’สว.อังคณา’ ค้าน ‘สว.อะมัด’ หลังเสนอไลฟ์สดประหารชีวิตนักโทษยาเสพติด ขัด พ.ร.บ.อุ้มหาย
’สว.อังคณา’ ค้าน ‘สว.อะมัด’ หลังเสนอไลฟ์สดประหารชีวิตนักโทษยาเสพติด ชี้ เป็นการผลิตซ้ำ-ลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ขัด พ.ร.บ.อุ้มหาย ลั่น ห่วงกลุ่มชาติพันธุ์ถูกใส่ร้าย ย้ำต้องแก้ปัญหายาเสพติดเชิงระบบ ไม่ใช่ใช้ความรุนแรง
วันนี้ (29 ม.ค. 68) นางอังคณา นีละไพจิตร สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมือง การมีส่วนร่วมของประชาชน สิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ นายอะมัด อายุเคน สมาชิกวุฒิสภา เสนอให้ประหารชีวิตนักโทษคดียาเสพติด ในที่ประชุมวุฒิสภาเมื่อวานนี้ ว่า กรณีที่มี สว.พูดถึงเรื่องการประหารชีวิตนั้นเป็นการแสดงความคิดเห็นอย่างอิสระแต่คงต้องไปทบทวนเหตุการณ์ในอดีตที่การฆ่าตัดตอนคนจำนวนมากแต่ยาเสพติดก็ไม่หมดไป ส่วนข้อเสนอที่ให้มีการถ่ายทอดสด (ไลฟ์สด) ในช่วงการประหารชีวิตนั้น นางอังคณา กล่าวว่า ถือเป็นการลดทอนศักดิ์ศรีคุณค่าความเป็นมนุษย์เป็นการผลิตซ้ำความรุนแรงและไม่ได้ทำให้เกิดความหลาบจำ แต่จะทำให้คนที่ไม่เกี่ยวข้องด้วยอย่างเยาวชนได้มองเห็นวิธีการแบบนี้เป็นวิธีที่สามารถทำได้ ซึ่งความจริงแล้วขัดกับกฎหมาย ขัดกับพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย หรือ พ.ร.บ.อุ้มหาย ในเรื่องของการกระทำใด ๆ ที่เป็นการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ในมาตรา 6 ซึ่ง สว. ท่านนั้นต้องไปศึกษากฎหมายเพิ่มเติม
ผู้สื่อข่าวถามว่า หากข้อเสนอนี้ผ่านความเห็นชอบจะมีผู้ถูกใส่ร้ายในคดียาเสพติดเพิ่มขึ้นมากหรือไม่ นางอังคณา กล่าวว่า เมื่อวานนี้ สิ่งที่พูดถึงอย่างกรณีกลุ่มชาติพันธุ์ทางเหนือ หลายคนเป็นคนไร้สัญชาติ ส่วนใหญ่ไม่มีบัญชีธนาคารก็จะเก็บเงินไว้ที่บ้าน บางทีเพื่อนบ้านหรือถ้ามีคนไปให้ข้อมูลว่าเกี่ยวข้องกับยาเสพติดและมีการยึดทรัพย์ ซึ่งอาจเป็นเรื่องที่มาจากการใส่ร้ายป้ายสีได้ วันนี้เรามีกฎหมายให้ผู้เสพเป็นผู้ป่วยก็ยังมีปัญหาและอุปสรรคอีกเยอะมาก ผู้ต้องขังเรื่องยาเสพติดในเรือนจำลดลง แต่คนเหล่านี้ไม่ได้หายไปไหนออกมาอยู่ข้างนอกตามชุมชน ครอบครัวหรือโรงพยาบาลก็ไม่มีศักยภาพในการดูแล เพราะฉะนั้นหากจะแก้ปัญหายาเสพติดอย่างเป็นระบบ ก็ต้องปราบปรามผู้กระทำผิดรายใหญ่ และต้องดำเนินการอย่างจริงจัง อย่างในอดีตคนที่ขับรถขนส่งก็จะกินยาม้าเป็นประจำแต่พอกลายเป็นยาบ้าก็มีราคาสูงขึ้น เป็นการเพิ่มมูลค่า คนก็หันมาขายและติดยากันมากขึ้น ซึ่งนายกรัฐมนตรีก็บอกว่าจะผลักดันอย่างเด็ดขาด ซึ่งในความเห็นส่วนตัวก็ต้องมีหลักประกันว่า เด็ดขาดคือให้ยาหมดไปแต่ไม่ใช่ใช้วิธีการที่รุนแรงเพราะในขณะเดียวกันที่รัฐบาลใช้กฎหมาย รัฐบาลก็ต้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชนไปด้วย
ผู้สื่อข่าถามต่อว่า มองว่าเป็นภาพสะท้อนรวมของ สว. หรือไม่ นางอังคณา กล่าวว่า เป็นความเห็นของคน ๆ เดียว แต่เมื่อวานภาพที่ออกมาก็เหมือนว่ามี สว. หลายคนยืนอยู่ข้างหลัง สังคมอาจมองว่าเป็นการสนับสนุนซึ่งตนเองก็เคารพเสรีภาพในการแสดงความเห็น แต่การเสนอเรื่องแบบนี้ในพื้นที่สาธารณะก็อาจสุ่มเสี่ยงต่อการวิพากษ์วิจารณ์หรืออาจเป็นแนวทางที่ทำให้การฆ่าตัดตอนเกิดขึ้นอีกหรือไม่
“การประหารชีวิตไม่ได้ทำได้ง่ายๆ ต้องมีคำพิพากษาจากศาล และมีพยานหลักฐาน การกระทำผิดต้องเป็นโทษรุนแรง การพูดแบบนี้อาจเป็นการส่งสัญญาณว่าเรารับได้ และที่พูดก็คือการขัดมาตรา 6 ใน พ.ร.บ.อุ้มหาย ในเรื่องการลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หากมีการถ่ายทอดสด แต่คิดว่า สว. ท่านนั้นพูดเหมือนปากพาไป หรืออะไรไม่ทราบ” นางอังคณา กล่าว