POLITICS

‘ชัชชาติ’ จับมือ นายกอ๋า ถกปมภาษีที่ดิน ค้าน พ.ร.บ.ถอดถอนท้องถิ่นฯ

‘ชัชชาติ’ จับมือ นายกอ๋า ถกปมภาษีที่ดิน ค้าน พ.ร.บ.ถอดถอนท้องถิ่นฯ ยกยะลา-กทม.เป็นเมืองมิตร ดึงวงซิมโฟนียะลาร่วมงานดนตรีในสวนเดือนหน้า!

วันนี้ (28 มิ.ย.65) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประชุมร่วมกับสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย เพื่อหารือขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองและเครือข่ายผู้บริหารเมือง ประเด็นด้านการกระจายอำนาจ และภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โดยมีนายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนครยะลา เป็นตัวแทนเข้าหารือ

โดยนายชัชชาติ ระบุว่า การหารือวันนี้เป็นการพูดคุยเกี่ยวกับการทำงานของท้องถิ่น ซึ่งกรุงเทพมหานครสมาชิกสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทยด้วย มองว่าเทศบาลและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมักพบปัญหาเหมือนกัน จึงต้องร่วมมือเข้าไปแก้ปัญหาให้ประชาชน

โดยเทศบาลยะลา กับ กทม.จะทำสัญญาเป็นเฟรนด์ชิพซิตี้ หรือเมืองที่เป็นมิตรต่อกัน โดย กทม.จะเชิญวงดนตรีซิมโฟนีของยะลามาร่วมกิจกรรมดนตรีในสวน นอกจากนี้ยังมีแผนสร้างเครือข่ายที่เป็นมิตรอีกหลายเทศบาล เพื่อทำให้เห็นว่าพลังท้องถิ่นสำคัญไม่แพ้รัฐบาลกลาง

ส่วนกฎหมายการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างถือเป็นเรื่องใหญ่สำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพราะที่ผ่านมาถูกลดการจัดเก็บเหลือร้อยละ 10 ทำให้รายได้หายไปจำนวนมาก เช่น ปี 2563 รายได้หายไปมากกว่า 19,000 ล้านบาท ส่งผลให้แต่ละท้องถิ่นมีปัญหาเรื่องงบประมาณ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจึงจะรวมตัวกันเพื่อเสนอข้อเรียกร้องไปยังรัฐบาล

ขณะที่ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การเข้าชื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. … จะส่งผลให้การทำงานลำบากขึ้น เช่น การเข้าชื่อถอดถอน สามารถทำได้ตั้งแต่ 6 เดือนที่ผู้บริหาร และสมาชิกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทำหน้าที่ อีกทั้งใช้ชื่อผู้ร่วมถอดถอนไม่มาก ซึ่งแตกต่างจาก สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ไม่มีกฎหมายมาควบคุม จากนี้จะต้องดูรายละเอียด หารือกับสมาชิกปกครองส่วนท้องถิ่น พร้อมเสนอข้อสังเกตไปยังสภาผู้แทนราษฎรต่อไป

นายพงษ์ศักดิ์ กล่าวว่า กทม.ถือเป็นสมาชิกในฐานะผู้ก่อตั้งสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย ตั้งแต่ในสมัยผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครท่านแรกที่มีการใช้ตำแหน่งว่า นายกเทศมนตรี กทม. กระทั่งปัจจุบัน กทม.ก็ยังเป็นสมาชิกอยู่ ขอแสดงความยินดีกับนายชัชชาติ ในการรับตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่ โดยได้หารือเกี่ยวกับการบริหารงาน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ประกอบด้วย กทม. เมืองพัทยา เทศบาล องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) และองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ซึ่งเป็นองค์กรปกครองท้องถิ่นที่ใกล้ชิดประชาชน

สิ่งหนึ่งที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีปัญหาคล้ายกัน คือ การกระจายอำนาจโดยเฉพาะปัญหาเรื่องการเงินการคลัง เช่น การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พร้อมตั้งข้อสังเกตกับ พ.ร.บ.ถอดถอนผู้บริหารท้องถิ่น 3 ประเด็น

1.ความลักลั่นในการใช้กฎหมาย เพราะบังคับใช้เฉพาะผู้บริหาร สมาชิกองค์กรส่วนปกครองท้องถิ่น แต่ผู้บริหารระดับชาติไม่มี พ.ร.บ.นี้ควบคุม

2.ระยะเวลายื่นถอดถอนผู้บริหารท้องถิ่นลภายใน 6 เดือนหลังเลือกตั้ง ประชาชนมีสิทธิยื่นถอดถอนด้วยจำนวนผู้ยื่นร้อยละ 10 จากผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งทังหมด หากยื่นถอดถอนแล้ว ไม่มีความผิด ก็สามารถยื่นถอดถอนได้ใหม่ ทั้งที่ความเป็นจริงหากสอบสวนว่าไม่ผิด เรื่องต้องจบ

3.เมื่อเปรียบเทียบกับการเมืองระดับชาติ จะเห็นว่า ชเมื่อ กกต.มีความเห็นว่ากระทำความผิดต้องส่งฟ้องให้ศาลวินิจฉัย แต่ พ.ร.บ.ถอดถอนท้องถิ่นฯ กระบวนการจบที่ผู้กำกับ ไม่มีการฟ้องศาลต่อ หาก กทม.พบว่า มีความผิด ผู้มีอำนาจถอดถอนคือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง มหาดไทย หากเป็นเทศบาลก็จะจบที่ชั้นผู้ว่าราชการจังหวัด สะท้อนให้ว่าการวินิจฉัยไม่มีการถ่วงดุลอำนาจ

Related Posts

Send this to a friend