ม็อบสมรสเท่าเทียมชวน 5 พรรคการเมือง แสดงวิสัยทัศน์ความหลากหลายทางเพศ
ม็อบสมรสเท่าเทียม ชี้แก้ ป.พ.พ.มาตรา 1448 คือทางออกให้เกิดสมรสเท่าเทียม พร้อมชวน 5 พรรคการเมืองขึ้นเวทีปราศรัย คนละ 5 นาที แสดงวิสัยทัศน์ความหลากหลายทางเพศ
วันนี้ (28 พ.ย.64) เวลา 17.00 น. ภาคีสีรุ้งเพื่อสมรสเท่าเทียม พร้อมด้วยเครือข่ายผู้หลากหลายทางงเพศ 18 องค์กร จัดกิจกรรม “ม็อบสมรสเท่าเทียม” ที่แยกราชประสงค์ โดยตั้งเวทีปราศรัยที่บริเวณถนนราชดำริ ติดกับแยกประตูน้ำ และปูธงสีรุ้งเป็นแนวยาว รวมทั้งผูกธงสีรุ้ง และธงสีสัญลักษณ์มีข้อความระบุว่า “สมรสเท่าเทียม” เพื่อเรียกร้องถึงความหลากหลายทางเพศ
สำหรับกิจกรรมไฮไลท์อไลท์อยู่ที่การตั้งโต๊ะเข้าชื่อเสนอให้แก้ไขปประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 ภาคประชาชน ที่ทางภาคีสีรุ้งฯ ตั้งเป้าไว้ที่ 1,000,000 รายชื่อ สาระสำคัญในการแก้กฎหมายดังกล่าวคือ ต้องการให้เปลี่ยนบางถ้อยคำให้เป็นกลางทางเพศ เช่น คำว่า “สามี-ภริยา” เป็นบุคคล ทั้งนี้ยังได้เชิญตัวแทนจาก 5 พรรคการเมือง ได้แก่ พรรคเพื่อไทย ก้าวไกล ไทยสร้างไทย ชาติไทยพัฒนา และสามัญชน ร่วมแสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับการสมรสเท่าเทียม โดยให้เวลาคนละ 5 นาที
นายชานันท์ ยอดหงษ์ ตัวแทนจากพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การสมรสเท่าเทียม เป็นสิ่งที่จะยืนยันได้ว่าเรามีคุณค่า และศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน ปัจจุบันรัฐผลักให้ LGBTQ+ เป็นเพียงกลุ่มคนชายขอบ ไทยยอมรับความหลากหลายทางเพศเพียงแค่ครึ่งเดียว จากที่รองนายกฯ บอกว่าแค่มีพรบ.คู่ชีวิต ก็เพียงพอแล้ว หากแต่ พรบ.คู่ชีวิต ยังไม่สามารถตอบโจทย์ให้แก่คู่รักได้
“เราต้องแสดงให้เห็นว่า ไม่ว่าจะเป็นใครก็สามารถเป็นคู่ชีวิตกันได้ เราต้องการแก้มาตรา 1448 แก้จากใช้คำว่า ชาย-หญิง เป็น บุคคล-บุคคล เพียงเท่านี้มันยากตรงไหน การแก้ไขที่ตรงจุดที่สุด คือ การแก้มาตรา 1448 ไม่ใช่การยัดพรบ.คู่ชีวิตเข้าไป เพราะฉะนั้น เราต้องรวมพลังกัน เพื่อผลักดันเพดานขึ้นไป เพื่อให้เห็นว่าประชาชนเป็นเจ้าของประเทศ”
น.ส.ณธีภัสร์ กุลเศรษฐสิทธิ์ ส.ส.พรรคก้าวไกล กล่าวว่า คนบนโลกเกิดมาไม่เท่าเทียมกันแต่ต้น ก้าวไกลยึดมั่นอุดมการณ์ “คนเท่ากัน” จึงต้องจัดระเบียบสังคมให้เกิดความเท่าเทียมกัน มี ส.ส.กลุ่มหลากหลายทางเพศเข้าสู่สภาแล้ว 4 คน ผลักดันให้เกิดคณะกรรมาธิการเพื่อความหลากหลายทางเพศ แม้จะไม่สำเร็จ ตั้งคณะกรรมการเท่าเทียมทางเพศ เพื่อผลักดันกฎหมายทำแท้งเสรี ขจัดการเลือกปฏิบัติ หรือการนำงบประมาณมาใช้กับเพศภาวะ
นายนาดา ไชยจิตต์ จากพรรคไทยสร้างไทย กล่าวว่า เราวัดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์จากการใช้กฎหมายฉบับเดียวกัน แต่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเหมือนฟ้าผ่าสำหรับกลุ่ม LGBTQ สวรรค์แห่งความหลากหลายทางเพศคือสิ่งที่ปลอม ผู้ที่หลากหลายทางเพศนับเป็นพลเมืองชั้น 2 เพราะไม่สามารถเข้าถึงสิทธิต่าง ๆ ได้ พร้อมยกตัวอย่างประเทศสหรัฐอเมริกาที่มีกฎหมายสมรสเท่าเทียม แล้วส่งเสริมการจ้างงานในประเทศเพิ่มขึ้น 45,000 อัตรา รายได้หมุนเวียนกว่า 444 ล้านบาท
นายอุดมศักดิ์ ศรีสุทธิยา รองเลขาธิการพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวว่า คณะกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์พรรคให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมทางเพศ เล็งเห็นว่าผู้มีความหลากหลายเพศมีศักยภาพไม่เป็นรองใคร พรรคชาติไทยพัฒนาเห็นด้วยกับกฎหมายสมรสเท่าเทียมผ่านนโยบาย 3ส. ได้แก่ 1.สร้างเสริมกฎหมายที่ทันสมัยต่อการเท่าเทียมทางเพศ 2.สร้างเสริมให้มีศักยภาพความหลากหลายทางเพศ และ 3.สร้างเสริมพลังให้ผู้หลากหลาย เพราะ “ดอกไม้หลากสีมีความสวยงาม ความหลากหลายทางเพศก็มีความงดงามเช่นกัน”
น.ส.ชุมาพร แต่งเกลี้ยง ตัวแทนจากพรรคสามัญชน กล่าวว่า พรรคสามัญชนผลักดันให้เกิดประชาธิปไตยจากระดับรากหญ้า พร้อมตั้งโต๊ะเปิดเข้าชื่อแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 ตั้งเป้า 1,000,000 รายชื่อ เพื่อหยุดการเลือกปฏิบัติทางเพศ เพราะที่ผ่านมากลุ่ม LGBTQ ไม่สามารถเปลี่ยนคำนำหน้าได้ เพราะรัฐไม่เห็นว่าความเป็นคนเท่ากัน
ส่วนตัวแทนจากภาคประชาชน นายพรหมศร วีระธรรมจารี หรือ ฟ้า แกนนำราษฎรมูเตลู กล่าวบนเวทีปราศรัยว่า คำว่า “รัก” เป็นเรื่องของคนทุกคน รัฐจึงไม่มีสิทธิมาขีดเส้นใต้ให้กับกลุ่มหลากหลายทางเพศ เพราะที่ผ่านมากลุ่มหลากหลายทางเพศสร้างรายได้ให้กับประเทศจากโชว์คาบาเร่ และทิฟฟานี่โชว์ตามหัวเมืองต่าง ๆ คิดเป็น 15% ของ GDP ทั้งประเทศ นอกจากนี้ฟ้า ยังได้เปิดตัวคนรักกลางเวที พร้อมประกาศว่า “หากกฎหมายสมรสเท่าเทียมบังคับใช้ ตนเองจะจัดงานแต่งงานทันที”
นายธนัตถ์ ธนากิจอำนวย หรือ ลูกนัท กล่าวว่า ต้องให้สิทธิเท่าเทียมกันระหว่างคนทุกคน ให้มีความสุข ความหวัง และความรักเพื่อให้ชีวิตมีความหมาย ขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนที่ต่อสู้กับกฎหมายที่ใจแคบ ต่อสู้กับตุลาการที่ล้าสมัย พอกันทีกับการกดขี่ประชาชน ขอเปิดทางให้ความรักเจริญรุ่งเรือง ให้ประชาชนประชาธิปไตยได้สร้างครอบครัว
ชมพู่ และนุ่ม ตัวแทนคนรักเพศเดียวกัน เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาขับเคลื่อนเรื่องทำแท้งปลอดภัย แม้ไทยจะแก้กฎหมายทำแท้งแล้ว แต่ไม่เป็นไปตามสิทธิมนุษยชน และบังคับใช้กฎหมายมาร่วม 60 ปีถึงจะได้รับการแก้ไข เช่นเดียวกับ พ.ร.บ.คู่ชีวิตที่ผลักดันในปัจจุบัน ที่ยังมีความไม่เท่าเทียมอยู่ การผลักดันให้เกิดสมรสเท่าเทียม จึงต้องแก้ไขที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 และต้องแก้คำว่า “ชาย-หญิง” เป็น “บุคคล”
“รัฐควรสนับสนุนให้ลูกหลานใช้ชีวิตแบบที่เขาเป็น ไม่ต้องลงทุนอะไรมาก เพียงแค่ส่งเสริมสิทธิของ LGBTQ+ สมรสเท่าเทียมคือคำตอบ”
หลังจากนั้นกลุ่มเฟมินิสต์บันเทิงศิลป์ ที่รวมตัวกันโดยกลุ่มผู้ประกอบการหมอลำแถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้ขึ้นเวทีเพื่อแสดงดนตรี ก่อนที่จะยุติกิจกรรมในเวลา 20.35 น.ขณะที่ตัวเลขของผู้เข้าชื่อเสนอแก้กฎหมาย 1448 ทาง www.support1448.org ณ เวลา 20.45 น. ทะลุไปที่ 30,016 รายชื่อแล้ว