‘สนธิญา’ ร้อง กกต. ตรวจสอบพฤติกรรม ธนาธร-พรรณิการ์ กรณีรณรงค์เลือก สว.
‘สนธิญา’ ร้อง กกต. ตรวจสอบพฤติกรรม ธนาธร-พรรณิการ์ กรณีรณรงค์เลือก สว. ทั้งที่ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง แนะ กกต.ควรวินิจฉัยให้ชัดเจนในการปฏิบัติ
วันนี้ (29 เม.ย. 67) นายสนธิญา สวัสดี อดีตที่ปรึกษากรรมาธิการ (กมธ.) การกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร เดินทางมาที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือก (กกต.) เพื่อร้องตรวจสอบพฤติกรรมของ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า และ นางสาวพรรณิการ์ วาณิช คณะกรรมการบริหารคณะก้าวหน้า กรณีออกมารณรงค์ให้ประชาชนลงสมัครสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ทั้งที่เป็นผู้ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง
นายสนธิญา ระบุว่าเคยมาร้องเรียนเรื่องนี้แล้ว เมื่อช่วงการเลือกตั้งสมาชิกผู้แทนราษฎร (สส.) ครั้งหนึ่ง แต่ในครั้งนั้นยังไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจน วันนี้จึงได้มาร้องเรียนอีกครั้งเกี่ยวกับพฤติกรรม นายธนาธร และนางสาวพรรณิการ์ ซึ่งทราบกันดีว่าเป็นผู้ที่ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองตั้งแต่ปี 2563 กรณีการยุบพรรคอนาคตใหม่ แต่ทั้งสองท่านยังออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง เกี่ยวกับการรณรงค์ ชักจูง รวบรวมกลุ่มบุคคล หรือแนะนำเพื่อให้ประชาชนเข้าไปลงสมัครสมาชิกวุฒิสภา
นายสนธิญา กล่าวว่าจุดประสงค์ในวันนี้ คือการยื่นหนังสือถึงประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง เพื่อตรวจสอบพฤติกรรมของบุคคลทั้งสอง ให้เป็นตัวอย่างและมาตรฐานในการปฏิบัติ เพราะเมื่อบุคคลหรือคณะบุคคล ที่สมัครเป็นสมาชิกวุฒิสภา เพื่อคัดเลือก ทั้ง 3 ระดับ คือ ระดับอำเภอ ระดับจังหวัด และระดับประเทศ หากทั้ง 2 คนนี้ เป็นผู้ที่เสนอแนะ สนับสนุน หรือเป็นผู้รณรงค์ ให้บุคคลเหล่านั้นเข้ามาสมัครลงเลือกตั้ง และหากได้รับการเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา และมีการตรวจสอบ ร้องเรียน จะทำให้การได้มาซึ่งวุฒิสภาชุดใหม่ล่าช้าไปเรื่อยๆ
นายสนธิญาย้ำว่า อยากให้คณะกรรมการการเลือกตั้งวินิจฉัยว่าบุคคลที่ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง ยังสามารถที่จะร่วมดำเนินกิจกรรมในการรณรงค์หรือทำกลุ่ม เพื่อให้บุคคลเข้ามาสมัครสมาชิกวุฒิสภานั้นยังสามมารถทำได้หรือไม่ เพราะอย่างไรก็ตามตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภานั้นก็คือตำแหน่งทางการเมือง แต่หากมีบุคคลที่ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง เข้ามาเป็นผู้รณรงค์หรือแสดงความคิดเห็นมีส่วนร่วมให้คำแนะนำให้กับผู้ลงสมัครนั้น คณะกรรมการการเลือกตั้งจะต้องวินิจฉัยและพิจารณาให้ชัดเจนก่อนมีการรับสมัครการเลือกตั้งครั้งใหม่ เพื่อให้การเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาเป็นไปยังโปร่งใส เที่ยงธรรม และไม่ถูกชี้นำ และเพื่อให้เกิดความชัดเจนในเรื่องของข้อปฏิบัติ ซึ่งผลจะออกมาเป็นอย่างไรตนเองไม่คัดค้าน เพียงแต่ขอให้เกิดความชัดเจน ในเรื่องของการปฏิบัติ