‘ประเสริฐ’ ชี้แจงกรณีความเสียหายจาก ‘ดิไอคอน กรุ๊ป’ ยัน รัฐบาลจะดำเนินการอย่างเด็ดขาด
การประชุมวุฒิสภา วันนี้ (28 ต.ค.67) นายชิบ จิตนิยม สมาชิกวุฒิสภา ตั้งกระทู้ถามนายกรัฐมนตรี เรื่องรัฐบาลมีมาตรการเร่งด่วนอย่างไร กรณีความเสียหายจากปัญหาธุรกิจเครือข่าย “ดิไอคอน กรุ๊ป” ที่สร้างความเสียหายเป็นวงกว้าง มีประชาชนตกเป็นเหยื่อกว่า 9,400 ราย รวมถึงรัฐบาลจะมีมาตรการควบคุมและป้องกันการใช้สื่อออนไลน์ในการโฆษณาที่เป็นการหลอกลวงประชาชนผ่านธุรกิจขายตรงหรือธุรกิจประเภทอื่น ๆ อย่างไร
นายประเสริฐ จันทรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้รับมอบหมายให้ตอบกระทู้แทนนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลมีมาตรการควบคุมและป้องกันการใช้สื่อออนไลน์ในการโฆษณาที่เป็นการหลอกลวงประชาชน มีกฎหมายและมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการในเรื่องนี้อยู่ คือกฎหมายว่าด้วยเรื่องการขายตรง ซึ่งกรณี The Icon เป็นการประกอบธุรกิจที่ไม่ตรงตามที่ลงทะเบียนและไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ อีกทั้งไม่เป็นไปตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน ซึ่งเกี่ยวข้องกับมาตรา 4 ที่เป็นการหลอกลวงประชาชน โดยมีการชักชวนให้สมัครเป็นสมาชิกทางธุรกิจขายตรงและนำเงินมาลงทุน รวมถึงเกี่ยวข้องกับพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์
ซึ่งระบุชัดเจนในมาตรา 14 (1) ว่าผู้ใดทุจริตหรือหลอกลวงนำเข้าระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งเป็นข้อมูลที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายให้กับประชาชนอันไม่ใช่การกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้นั้นต้องรับโทษ ส่วนเรื่องการใช้สื่อออนไลน์ในการดำเนินธุรกิจ มีหลายหน่วยงานที่เข้าไปกำกับดูแล เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้มีการจัดให้มีช่องทางแจ้งเบาะแสเพื่อแจ้งความกรณีที่มีเหตุผิดสังเกตหรือที่เป็นเหตุน่าสงสัย ขณะที่ สคบ. มีการกำหนดมาตรการบังคับใช้กฎหมาย เช่นเดียวกับกระทรวงสาธารณสุขที่มีการดูแลเรื่องมาตรฐานของสินค้าว่าเป็นไปตามที่กำหนดไว้หรือไม่
ขณะที่กระทรวงการคลังเข้าไปตรวจสอบเรื่องการกำหนดมาตรฐานสินค้าและป้องกันไม่ให้เกิดการทำธุรกิจแชร์ลูกโซ่ ส่วนการใช้ดาราหรือผู้มีชื่อเสียงเข้ามาโฆษณาความน่าเชื่อถือในธุรกิจนั้น ระบุว่าสมาคมโฆษณาและผู้ประกอบการธุรกิจบันเทิง รวมถึงองค์กรที่เกี่ยวข้องจะต้องดำเนินจากการจัดการโฆษณาและต้องมีการตรวจสอบข้อมูลอย่างละเอียด พร้อมยอมว่าขณะนี้มีผู้เสียหายทั่วประเทศกว่า 9,000 คน รวมความเสียหายกว่า 2,956 ล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่สูงและมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอีก
นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ยังยืนยันว่า กสทช. และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมได้ให้ความสำคัญเรื่องนี้ โดยที่ กสทช. มีภารกิจ คือ การเฝ้าระวังเชิงรุกและตรวจสอบกำกับการออกอากาศเพื่อให้ผู้บริโภคได้รับข้อมูลและข่าวสารที่มีความถูกต้องไม่ว่าจะเป็นรายการวิทยุหรือรายการโทรทัศน์ต่าง ๆ พร้อมมีการแจ้งแนวทางปฏิบัติให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปใช้ปฏิบัติให้เกิดเป็นความระมัดระวังในการนำเสนอเนื้อหาที่สุ่มเสี่ยงผิดกฎหมายและการโฆษณาที่ไม่เป็นธรรมกับประชาชน รวมทั้ง กสทช. ยังได้ทำงานร่วมกับ อย. และกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.)
ขณะที่ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้มีการเฝ้าระวังตลอดว่ามีธุรกิจใดดำเนินการผิดกฏหมายอีกหรือไม่ สำหรับมาตรการเร่งด่วนขณะนี้ จากข้อมูลที่ได้รับ ทราบมีผู้ประกอบการธุรกิจขายตรง 693 ราย ผู้ประกอบการธุรกิจแบบตรง 935 ราย และรัฐบาลมีการดำเนินการควบคุมเรื่องการโฆษณาที่เกินความเป็นจริง และได้เสนอให้การกำหนดมาตรการปฏิบัติให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น รงมทั้งยังมีการสร้างมาตรฐานในการโฆษณาเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการเอาเปรียบผู้บริโภคด้วย
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ยังยืนยันว่า ขณะนี้ได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อสืบหาข้อเท็จจริง และมีการตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมา 2 ชุด โดยชุดแรก คือ เป็นการนำสืบค้นหาข้อมูลเชิงลึกทั้งหมดเพื่อประกอบการพิจารณา ส่วนชุดที่ 2 เป็นการดำเนินการหามาตรการแก้ไขเรื่องนี้ในอนาคต ซึ่งคณะอนุกรรมการทั้ง 2 คณะ จะเข้ามารายงานต่อคณะกรรมการชุดใหญ่ ตามกรอบเวลาที่กำหนดไว้ คือ 7 วัน และหากพบว่าใครที่มีส่วนเกี่ยวข้อง รัฐบาลจะดำเนินการอย่างเด็ดขาด พร้อมยืนยันว่า รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจและให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เนื่องจากเป็นเรื่องที่กระทบกับประชาชนเป็นวงกว้าง