‘สุริยะ’ เดินหน้าแก้สัญญารถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน
วันนี้ (29 ต.ค. 67) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน แบบไร้รอยต่อ (ดอนเมือง – สุวรรณภูมิ – อู่ตะเภา) ว่า ยังไม่มีการนำเสนอเรื่องดังกล่าวต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในสัปดาห์นี้ คาดว่าจะเป็นสัปดาห์หน้าหรือสัปดาห์ถัดไป แต่ยืนยันว่าการแก้ไขสัญญาโครงการดังกล่าวเป็นเรื่องที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เป็นผู้เจรจากับภาคเอกชน โดยเอกชนได้รับผลกระทบจากโควิด อยากให้รัฐบาลแก้ไขเยียวยา ซึ่งมีข้อเสนอมา 6 ข้อ แต่คณะกรรมการกำกับดูแลสัญญาเห็นว่ามีเพียงข้อเดียวที่จะรับได้คือ เรื่องต้นทุนดอกเบี้ยสูงขึ้น เนื่องจากมีผลกระทบจากสงครามรัสเซีย – ยูเครน
นายสุริยะ กล่าวต่อว่า ส่วนข้อเรียกร้องประเด็นค่าก่อสร้างเพิ่มเติมที่เอกชนขอมานั้น รฟท.ไม่ได้ให้ ส่วนเรื่องที่เกี่ยวกับผลกระทบโควิด เรามองว่าเป็นเหตุสุดวิสัย จึงต้องแก้สัญญา โดยได้ดูครบถ้วนทุกประเด็นที่รัฐไม่เสียประโยชน์ ประกอบกับเราอยากให้โครงการนี้เดินต่อ หากมีการยกเลิกสัญญาปัญหาจะตามมา รัฐเองต้องยอมรับว่าไม่สามารถส่งพื้นที่ก่อสร้างให้กับเอกชนได้ เอกชนเองที่ต้องจ่ายในส่วนของแอร์พอร์ตลิงก์ให้ก็ไม่ได้จ่าย ทำให้ต้องเจรจากัน อย่างไรก็ตาม เรื่องการเจรจา ตนเองไม่ใช่ผู้ริเริ่มเจรจา แต่เป็นโครงการที่ต่อเนื่องมาจาก รฟท. และเข้ามาที่สำนักงานนโยบายและแผนงานและขนส่งจราจร กระทรวงคมนาคม เป็นผู้กรองเรื่อง ซึ่งเห็นแล้วว่าเป็นประโยชน์ ไม่เสียเปรียบ ตนจึงได้เซ็นเรื่องไป
“โครงการนี้เป็นโครงการที่เป็นประโยชน์ ลดระยะเวลาเดินทางจาก กทม.ไปอู่ตะเภาได้มาก การเดินหน้าโครงการนี้จึงเป็นประโยชน์ ยืนยันการเดินหน้าโครงการนี้รัฐบาลไม่เสียเปรียบเอกชน 100% เพราะการแก้ไขสัญญาต่างๆ มีอัยการเข้ามาช่วยดูแล” นายสุริยะ กล่าว
นายสุริยะ กล่าวว่า หากเราไม่รีบเจรจาแก้ไขสัญญา โครงการจะแล้วเสร็จล่าช้ากว่าปี 71 จะมีผลกระทบไปถึงโครงการเมืองการบินที่การยื่นเงื่อนไขการยื่นประมูลมีเรื่องของรถไฟเชื่อม 3 สนามบินเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งหากล่าช้ากว่าปี 71 อาจจะถูกฟ้องร้องจากเอกชน เราพยายามจะทำให้เสร็จตามกรอบเวลาดังกล่าว