให้ประชามติผ่านก็แค่ไม่ออกจากบ้าน ส่วนคนที่ออกมาใช้สิทธิต้องสู้กับคนที่มาใช้สิทธิแล้วออกเสียงไม่สนับสนุนหรือโหวตโน แล้วการทำประชามตินั้นก็จะไม่สำเร็จ

6.การทำประชามติไม่ควรใช้กฎของการประชุมเจ้าของร่วมอาคารชุด เพราะกฎนี้กำลังจะถูกเสนอให้ยกเลิก เนื่องจากไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง เจ้าของห้องชุดไม่สามารถเข้าร่วมประชุมได้ถึงกึ่งหนึ่ง ทำให้คอนโดมิเนียมหลายแห่งตัดสินใจทำอะไรไม่ได้ เพียงเพราะเจ้าของร่วมเข้าร่วมประชุมไม่ถึงกึ่ง หนึ่งกลายเป็นความพิกลพิการ ที่กำลังได้รับการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง

7.การปรับปรุงประชามติเป็นไปตามข้อเสนอของสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้ทันกรอบเวลาในการทำประชามติพ่วงกับการเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) หากวุฒิสภาเห็นชอบตามร่างของสภาผู้แทนราษฎร จะถือเป็นการถ่วงเวลาให้ยืดเยื้อ ในที่สุดไม่สามารถที่จะพ่วงกับการเลือก อบจ.ได้ เสียงบประมาณมากขึ้นอีกหลายพันล้าน สว.ตกเป็นจำเลยสังคมในการถ่วงเวลา และใช้งบประมาณอย่างสิ้นเปลือง

นางสาวนันทนา เรียกร้องให้ สว.แสดงความกล้าหาญในการตัดสินใจด้วยวิจารณญาณของตนเอง โดยไม่เกรงอำนาจอิทธิพลใด ๆ แต่ตัดสินใจโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง ท่านอย่าทำตัวเป็น สว.ความจำสั้น เพราะเมื่อวันที่ 27 ส.ค.67 ท่านลงมติรับร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ในวาระแรกอย่างท่วมท้นด้วย 179 เสียง หวังว่ายังจะจำได้

“รัฐธรรมนูญที่มีปัญหาย่อมนำมาซึ่งการเมืองที่ไร้เสถียรภาพ การเมืองที่ไร้เสถียรภาพย่อมนำมาซึ่งเศรษฐกิจที่ล้มเหลว การแก้รัฐธรรมนูญจึงเป็นคำตอบของการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ เราจึงต้องช่วยกันปลดล็อก พ.ร.บ.ประชามติ เพื่อเป็นหินก้อนแรกที่จะสร้างถนนแห่งประชาธิปไตย” นางสาวนันทนา ทิ้งท้าย

Related Posts

Send this to a friend