‘กัณวีร์‘ จี้รัฐยกเรื่องผู้ลี้ภัยมาอยู่บนพรม รอรับผู้ได้รับผลกระทบสงคราม
’ฐปณีย์‘ กังวลการจัดการสื่อสาร ปิดกั้นการพูดอย่างเสรีของผู้ได้รับผลกระทบสงคราม ทำคนไทยเป็นตัวประกันซ้ำสอง ’อาทิตย์‘ เสนอคนไทยศึกษาภูมิรัฐศาสตร์โลกมุสลิมด้วยแว่นอื่นที่ไม่ได้ประกอบสร้างองค์ความรู้จากตะวันตก
วันนี้ (28 พ.ย. 66) ที่ห้องประชุมสถาบันพระปกเกล้า องค์กร PSC Thailand จัดเวทีเนื่องในวันแห่งความเป็นปึกแผ่นสากลกับชาวปาเลสไตน์ (The Commemoration of the UN International Day Of Solidarity with the Palestinian People) ซึ่งตรงกับวันที่ 29 พ.ย. ของทุกปี โดยช่วงหนึ่งมีเวที “Stand for Palestine, Stand with the Humanity”
โดยมี พระมหานภันต์ สนุติภทุโท ผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวงวัดสระเกศฯ ,ส.ส.กัณวีร์ สืบแสง สมาชิกผู้แทนราษฎร พรรคเป็นธรรม, ผศ.ดร.อาทิตย์ ทองอินทร์ อาจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงศึกษาและการศึกษาการก่อการร้าย, คุณฐปณีย์ เอียดศรีไชย ผู้ก่อตั้งสำนักข่าว The Reporters ดำเนินรายการโดย อ.ไฟโรส อยู่เป็นสุข กรรมการ PSC Thailand
นายกัณวีร์ สืบแสง สส.พรรคเป็นธรรม กล่าวว่า งานมนุษยธรรม เริ่มขึ้นจากอำนาจ ผลประโยชน์ และสงครามเกิดผู้ได้รับผลกระทบ ผู้พลัดถิ่น การโดนไล่ออกจากบ้าน การหนีความตาย การประหัตประหาร เรื่องมนุษยธรรมใกล้ตัวพวกเรา ต้องยอมรับว่าในประเทศไทยมีผู้ลี้ภัยอาศัยอยู่ แต่เรามองเรื่องนี้เก็บเรื่องนี้ไว้ใต้พรม ไม่พูดถึงเรื่องนี้เพราะกระทบต่อคนไทย เมื่อไม่พูดถึงผู้ลี้ภัย เอาเงินภาษีของประชาชนคนไทยไปดูแลผู้หนีภัยการสู้รบ ทำให้เกิดความคิดแบ่งแยกพวกเขาพวกเรา เป็นมุมมองที่อยู่กับคนไทยมานานหลายทศวรรษ ในปัจจุบันเรามองผู้ลี้ภัยเป็นภัยความมั่นคง หากเรายังไม่เปลี่ยนแปลงความคิดนี้ผู้ลี้ภัยชาวปาเลสไตน์ที่ออกมาอยู่ในหลายประเทศทั่วโลกจะถุกมองเป็นภาระ
ในฐานะเป็น สส. และทำงานด้านมนุษยธรรม เชื่ออย่างยิ่งว่า ไม่มีใครอยากตกเป็นผู้ลี้ภัย ไม่มีใครอยากอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัย เพราะฉะนั้นฝ่ายนิติบัญญัติต้องนำปัญหาใต้พรมมาอยู่บนพรม มองพวกเขาในฐานะมนุษย์ ดึงศักยภาพของมนุษย์คนนั้นมาช่วยพัฒนาชาติไทยให้ได้ นำพวกเขามาอยู่บนพรม ชวนพวกเขามาร่วมพัฒนาชาติไทย หากทำแบบนั้นได้เม็ดเงินภาษีของคนไทยจะไม่ตกไปเป็นภาระต่อไป
ด้าน น.ส.ฐปณีย์ เอียดศรีไชย ผู้ก่อตั้งสำนักข่าว The Reporters กล่าวว่า ปัญหาปาเลสไตน์กับอิสราเอลก่อนหน้านี้อาจเป็นเรื่องไกลตัวสำหรับคนไทย แต่ตั้งแต่เหตุการณ์ 7 ตุลาคมที่ผ่านมา ทำให้คนไทยกลับมาสนใจข่าวนี้ เพราะมีข่าวว่ามีคนไทยเสียชีวิตและบาดเจ็บจากการโจมตีของปาเลสไตน์ และเมื่อต่อมามีคนไทยถูกจับเป็นตัวประกันอีก ยิ่งทำให้สถานการณ์ดูรุนแรงมากขึ้น
ในความเป็นสื่อ มองว่าข่าวชิ้นนี้เป็นงานที่ยากชิ้นหนึ่งเหมือนกัน จากที่ตนเองติดตามนำเสนอข่าวประเด็นเรื่องนี้มาอย่างยาวนาน สงครามนี้แตกต่างคือความเสี่ยงที่อาจนำมาซึ่งสงครามข้อมูลข่าวสาร นำไปสู่การเกลียดชังมุสลิม เราจึงต้องนำผู้ที่เกี่ยวข้องมาพูด เพื่อไม่ให้สังคมเกิดอารมณ์ร่วม และทำให้ตนเองตัดสินใจเดินทางไปประเทศอิสราเอล เพราะมองเห็นว่าถ้าให้ข่าวสารถูกรับรู้ไปในทางเดียว มันจะถูกชักจูงไปในทิศทางที่ถูกควบคุมได้
นักข่าวในประเทศไทยทำได้เพียงรอข่าวจากกระทรวงการต่างประเทศ การได้เดินทางไปถึงที่อิสราเอลและได้พบกับกลุ่มแรงงานจริง ทำให้ได้พบข้อมูลบางอย่างที่เป็นข้อเท็จจริงใหม่ เพิ่งรับทราบจากปากของแรงงานตัวจริง ว่าการจับตัวประกันไม่ได้เกิดจากการเจาะจงว่าจะนำคนชาติใดเป็นตัวประกัน
ดังนั้นเมื่อถามว่าสื่อมีบทบาทอย่างไรในสถานการณ์ความขัดแย้งสงครามปาเลสไตน์อิสราเอล ยืนยันว่าสื่อมีความสำคัญที่จะสร้างความเข้าใจ และนำข่าวสารที่เป็นข้อเท็จจริงของแต่ละฝ่ายมานำเสนอ เราไม่สามารถบอกได้ว่าสิ่งที่อิสราเอลพูดเป็นจริงเท็จแค่ไหน หรือกลุ่มฮาร์มาสพูดเป็นข้อเท็จจริงแค่ไหน แต่สื่อมีหน้าที่ให้ความเป็นจริงอย่างรอบด้าน เปิดเวทีให้มีการสื่อสารอย่างครอบถ้วนและเสรี
นอกจากนี้ ฐปณีย์ยังแสดงความกังวลต่อท่าทีการสื่อสารหรือการจัดการความสัมพันธ์ทางการทูตของประเทศไทย ในกรณีที่ขณะนี้คนไทยเป็นเหยื่อของความขัดแย้ง แต่หากการสื่อสารยังถูกจัดการอย่างมีนัยยะสำคัญ สื่อมวลชนยังไม่มีเสรีภาพในการสื่อสาร อาจส่งผลให้ในอนาคตไทยตกเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งด้วยก็ได้ ไม่อยากเห็นคนไทยเป็นตัวประกันซ้ำสอง เพราะเริ่มเห็นกระบวนการไม่อยากให้ตัวประกันได้พูด ฐปณีย์เล่าว่าตนเองก็ถูกปิดกั้นในการสัมภาษณ์ตัวประกันหรือครอบครัวตัวประกัน หรืออาจจะถูกกำหนดแนวทางในการสัมภาษณ์ ดังนั้นการปิดกั้นข้อมูลข่าวสารที่เป็นข้อเท็จจริง หรือการปิดกั้นเสรีภาพในการพูดของคนได้รับผลกระทบ อาจกลายเป็นการทำให้พวกเขาตกเป็นตัวประกันซ้ำสอง ไม่สามารถพูดในสิ่งที่เป็นข้อเท็จจริงได้ อาจเป็นเพราะรัฐระมัดระวังเรื่องความสัมพันธ์ด้านการทูต หรืออาจกระทบกับคนไทยที่จะไปทำงานอิสราเอลในอนาคต หรือความสัมพันธ์ในระดับรัฐบาล จึงใช้การสื่อสารตรงนี้มากำหนดทิศทางว่าต้องสื่อสารไปแนวทางไหน เป็นสิ่งที่ยืนยันว่าน่าเป็นห่วง
ด้าน ผศ.ดร.อาทิตย์ ทองอินทร์ ระบุว่า การศึกษาความขัดแย้งในพื้นที่ตะวันออกกลาง อาจต้องมองในกรอบความรู้ทางด้านสังคมที่มากกว่ากรอบการศึกษาตามแบบประเทศตะวันตก และอาจต้องมองในเชิงการเมืองเปรียบเทียบ โดยไม่ลดทอนคุณค่าหลักสิทธิมนุษยชนสากลที่ต้องยึดถือเพื่อประเมินคุณค่าทางการเมือง ในขณะที่ดุลอำนาจของโลกกำลังเปลี่ยน การเติบโตของประเทศจีนอาจทำให้เกิดภาวะ Culture Shock ซึ่งเรื่องความขัดแย้ง หรือเรื่องความสัมพันธ์ในประเทศโลกมุสลิม เป็นเรื่องที่มีความซับซ้อน อาจทำให้หลายคนตัดสินโดยการเหมารวมซึ่งอาจทำให้เรื่องซับซ้อนเข้าใจได้ง่ายขึ้น ซึ่งประเทศไทยมีความสัมพันธ์โดยธรรมชาติกับโลกมุสลิมมาโดยตลอด ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันของภูมิรัฐศาสตร์ที่ต้องสัมพันธ์กับโลกมุสลิม ทั้งอาหรับ เอเชียใต้ รวมถึงจีน ที่ไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้ไม่ว่าเวลาจะเปลี่ยนไปแค่ไหน และความรู้ความรู้ต่อพื้นที่เหล่านี้มีความจำเป็น ดังนั้นการวางกรอบให้เห็นถึงความสำคัญจำเป็นในการเรียนรู้เรื่องราวในตะวันออกกลาง ของภูมิภาคอื่น ด้วยสายตาที่ไม่ใช่แบบตะวันตกหรือที่ยุโรปเป็นคนผลิตสร้างองค์ความรู้นั้นขึ้นมา เป็นสิ่งที่ท้าทายให้เราปฏิบัติ
พระมหานกันต์ สนฺติภทฺโท กล่าวถึง หลักธรรมหลักคำสอนกาลามสูตรของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ไม่สอนให้มนุษย์เชื่อเรื่องใดเรื่องหนึ่งจากใครเลยโดยทันที และไม่มีศาสนาใด เห็นด้วยกับความรุนแรงหรือการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ การฆ่าเพื่อนมนุษย์ จะต้องมองอย่างแยกแยะ ไม่มองอย่างแพ้ชนแกะ แบบเหมารวม เมื่อได้ยินข่าวสิ่งใดมาแล้วอย่าเพิ่งเชื่อโดยทันที ต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงว่าข้อมูลนั้นเป็นเรื่องจริงหรือไม่ นำความเชื่อในแต่ละศาสนามาตรวจสอบ เพื่อรักษาความเป็นอยู่ของมนุษยชาติ เริ่มต้นได้จากตัวเรา ศาสนาจะช่วยให้โลกสงบสุขทั้งภายในและภายนอก มองมนุษย์ให้เห็นมนุษยชาติ มองมนุษยชาติให้เห็นมนุษย์