กมธ.ทหาร สภาฯ หวั่นสอบภายในไม่โปร่งใส ด้าน โฆษก กมธ. จ่อชงตั้งคณะอนุฯ สอบคู่ขนาน
วันนี้ (29 ธ.ค. 65) เวลา 13:00 น. คณะกรรมาธิการการทหาร สภาผู้แทนราษฎร เชิญ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม (รมว.กห.) และ พลเรือเอก เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) เข้าชี้แจงกรณีเรือหลวงสุโขทัยอับปาง นัดที่ 2 ณ อาคารรัฐสภา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รมว.กห. ส่งผู้แทนมาชี้แจง ได้แก่
1.พลเอก พุฒิประสิทธิ์ จิระมะกร เจ้ากรมเสมียนตรา
2.พันเอก ชวพล เกตุชู ผู้อำนวยการกองการปกครอง
ด้าน ผบ.ทร. ส่งผู้แทนมาชี้แจง ได้แก่
1.พลเรือเอก ชลธิศ นาวานุเคราะห์ เสนาธิการทหารเรือ (เสธ.ทร.)
2.พลเรือเอก ปกครอง มนธาตุผลิน โฆษกกองทัพเรือ
3.พลเรือโท นเรศ วงศ์ตระกูล เจ้ากรมยุทธการทหารเรือ
4.พลเรือตรี อภิรมย์ เงินบำรุง รองเจ้ากรมอู่ทหารเรือ
นายประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส. นครราชสีมา เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ในฐานะที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการฯ ทำหน้าที่ประธานการประชุม กล่าวเปิดการประชุมว่า การประชุมครั้งนี้ คณะกรรมาธิการฯ ได้เชิญ รมว.กห. และ ผบ.ทร. มาชี้แจงอีกครั้ง เนื่องจากขณะนี้สถานการณ์ยังไม่คลี่คลาย ภารกิจยังไม่สิ้นสุด เรื่องดังกล่าวยังอยู่ในความสนใจของประชาชน และยังไม่พบผู้สูญหายหลายคน คณะกรรมาธิการฯ จึงห่วงใยทั้งผู้เสียชีวิตและผู้ที่รอความช่วยเหลืออยู่ จึงขอให้กองทัพเรือและกระทรวงกลาโหมรายงานความคืบหน้า พร้อมแลกเปลี่ยนข้อคิดที่สำคัญระหว่างกัน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการทำงานร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหาต่อไป
แม้ประธานฯ ไม่อนุญาตให้สื่อมวลชนร่วมสังเกตการณ์การประชุม แต่ในเวลา 15:30 น. นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบบัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคไทยศรีวิไลย์ ในฐานะโฆษกกรรมาธิการการทหาร สภาผู้แทนราษฎร แถลงข่าวถึงผลการประชุมในวันนี้
นายมงคลกิตติ์ ชี้แจงว่า กองทัพเรือรายงานความคืบหน้าในการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง 2 คณะ ในประเด็นสาเหตุในการอับปาง และประเด็นความผิดในทางละเมิด ตามมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) จัดระเบียบกระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2551 โดยมีเสนาธิการทหารเรือเป็นประธานคณะกรรมการ
คณะกรรมาธิการฯ ยังได้รับข้อมูลเพิ่มเติมตามที่ได้ร้องขอไปครบทุกอย่างแล้ว ทั้งผลการประเมินสภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา และจำนวนกำลังพลบนเรือขณะเกิดเหตุ แต่คณะกรรมาธิการฯ ยังได้ร้องขอข้อมูลเพิ่มเติมอีก เช่น รายชื่อคณะกรรมการทั้ง 2 ชุดที่แต่งตั้งขึ้น จำนวนเสื้อและแพชูชีพที่ใช้การได้ในวันเกิดเหตุ บันทึกวิทยุการสื่อสารกันบนเรือในช่วง 7 ชั่วโมง ประวัติการซ่อมเรือตั้งแต่ พ.ศ. 2540-2565 ว่าบริษัทใดได้รับงานไปเป็นจำนวนเงินเท่าใด และจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีใด
“ส.ส. พิจารณ์ ยังสอบถาม เสธ.ทร. ว่า ในฐานะ เสธ.ทร. เป็นประธานฯ สอบข้อเท็จจริง จะเกิด Conflict of Interest (ผลประโยชน์ทับซ้อน) หรือไม่ เนื่องจากหากถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด แล้วใครจะสอบใคร ?” โฆษกคณะกรรมาธิการฯ กล่าว
นายมงคลกิตติ์ เปิดเผยว่า เสธ.ทร. ตอบว่าจะไปหาข้อมูลมาเพิ่มเติม เมื่อถูกถามว่า ข้อมูลการเกิดเหตุอับปางในช่วง 7 ชั่วโมงนั้น ถึง ผบ.ทร. และ รมว.กห. เมื่อใด แต่ทาง เสธ.ทร. ยืนยันว่า ไม่ได้คุยกับคนที่อยู่บนเรือตลอดช่วงเวลาเกิดเหตุ และย้ำว่า ผู้ที่รับผิดชอบสูงสุดคือผู้บังคับการเรือหลวงสุโขทัย
“ท่านบอกท่านทำเต็มที่ 100% แล้ว เหมือนว่าท่านไม่มีความผิดอะไรเลย ผมก็มองว่า ไม่ว่าจะเป็น รมว.กห. ผบ.ทร. เสธ.ทร. แม่ทัพเรือภาคที่ 1 ไม่มีความเป็นผู้นำเลย ไม่มีความเสียสละ ไม่มีความรับผิดชอบ ผลักภาระให้ลูกน้องอย่างเดียว” นายมงคลกิตติ์ กล่าวในช่วงหนึ่งของการแถลงข่าว
นายมงคลกิตติ์ ยังชี้แจงว่า พรรคร่วมฝ่ายค้านจะนำข้อมูลนี้บรรจุในการอภิปรายทั่วไปตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 152 ด้วย และส่วนตัวเตรียมจะเสนอให้กรรมาธิการฯ ส้ปดาห์หน้า ให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมาธิการฯ สอบสวนข้อเท็จจริงกรณีเรือหลวงสุโขทัยอับปาง คู่ขนานกับคณะกรรมการฯ ของกองทัพเรือ โดยให้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเป็นกลาง และผู้มีความรู้ เช่นอดีตผู้บังคับการเรือ และนายวิชา มหาคุณ เพื่อนำผลสอบไปเทียบเคียงกับผลสอบของกองทัพเรือที่จะออกมา เพราะเกรงว่าให้ หน่วยงานตรวจสอบกันเองอาจไม่มีความน่าเชื่อถือได้