‘นันทนา‘ ตั้งกระทู้ถามสด รมว.พาณิชย์ จี้แก้ปัญหาอีคอมเมิร์ซข้ามชาติ ทำ SMEs ไทยใกล้ตาย
วันนี้ (30 ก.ย.67) นางสาวนันทนา นันทวโรภาส สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ตั้งกระทู้ถามสดถึงนายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ถึงกรณีที่ SMEs ไทยใกล้ ICU กำลังรอความหวัง เนื่องจากปัญหาการครอบงำของอีคอมเมิร์ซข้ามชาติ
นางสาวนันทนา ยกตัวอย่างแพลตฟอร์มเทมู (TEMU) ขายสินค้าทุกชนิดในราคาที่ต่ำมาก โดยใช้วิธีตัดพ่อค้าคนกลางออก ทำให้กลายเป็นแพลตฟอร์มที่ประสบความสำเร็จในทวีปอเมริกาและยุโรปอย่างรวดเร็ว แพลตฟอร์มดังกล่าวใช้ทุกวิธีเพื่อลดต้นทุนให้ต่ำที่สุด ผู้ที่ซื้อสินค้าราคาถูกเหล่านี้ก็อาจจะได้สินค้าที่ไม่มีคุณภาพ ใกล้หมดอายุ มีสารปนเปื้อนที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ หรือใช้ไม่ได้จริง กลายเป็นสินค้าไม่ตรงปก สินค้าใช้ไม่ได้กลายเป็นขยะจนเป็นปัญหาในสหรัฐอเมริกาและยุโรป อีกทั้ง หลายประเทศมีแนวโน้มปริมาณขยะสูงขึ้นจากการสั่งสินค้าในแพลตฟอร์ม TEMU
ปัญหาสำคัญที่สุดคือ พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ และผู้ประกอบการไทยได้รับผลกระทบเต็ม ๆ เนื่องจากผู้บริโภคสั่งซื้อโดยตรงจากโรงงานผู้ผลิตผ่านแพลตฟอร์มจีน โดยไม่ผ่านคนกลาง ปราศจากต้นทุนทางด้านภาษี และเงินหมุนเวียนในตลาดก็จะหายไปด้วย
ในแง่ของการขาดดุลทางการค้าประเทศไทยขาดดุลกับจีนติดต่อกันสูงขึ้นเรื่อย ๆ โดย 6 เดือนแรกของปี 2567 มีการนำเข้าสินค้าจากจีนเพิ่มขึ้น 7.12% เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีที่ผ่านมา คิดเป็นมูลค่ากว่า 1.33 ล้านล้านบาท ส่งผลให้ไทยขาดดุลการค้ากับจีนเพิ่มขึ้น 15.6%
แม้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ขอความร่วมมือผ่านทูตให้แพลตฟอร์ม TEMU จดทะเบียนและตั้งบริษัทในไทย จึงขอเอาใจช่วยว่าจะทำได้จริงหรือไม่ หากทำได้จะเป็นชาติแรกในโลกที่หลายชาติจะแห่มาขอคำปรึกษา โดยในเดือน ก.พ.ที่ผ่านมาแพลตฟอร์ม TEMU จดทะเบียนในเกาหลีใต้ จากการตรวจสอบของสื่อมวลชน สถานที่ตั้งไม่พบผู้บริหาร พนักงานต้อนรับ หรือป้ายแสดงสัญลักษณ์ของบริษัท จึงเป็นสิ่งที่ท้าทายสำหรับไทย
ขณะที่กิจกรรม Live Commerce ได้ดึงอินฟลูเอนเซอร์มาช่วยขายสินค้าไทย คาดว่า 5 วัน ยอดเงินจะทะลุ 1 พันล้าน บาท แต่เทียบกับที่ไทยขาดดุลจีนถึง 1.4 ล้านล้านบาทไม่ได้ ต่อให้ Live ไปปีครึ่งก็ได้แค่เพียง 10% ของยอดขาดดุล วิธีนี้จึงเป็นการแก้ปัญหาที่ฉาบฉวย
ส่วนการขนส่งสินค้า ห่วงโซ่ได้รับผลกระทบจาก FTA เปิดให้รถขนส่งเข้ามาในประเทศอย่างเสรี รถกว่า 80% ที่เข้ามารับของจากท่าล้วนไม่ใช่ของผู้ประกอบการไทย จึงขอแนะนำรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ อย่ามัวกังวลสัมพันธภาพระหว่างประเทศจนทำให้ SMEs เจ๊ง ควรหันไปดูประเทศเพื่อนบ้านว่าเขาทำอย่างไรกับปัญหา ยกตัวอย่าง ประเทศเวียดนามในการรักษาดุลอำนาจ และดุลการค้าระหว่างจีนกับประเทศตะวันตกได้ สามารถดึงเงินลงทุนและฐานการผลิตจากประเทศญี่ปุ่นได้ หรือประเทศอินโดนีเซีย ที่ขึ้นราคาสินค้านำเข้าจากจีนได้ 200%
กระทรวงพาณิชย์ควรถอดบทเรียน เพื่อปรับเปลี่ยนให้ไทยมีท่าทีทางธุรกิจทางการค้าเชิงรุก คานอำนาจระหว่างมหาอำนาจ ไม่ใช่ยอมหรือขอความร่วมมือ เพราะกลัวว่าจะกระทบกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจนทำให้ SMEs ไทยพังยับเยิน
นางสาวนันทนา ตั้งคำถามว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะรัฐมนตรีป้ายแดง จะยืนดู SMEs พังแล้ว พังอยู่ พังต่อไปเช่นนี้หรือ ขอให้ SMEs ไทยได้เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ 5 ข้อ ดังนี้
1.กระทรวงพาณิชย์มีมาตรการในการแก้ไขปัญหาการครอบงำจากอีคอมเมิร์ซข้ามชาติอย่างไร
2.กระทรวงพาณิชย์มีมาตรการในการสนับสนุนหรือเยียวยา SMEs ในไทยที่ได้รับผลกระทบอย่างไร
3.กระทรวงพาณิชย์มีมาตรการในการจัดการปัญหาสินค้าด้อยคุณภาพอันเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคที่เข้ามาตามแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซข้ามชาติอย่างไร
4.กระทรวงพาณิชย์มียุทธศาสตร์ในการแก้ไขการขาดดุลการค้าไทยจีนอย่างไร
5.ประเทศไทยจะร่วมมือกับอาเซียนในการจัดการปัญหานี้อย่างไร