กต.ชี้ การส่งตัวชาวอุยกูร์กลับเป็นการตัดสินใจของ ‘สมช.‘ เชื่อว่ามีการคิดถี่ถ้วนแล้ว
กต. ยัน ไม่มีดีลลับหลังม่าน ระหว่างรัฐบาล 3 ประเทศ เผย บางประเทศไม่มีสถานทูตในไทย ถือเป็นความท้าทายในการส่งตัวกลับ ชี้ การส่งตัวชาวอุยกูร์กลับเป็นการตัดสินใจของ ‘สมช.‘ เชื่อว่ามีการคิดถี่ถ้วนแล้ว
วันนี้ (28 ก.พ. 68) นายนิกรเดช พลางกูร อธิบดีกรมสารนิเทศ และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ตอบคำถามสื่อมวลชนเกี่ยวกับผลการประชุมระดับรัฐมนตรี 3 ฝ่าย ไทย-เมียนมา-จีน ว่าจะมีการดำเนินการส่งตัวชาวต่างชาติที่ตกเป็นเหยื่อแก๊งคอลเซ็นเตอร์กลับประเทศต้นทางอย่างต่อเนื่องในสัปดาห์หน้า โดยขณะนี้หลายประเทศได้แสดงความพร้อมรับตัวพลเมืองของตน ซึ่งทางการเมียนมาได้แจ้งรายชื่อมายังไทย ก่อนเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติและประสานไปยังกระทรวงการต่างประเทศและสถานทูตของแต่ละประเทศให้มารับตัว โดยที่ผ่านมา อินโดนีเซียและตุรกีได้ดำเนินการรับตัวพลเมืองของตนไปบางส่วนแล้ว
นายนิกร กล่าวถึงความท้าทายในการให้ความช่วยเหลือชาวต่างชาติที่ตกเป็นเหยื่อค้ามนุษย์ว่า ขณะนี้มีชาวต่างชาติรอการส่งตัวกลับมากถึง 7,000 คน ซึ่งเป็นจำนวนที่ต้องมีการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ นอกจากนี้ ยังมีบางกลุ่มที่ไม่ยินยอมเดินทางกลับ หากการส่งตัวถูกดำเนินการโดยทางการเมียนมาเอง จึงร้องขอให้ไทยจัดเตรียมเครื่องบินสำหรับเดินทางกลับโดยตรง อย่างไรก็ตาม กระบวนการส่งตัวต้องเริ่มจากการพิสูจน์สัญชาติ ซึ่งเป็นหน้าที่ของทางการเมียนมา จากนั้นจึงประสานไปยังสถานทูตของแต่ละประเทศ
อย่างไรก็ตาม ปัญหาหนึ่งที่เกิดขึ้นคือ บางประเทศ โดยเฉพาะในทวีปแอฟริกา ไม่มีสถานทูตตั้งอยู่ในประเทศไทย ทำให้การติดต่อประสานงานเพื่อส่งตัวกลับเป็นไปได้ยากขึ้นและต้องอาศัยความร่วมมือกับประเทศปลายทางเป็นหลัก
เมื่อถูกถามถึงผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการส่งตัวชาวต่างชาติกลับประเทศ นายนิกรระบุว่า ขณะนี้ไทยยังคงรับภาระค่าใช้จ่ายบางส่วน แต่มีความจำเป็นต้องจำกัดจำนวนชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในไทยผ่านพรมแดนเพื่อรอขึ้นเครื่องเดินทางกลับ ทั้งนี้ หากสถานทูตของประเทศต้นทางสามารถมารับตัวพลเมืองของตนได้โดยตรง ก็จะช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของไทยลง
ส่วนการจัดการกับเครือข่ายแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่อยู่ตามแนวชายแดนอื่น ๆ ของไทย นายนิกรระบุว่า หลังจากที่นายกรัฐมนตรีเดินทางไปยังอำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว ซึ่งเป็นชายแดนติดกับกัมพูชา แม้ว่ากัมพูชาจะไม่ได้อยู่ในที่ประชุมไตรภาคีครั้งนี้ แต่ทางรัฐบาลไทยได้หารือทวิภาคีกับกัมพูชาเกี่ยวกับแนวทางปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติร่วมกันแล้ว
โฆษกกระทรวงการต่างประเทศย้ำว่า การประชุมร่วมระหว่างไทย-เมียนมา-จีน เป็นไปเพื่อหารือแนวทางปราบปรามอาชญากรรมทางโทรคมนาคม ไม่มีข้อตกลงลับหรือดีลใด ๆ ที่ซ่อนเร้นอยู่เบื้องหลัง
สำหรับกรณีการส่งตัวชาวอุยกูร์กลับประเทศต้นทาง นายนิกรชี้แจงว่า ขณะนี้ยังไม่มีการเชิญตัวแทนจากสถานทูตประเทศอื่น ๆ หรือหน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชนมาร่วมหารือ โดยการตัดสินใจในเรื่องนี้อยู่ภายใต้การพิจารณาของสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ซึ่งเชื่อว่ามีการพิจารณาอย่างรอบคอบแล้ว ทั้งในด้านหลักสิทธิมนุษยชนและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น
“เมื่อมีความชัดเจนมากกว่านี้ อาจมีการเชิญคณะทูตเข้ามารับฟังการชี้แจงเพิ่มเติม แต่ในขณะนี้ยังไม่สามารถยืนยันได้” นายนิกรกล่าว
นอกจากนี้ นายนิกรยังกล่าวถึงท่าทีของรัฐบาลต่อกรณีดังกล่าวว่า ได้มีการพิจารณาในกรอบของกระทรวงการต่างประเทศอย่างรอบด้าน และสอดคล้องกับสิ่งที่นายภูมิธรรม พงษ์ภาณุภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้กล่าวไว้ก่อนหน้านี้ว่า การตัดสินใจของรัฐบาลเป็นไปเพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศและปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชน