’ศึกษาธิการ – มหาดไทย‘ จับมือ กสศ. ลงนาม MOU แก้ปัญหาเด็กและเยาวชนหลุดออกจากระบบการศึกษา
’ศึกษาธิการ – มหาดไทย‘ จับมือ กสศ. ลงนาม MOU แก้ปัญหาเด็กและเยาวชนหลุดออกจากระบบการศึกษา “Thailand Zero Dropout” วางเป้า 4 ปี เด็กหลุดออกนอกระบบต้องเหลือ 0 ‘เพิ่มพูน‘ประกาศชัด ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ย้ำ เป็นโครงการที่คุ้มค่า จะเสียเท่าไหร่ก็เสีย แต่เด็กต้องได้โอกาสทางการศึกษา
วันนี้ (28 มิ.ย. 67) เวลา 13:00 น. ที่หอประชุมคุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาให้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษา หรือได้รับการส่งเสริมการเรียนรู้ตามศักยภาพ (Thailand Zero Dropout) ระหว่างกระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงแรงงาน กระทรวงยุติธรรม กรุงเทพมหานคร สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) และกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ขึ้นกล่าวรายงานวัตถุประสงค์การลงนามฯ ระบุว่า สืบเนื่องจากการมอบนโยบายของนายกรัฐมนตรีแก่ กสศ. ในช่วงที่รัฐบาลเข้ามาบริหารประเทศ ให้ กสศ. บูรณาการร่วมงานกันกับกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เชื่อมฐานข้อมูลรายบุคคลประชากรเยาวชนทั้งหมดของประเทศไทย ในการค้นหาเด็กที่อยู่นอกระบบการศึกษา ให้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษา และการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งถือว่าเป็นภารกิจที่สำคัญในการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ที่เป็นนโยบายที่แถลงต่อรัฐสภาของรัฐบาล
ภายหลังจาก 4 หน่วยงานได้ดำเนินการดังกล่าวแล้ว และนำเสนอผลการดำเนินการขั้นต้นแก่นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้รับทราบลงนามเมื่อวันที่ 13 ม.ค. 67 ที่ผ่านมา จึงเป็นที่มาของการประกาศเป้าหมาย Thailand Zero Dropout ของนายกรัฐมนตรี ที่มีเป้าหมายในการค้นหา และพาเด็กกลับเข้าสู่ระบบการศึกษา พร้อมลดจำนวนเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษาให้เหลือศูนย์ เพื่อเป็นของขวัญให้แก่เด็กและเยาวชนทุกคนในงานวันเด็กแห่งชาติ จึงถือเป็นการประกาศพันธะสัญญาทางสัมคมของรัฐบาลในการสร้างหลักประกันทางการศึกษา เพื่อความเสมอภาคแก่เด็กและเยาวชนไทยทุกคนที่แสดงเห็นถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลในการส่งเสริมเด็กทุกคนให้เข้าสู่ระบบการศึกษา
โดยรัฐบาลจะสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำของปัญหาทางการศึกษาผ่านการเชื่อมโยงข้อมูลทะเบียนนักเรียนรายบุคคลที่ออกจากระบบการศึกษา ให้กลับเข้าสู่ระบบได้พร้อมส่งเสริมการพัฒนาที่ยืดหยุ่นเพื่อทางเลือกที่ตรงต่อความต้องการ และวิถีชีวิตของผู้เรียนเป็นรายบุคคล โดยมุ่งเน้นการพัฒนาสมรรถนะ ทักษะ อาชีพ และทักษะชีวิต เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กเยาวชนเหล่านี้ได้หลุดออกจากระบบการศึกษาอีกครั้ง
ทั้งนี้ การแก้ปัญหาจะเกิดขึ้นไม่ได้ หากไม่ได้รับความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงเป็นที่มาของพิธีลงนามข้อตกลงดังกล่าว เพื่อแก้ไขปัญหาเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษา โดยมีบันได 5 ขั้นในการทำงานที่อยู่ในข้อตกลงครั้งนี้ ได้แก่
ขั้นที่ 1 การสำรวจข้อมูลเด็กที่นอกระบบการศึกษา เพื่อพากลับเข้ามาจากทุกๆ พื้นที่อย่างต่อเนื่อง
ขั้นที่ 2 การติดตามช่วยเหลือเด็กที่ Dropout ให้ได้รายบุคคลผ่านเครือข่ายสหวิชาชีพ
ขั้นที่ 3 เด็กและเยาวชนที่กลับเข้าสู่ระบบการศึกษาจะได้รับการพัฒนาที่มีความยืดหยุ่นมีทางเลือกที่ตอบโจทย์ชีวิต
ขั้นที่ 4 เด็กและเยาวชนที่ได้รับการส่งต่อในกระบวนการนี้ จะได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชนและหุ้นส่วนทางการศึกษาในเครือข่ายระดับภาคพื้นที่เพื่อเป็นการระดมทรัพยากรทุกภาคส่วนของประเทศไทยในการสนับสนุนมาตรการนี้ของรัฐบาล
ขั้นที่ 5 คือเด็กเยาวชนที่ได้กลับเข้าสู่เส้นทางแห่งการเรียนรู้แล้วจะเป็นกำลังสำคัญของประเทศขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม ให้เป็นไปตามเป้าหมายของรัฐบาลต่อไป
อย่างไรก็ตาม การบรรลุเป้าหมายในวันนี้ไม่ใช่ผลจากเพียงหน่วยงานของรัฐเท่านั้น ที่ลงนามในบันทึกข้อตกลงในวันนี้ ครม. ยังสนับสนุนมาตรการสนับสนุนให้มีการแรงจูงใจทางภาษีให้ภาคเอกชนต่างๆ เข้ามาสนับสนุน และบรรลุเป้าหมายของรัฐบาลดังกล่าว การดำเนินการในโครงการ Thailand Zero Dropout จะเป็นอีกหนึ่งนโยบายที่สำคัญของรัฐบาลที่ทำให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายที่ยั่งยืน และสนับสนุนให้คนไทยหลุดออกจากกับดักความยากจนข้ามรุ่น และพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในระยะยาว
ด้าน พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นผู้แทนของรัฐบาล ขึ้นแถลงความร่วมมือมาตราการขับเคลื่อนประเทศไทยเพื่อปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาให้กลายเป็นศูนย์ ว่า วันนี้ถือเป็นอีกวันที่เป็นความก้าวหน้าครั้งประวัติศาสตร์ของวงการการศึกษาไทย ที่รัฐบาลได้กำหนดให้มีการแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษา ที่แสดงให้ประชาคมทั้งในไทย และระดับนานาชาติ เห็นว่า รัฐบาลประเทศไทยให้ความสำคัญต่อความเสมอภาคทางการศึกษา และการพัฒนาประชากรเด็กทุกคนอย่างแท้จริง
ภายหลังเสร็จสิ้นการลงนาม MOU พล.ต.อ.เพิ่มพูน ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า เรื่องการนำเด็กกลับเข้าสู่ระบบ เป็นเรื่องที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ซึ่ง กสศ. ดำเนินการร่วมกับหน่วยงานการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการมาโดยตลอด แต่ยังไม่ได้ผลสัมฤทธิ์ดีที่เท่าควร กสศ. จึงได้ดำเนินการ และเสนอ ครม. ก่อนที่จะมีมติในการที่จะให้มีความร่วมมือกันขับเคลื่อน โดยเฉพาะเรื่องข้อมูล ที่จะนำมาให้ครบถ้วน เพื่อจะคิดว่าทำอย่างไรถึงจะแก้ปัญหา และดึงเด็กกลับเข้ามาในระบบ
ในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการ ก็จะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปสแกนหาเด็กที่หลุดออกจากระบบในแต่ละพื้นที่ และดึงกลับเข้ามาในระบบ สพฐ. แต่หากไม่ประสงค์ที่จะเข้า หรือดำเนินการได้ เราก็จะให้การเรียนการสอนที่เป็นการศึกษานอกระบบ และมอบหมายให้หน่วยงานไปสแกนหาเด็กที่ไม่อยู่ในระบบการศึกษาภาคบังคับทุกช่วงวัย เพื่อค้นหา และดำเนินการเพิ่มเติม
ส่วนปัจจัยที่เด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา เกิดจากภาวะยังไม่มีความสุขเท่าที่ควร เช่นเรื่องค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่จะเข้าไปช่วยเหลือเติมเต็มให้กับเด็ก เพื่อที่สร้างความสุขให้กับเด็ก ไม่สร้างภาระให้กับครอบครัว รวมถึงปัญหาเศรษฐกิจ ที่ทำให้ครบครัวของเด็กไม่มีงาน ทำให้ต้องย้ายออกจากพื้นที่ และอีกหลายปัจจัย
ขณะที่ ดร.ไกรยส กล่าวเสริมถึงเรื่องกรอบระยะเวลาในการดำเนินการว่า เราได้รับนโยบายจากนายกรัฐมนตรี ภายในกรอบระยะเวลาของรัฐบาล 4 ปีข้างหน้า ที่จะต้องพยายามดึงตัวเลขเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษาให้ใกล้เคียงกับศูนย์ให้ได้มากที่สุด ซึ่งวางเป้าหมายถึงปี 70 เป็นอย่างน้อย โดยในกรอบงบประมาณ ปี 68 ที่ตั้งงบฯ ในกรอบนี้ไป ซึ่งเราก็หวังว่าจะได้รับการสนับสนุนที่จะร่วมกับหน่วยงานที่ลงนาม เพื่อใช้ผลักดันในระยะเวลา 4 ปีข้างหน้าของรัฐบาลนี้
ส่วนภารกิจของ กสศ. คือการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา เป็นครั้งแรกภายใต้ความร่วมมือในการลงนามครั้งนี้ พบได้ว่าเด็กที่ยังไม่เข้าไปอยู่ในระบบการศึกษาในสังกัดกี่คน การที่พบตัว และพาตัวกลับเข้าสู่ระบบการศึกษา เป็นหัวใจในการทำงานเชิงกลยุทธ์ที่ กสศ. จะต้องทำงานร่วมกับต้นสังกัดที่มีหน่วยงานดูแลอยู่แล้ว จึงเป็นเครื่องมือสำคัญด้านข้อมูล และความร่วมมือที่จะต้องได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชน เพื่อบรรลุเป้าของรัฐบาลร่วมกัน
พล.ต.อ.เพิ่มพูน ยังขอให้เชื่อมั่นในรัฐบาล เพราะนายกฯ ก็พยายามจะทำให้ครบทั้งประเทศในการขับเคลื่อน และอยากให้เกิดขึ้นโดยเร็ว ในการสแกนหาเด็กที่หลุดออกจากระบบ ซึ่งจะต้องมีการติดตามเชื่อมโยงข้อมูล โดยสิ่งสำคัญคือการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เชื่อมโยงข้อมูล และพยายามจะให้เป็นศูนย์ให้ได้ แม้จะตั้งเป้าไว้ 4 ปี และจะต้องเป็นศูนย์ภายใน 4 ปีให้ได้
ทั้งนี้ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ยืนยันว่า โครงการนี้คุ้มค่าอย่างแน่นอน เพราะเด็กเป็นทรัพยากรที่สำคัญของประเทศ ซึ่งตรรกะของเราได้เด็กเพียงแค่คนเดียวก็คุ้มแล้ว ซึ่งเราจะไม่ปล่อยใครไว้สักหลัง จะเสียเท่าไหร่ก็เสีย แต่จะต้องให้ทุกคนมีโอกาสทางการศึกษา และจะต้องมีมาตรการในการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ที่เด็กไม่มีความเสมอภาคทางการศึกษา กสศ. จะเข้ามาช่วยเหลือเติมเต็มตรงนี้ “ถือว่าคุ้ม จะหมดเท่าไหร่ก็ต้องหมด เพื่อการศึกษาเด็กๆ ของเรา“