POLITICS

‘รมว.ชัยวุฒิ’ สรุปผลงานโครงการเด่น กระทรวงดีอีเอสปี 64

‘ชัยวุฒิ’ รมว.ดีอีเอส ไฮไลท์โครงการเด่นกระทรวงฯ รอบปี 64 มุ่งสร้างสังคมปลอดข่าวปลอม ขับเคลื่อนศักยภาพด้านเทคโนโลยีดิจิทัลของหน่วยงานในสังกัด ช่วยเหลือความเดือดร้อนของประชาชนฝ่าวิกฤตโควิด เสริมแกร่งกฎหมายดิจิทัลรับเศรษฐกิจยุคใหม่ เผยปีหน้านำร่องปั้นอินเทอร์เน็ตเป็นสาธารณูปโภคพื้นฐานบริการฟรีชุมชนกว่า 8,000 แห่งทั่วประเทศ

นายชัยวุฒิ ธนาคมนานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เปิดเผยผลการดำเนินงานในภาพรวมตลอดปี 64 ว่า มีหลายโครงการเด่นจากหน่วยงานใต้สังกัด ที่มีบทบาทอย่างสำคัญต่อการขับเคลื่อนประเทศไทย ทั้งระดับเศรษฐกิจ สังคม และประชาชนในการประยุกต์ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลในมิติต่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การนำความเชี่ยวชาญและต่อยอดศักยภาพด้านดิจิทัล เพื่อเป็นเครื่องมือแก้ปัญหาและช่วยเหลือความเดือดร้อนของประชาชน จากสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19

สำหรับผลการดำเนินงานเด่นๆ ในรอบปีนี้ของหน่วยงานในสังกัด ได้แก่ ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ได้บูรณาการการทำงานร่วมกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการเกี่ยวกับการต่อต้านข่าวปลอม และการป้องกันปราบปรามการกระทำความผิดตามกฎหมาย ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ โดยตั้งแต่ไตรมาสสุดท้ายปี 63 – 21 ธ.ค. 64 ดังนี้

โดยตั้งแต่ ต.ค. 63-21 ธ.ค. 64 ได้ประสานส่งข้อมูลข่าวปลอมและบิดเบือน ไปยังศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม และความมั่นคง สำนักงานตารวจแห่งชาติ (ศตปค.ตร.) และกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) จำนวน 226 เรื่อง ผู้กระทำผิด 373 ราย โดยมีการประสานให้หน่วยงานผู้เสียหายแจ้งความดำเนินคดีแล้ว 20 เรื่อง จำนวน 53 คดี มีการตักเตือนให้ลบหรือแก้ไขข่าว 8 เรื่อง และอยู่ระหว่างสืบสวน 98 เรื่อง

นอกจากนี้ ได้ยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอให้มีคำสั่งปิดกั้นเนื้อหาที่ผิดกฎหมายแล้ว จำนวน 9,092 บัญชีรายชื่อ (ยูอาร์แอล) แบ่งเป็น หมิ่นสถาบันฯ 289 คำสั่ง รวม 6,563 ยูอาร์แอล ละเมิดลิขสิทธิ์ 5 คำสั่ง รวม 56 ยูอาร์แอล ลามกอนาจาร 15 คำสั่ง รวม 258 ยูอาร์แอล การพนัน 65 คำสั่ง รวม 2,198 ยูอาร์แอล และอื่นๆ (ข้อมูลที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน) 1 คำสั่ง รวม 17 ยูอาร์แอล

รวมทั้ง ได้ดำเนินการร้องทุกข์กล่าวโทษ และประสานข้อมูลผู้กระทำความผิดนำเข้าข้อมูล คอมพิวเตอร์ที่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ พร้อมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องในเบื้องต้นไปยังกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) จำนวน 1,751 ยูอาร์แอล โดยมากสุดเป็นช่องทางของเฟซบุ๊ก 959 ยูอาร์แอล ตามมาด้วย ทวิตเตอร์ 446 ยูอาร์แอล ยูทูบ 305 ยูอาร์แอล และเว็บไซต์ 41 ยูอาร์แอล

สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) – จากสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ในปี 63-64 จึงได้มีการอนุมัติโครงการขอรับทุนสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กองทุนดีอี) ที่เกี่ยวกับด้านการแพทย์/สาธารณสุข ซึ่งรวมถึง โครงการตามประกาศในสถานการณ์โควิด 42 โครงการ ครอบคลุมโรงพยาบาล 34 แห่ง รวมจำนวนเตียง  9,000 เตียง ทั้งนี้เพื่อสนับสนุนให้มีการพัฒนานวัตกรรมดิจิทัลไปใช้ในการบริหารจัดการรับมือจำนวนผู้ป่วยและผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นหลังการระบาดเมื่อปลายปี 63 โครงการรับทุนเด่นๆ ได้แก่ ครุภัณฑ์เทคโนโลยีดิจิทัล ระบบนัดหมายและจัดคิว หุ่นยนต์ช่วยแพทย์ ระบบการแพทย์ทางไกล และระบบติดตามผู้ป่วยมะเร็ง ที่ช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ ของผู้ป่วยมะเร็งกว่า 1,000 คน ในการเดินทางมารักษาที่โรงพยาบาล เป็นต้น

กรมอุตุนิยมวิทยา – ในโครงการการยกระดับมาตรฐานอุตุนิยมวิทยาการบินของประเทศ โดยติดตั้งและปรับปรุงเครื่องมือตรวจวัดด้านอุตุนิยมวิทยาการบินประจาสนามบิน ให้เป็นไปตาม มาตรฐาน ICAO และตามแผนแม่บทห้วงอากาศและการเดินอากาศแห่งชาติ ครอบคลุมสนามบินหลักของประเทศ 9 แห่ง และสนามบินรอง (Domestic) จำนวน 10 แห่งทั่วประเทศ

สำนักงานสถิติแห่งชาติ –  ในโครงการจัดทำบัญชีข้อมูลภาครัฐ (Government Data Catalog) ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์ประกอบหลักของกรอบโครงสร้างรัฐบาลดิจิทัล และหนุนให้ก้าวไปสู่รัฐบาลอัจฉริยะ โดยปัจจุบันมี 118 หน่วยงานที่มีระบบบัญชีหน่วยงานพร้อมแล้ว ครอบคลุม หน่วยงานนำร่อง 31 หน่วยงาน และ 3 จังหวัด รวมถึงหน่วยงานตามตัวชี้วัด Open Data จำนวน 84 หน่วยงาน

บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ (NT) – ในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด NT ได้ขานรับนโยบายดีอีเอส เข้าไปช่วยเหลือประชาชน โดยนำความเชี่ยวชาญในธุรกิจให้บริการสื่อสารโทรคมนาคม เข้าไปติดตั้งอุปกรณ์ระบบสื่อสาร ไวไฟความเร็วสูง ระบบซีซีทีวี สนับสนุนหน่วยงานต่างๆ ทั่วประเทศ 668 แห่งซึ่งรวมถึงโรงพยาบาลสนาม ศูนย์พักคอย และจุดฉีดวัคซีนโควิด-19  งบระมาณที่ใช้จ่ายไปประมาณ 307 ล้านบาท

ทั้งนี้ NT วางเป้าหมายเป็นศูนย์กลางเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตให้กับกลุ่มประเทศ CLM (กัมพูชา-ลาว-เมียนมาร์) ภายในปี 67 รวมถึงตั้งเป้าหมายพลิกบทาทเป็นผู้ให้บริการโครงสร้างพื้นฐานและดิจิทัลเต็มรูปแบบในปี 66-68 โดยจะมีรายได้จากกลุ่มธุรกิจดิจิทัลมากกว่า 7,600 ล้านบาท ภายในปี 69

บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด – ช่องทางเว็บไซต์ Thailandpostmart.com สนับสนุนการจำหน่ายสินค้าชุมชนผ่านระบบอี-คอมเมิร์ซ มีผู้ประกอบการขึ้นทะเบียนรวม 3,060 ราย สร้างรายได้ 200 ล้านบาท สร้างความเติบโตให้เศรษฐกิจฐานราก

รวมทั้งสนับสนุนภารกิจด้านการแพทย์ในช่วงโควิด โดยจัดทำโครงการไปรษณีย์ reBOX เปลี่ยนกล่อง/ซองเป็นสิ่งของจำเป็นทางการแพทย์ รวบรวมกล่อง/ซองใช้แล้ว 200,000 กก. ที่นำไปเปลี่ยนเป็นหน้ากากทางการแพทย์ 300,000 ชิ้น ส่งมอบให้กับโรงพยาบาลที่ขาดแคลน และโครงการ “ส่งความห่วงใย ส่งให้ สู้ภัย COVID-19” จัดส่งเวชภัณฑ์และสิ่งของจำเป็นทางการแพทย์ 250,000 กก. ให้กับโรงพยาบาลและเรือนจำทั่วประเทศฟรี

สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) – จัดทำร่าง พ.ร.ฎ.ว่าด้วยการควบคุมดูแลธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ. …. และผ่านความเห็นชอบจาก ครม. แล้วโดยจะเป็นกฎหมายสำคัญเพื่อป้องกันความเสียหายต่อสาธารณชน หรือประชาชนที่ใช้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล รวมถึงการซื้อขายผ่านออนไลน์/โซเชียล นอกจากนี้ ยังมีการจัดทำข้อเสนอแนะมาตรฐาน การพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล (Digital Identity) เพื่อให้เกิดการยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภคไทยให้เข้าถึงกระบวนการช่วยเหลือได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น อีกทั้งล่าสุดปรับโฉมบริการโทรสายด่วน 1212 OCC สู่ศูนย์ช่วยเหลือและจัดการปัญหาออนไลน์ ยกระดับการคุ้มครองประชาชน

สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) – ตลอดปีที่ผ่านมา ดีป้า ดำเนินภารกิจยกระดับ Digital Startups กว่า 1,200 ราย และส่งเสริมการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Transformation) ผ่านบริการของ Digital Startup แล้วกว่า 11,400 โครงการ ครอบคลุม เอสเอ็มอี ชุมชน/เกษตรกร และหาบเร่แผงลอย

นอกจากนี้ ยังเข้าไปสนับสนุนการบูรณาการข้อมูลด้าน Big Data ในโครงการ Health-Link ระบบการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพอิเล็กทรอนิกส์ ที่เป็นความร่วมมือระหว่างดีอีเอส และกระทรวงสาธารณสุข เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยและทางโรงพยาบาลเข้าถึงการรักษาได้ง่ายยิ่งขึ้น เป็นที่รวบรวมข้อมูลส่วนตัวและข้อมูลสุขภาพเอาไว้ที่เดียว โดยประชาชนสามารถสมัครเข้าร่วมได้ผ่านแอปเป๋าตัง ปัจจุบันมีผู้เข้าร่วมแล้วกว่า 70,000 คน มีโรงพยาบาลเข้าร่วมแล้ว 100 แห่ง และอยู่ระหว่างขอเข้าร่วมอีกจำนวนมาก คาดว่าจะเชื่อมโยงและเปิดตัวพร้อมโรงพยาบาลทุกสังกัดในเขต กทม. ได้ในเดือน มี.ค.65

นายชัยวุฒิ กล่าวว่า สำหรับแผนงานในปี 65 กระทรวงดิจิทัลฯ จะเร่งเดินหน้าขับเคลื่อนประโยชน์จากการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลให้เข้าถึงครอบคลุมมากที่สุด โดย สดช. หน่วยงานในสังกัดฯ จะนำร่องปูพรมบริการฟรีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงผ่าน “โครงการอินเทอร์เน็ตสาธารณะสู่ชุมชน” ตั้งเป้าไม่น้อยกว่า 8,246 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งรวมถึงบริการอินเทอร์เน็ตผ่านระบบสื่อสัญญาณดาวเทียม (Satellite) ความเร็วไม่น้อยกว่า 200/100 Mbps ในพื้นที่ไม่มีบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเข้าถึง

ขณะที่ ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม จะตอกย้ำการพัฒนาให้เป็นช่องทางการสื่อสารโดยตรงกับประชาชน รวมถึงการปฏิบัติงานร่วมกับเครือข่ายผู้ประสานงาน เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ข้อมูลที่ถูกต้องหรือแจ้งเตือนให้แก่ประชาชน และหน่วยงานต่าง ๆ ควบคู่การสร้างความตระหนักรู้ให้แก่ประชาชน เพื่อรู้เท่าทันสื่อยุคดิจิทัล และมีส่วนร่วมในการจัดการกับปัญหาข่าวปลอม

ทางด้านการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล ETDA เตรียมโครงการพัฒนากฎหมายและกลไกกำกับดูแลธุรกิจดิจิทัล จัดทำหลักเกณฑ์และมาตรฐานเกี่ยวกับการกำกับดูแลธุรกิจบริการที่เกี่ยวข้องกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (Digital Service) มีกลไกการกำกับดูแล รวมถึงพัฒนาสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์อย่างต่อเนื่อง (Secured Environment) ได้แก่ บริการพื้นฐานสำคัญที่น่าเชื่อถือ (Trust Services) สำหรับบริการประชาชนในกระบวนการอนุมัติ อนุญาตของทางราชการ และการตรวจสอบเฝ้าระวังทางด้าน Cybersecurity ให้แก่หน่วยงานภาครัฐ เป็นต้น

และโครงการศูนย์ความเป็นเลิศด้านการพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อยกระดับอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในรายงานประจำปีระดับโลกของไอเอ็มดี (IMD World Digital Competitive Index)

Related Posts

Send this to a friend