รมว.เกษตรฯ สั่งกรมปศุสัตว์ เร่งกวาดล้างแก๊งนำเข้าเนื้อหมูผิดกฎหมาย
สมาคมผู้เลี้ยงสุกร 5 ภาค เรียกร้องรัฐบาล จริงจังแก้ปัญหาลอบนำเข้าเนื้อหมู ด้าน รมว.เกษตรฯ สั่งกรมปศุสัตว์ เร่งกวาดล้างแก๊งนำเข้าเนื้อหมูผิดกฎหมาย
วันนี้ (30 ส.ค. 65) นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สั่งการกรมปศุสัตว์ ให้เข้มงวดกวาดล้างขบวนการนำเข้าเนื้อหมูผิดกฎหมาย ไม่ได้มาตรฐาน พร้อมบูรณาการกับหน่วยงานเกี่ยวข้อง หากพบผู้กระทำความผิด ให้ดำเนินการตามกฎหมายโดยทันที ไม่มีละเว้น นอกจากนี้ หลังสถานการณ์การลักลอบนำสินค้าเนื้อและชิ้นส่วนสุกรเข้าประเทศ สร้างความกังวลและความเสี่ยงต่อการนำเชื้อไวรัส หรือพาหะต่างๆ ที่ก่อให้เกิดโรคระบาดร้ายแรง โดยเฉพาะโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร และยังเสี่ยงต่อโรคระบาดอื่น รวมถึงปัญหาสารเร่งเนื้อแดง ที่อาจสร้างผลกระทบต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรและผู้บริโภคได้
ที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมปศุสัตว์ ได้ดำเนินงานอย่างเข้มงวด มีการจัดทีมตรวจค้นห้องเย็น หรือสถานที่พักซากสัตว์ทั่วประเทศ พร้อมกับขอความร่วมมือ ปฏิบัติงานป้องกันการการลักลอบนำเข้า ไปยังกระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกรมศุลกากร โดยจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการพิเศษปราบปรามผู้กระทำความผิดตามกฎหมาย มีกรมปศุสัตว์รับผิดชอบ เข้มงวดตรวจสอบการนำเข้า ส่งออก และนำผ่านราชอาณาจักร โดยเฉพาะพื้นที่ชายแดนติดต่อกับเมียนมา สปป.ลาว กัมพูชา และมาเลเซีย
สำหรับปี 2565 ผลการปฏิบัติงานช่วงเดือน ม.ค. – ก.ค. 65 ได้ตรวจสอบการลักลอบนำเข้าจำนวน 2,425 ครั้ง แจ้งความดำเนินคดี 13 คดี (ร่วมกับศุลกากร 3 คดี) ยึดและดำเนินการทำลายซากสุกร 325,027 กิโลกรัม มูลค่าของกลางกว่า 65 ล้านบาท
ด้าน นายสุรชัย สุทธิธรรม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ระบุว่า สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ และสมาคมผู้เลี้ยงสุกร 5 ภาค เรียกร้องให้รัฐบาลจริงจังในการแก้ปัญหาการลักลอบนำเข้าเนื้อหมูเถื่อน ที่เข้ามาแย่งตลาดผู้เลี้ยงหมูไทย ซึ่งขณะนี้ พบการลักลอบจำนวนมาก จนกระทบต่อปริมาณผลผลิตหมูขุนในไตรมาส 4 ของปีนี้ โดยหากยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้ จะเกิดความเสียหายต่อการผลิตหมูในประเทศทั้งระบบ
นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ยังระบุว่า การลักลอบนำเข้าเนื้อหมูและชิ้นส่วนหมูเข้ามาในประเทศไทย เกิดขึ้ยต่อเนื่อง มีการวางขาย ทำการตลาดอย่างเปิดเผย แต่การตรวจจับยังคงน้อยมาก เท่าที่ตรวจสอบ คาดว่ามีการลักลอบนำเข้าเนื้อหมูผ่านตู้คอนเทนเนอร์ราว 1,000 ตู้ จึงอยากให้ภาครัฐเข้มงวดการตรวจจับตู้คอนเทนเนอร์ ที่มีการสำแดงเท็จ
นอกจากนี้ ยังอยากให้ภาครัฐตั้งข้อสังเกตจากการตั้งราคาขายเนื้อหมูที่ต่ำกว่าปกติ เพราะต้นทุนการผลิตหมูของผู้เลี้ยง สูงขึ้นราว 1,000 บาทต่อตัว ทำให้ต้องขายหน้าฟาร์มอยู่ที่ 90-100 บาทต่อกิโลกรัม ราคาหมูหน้าเขียงจึงต้องอยู่ที่ 190-200 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่หมูลักลอบ วางขายในราคา 130-135 บาทต่อกิโลกรัม หากปล่อยไว้เช่นนี้ ผู้เลี้ยงสุกรที่กำลังฟื้นตัวกลับมาร้อยละ 10 จากที่ปิดตัวลงจากปัญหาโรค ASF ก่อนหน้านี้ จำนวน 2 แสนราย จะต้องเผชิญทั้งปริมาณส่วนเกินและใช้ไวรัสในระบบที่จะเกิดการระบาดโรค ASF เกิดขึ้นในสิ้นปีนี้แน่นอน