POLITICS

‘พริษฐ์’ เผยหลังหารือ ประธานสภาฯ ย้ำ ทำประชามติ 2 ครั้งเพียงพอ

เสนอเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจ ด้าน ‘วันนอร์’ ให้ยื่นร่างแก้ไข รธน. เพิ่มหมวด สสร. เข้ามาใหม่อีกครั้ง ขอรัฐบาล แสดงความเต็มที่ รักษาสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชน

วันนี้ (27 พ.ย. 67) ที่อาคารรัฐสภา นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) แบบบัญชีรายชื่อพรรคประชาชน ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ภายหลังการร่วมหารือกับนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา เกี่ยวกับกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ว่า วันนี้เป็นการประชุมหารือกันระหว่างคณะกรรมาธิการฯ และประธานรัฐสภาเกี่ยวกับเรื่องการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยข้อถกเถียงหลักอย่างหนึ่งเกี่ยวกับกระบวนการนี้ คือเรื่องจำนวนในการทำประชามติ ในส่วนของกฎหมาย หรือคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งกำหนดไว้ให้ต้องทำอย่างน้อย 2 ครั้ง หรือ 3 ครั้งนั้น มาถึงวันนี้ ความเห็นต่างในการตีความคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564 ก็ยังคงมีอยู่

นายพริษฐ์ กล่าวอีกว่า เรามีข้อมูลเพิ่มเติม 2 อย่าง ที่ได้พูดคุยกับประธานสภาและทีมในวันนี้ คือ หากดูตามความเห็นส่วนบุคคลของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ทั้ง 9 คน ประกอบคำวินิจฉัย ที่ 4/2564 นั้น จะเห็นว่าเสียงส่วนใหญ่ของตุลาการเขียนไว้ค่อนข้างชัดเจน ว่าการทำประชามติ 2 ครั้งนั้นเพียงพอแล้ว และข้อมูลที่มาจากการประชุมหารืออย่างไม่เป็นทางการกับประธานศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยเมื่อได้นำข้อมูล 2 ชุดนี้ หารือกับประธานสภาได้ข้อสรุปว่า หากจะให้คณะกรรมการประสานงานมีการวินิจฉัยเรื่องนี้อีกครั้งหนึ่ง จะต้องมีการยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยมีเนื้อหาเพิ่มหมวด 15/1 เกี่ยวกับการมีสภาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) เพื่อมาจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เข้าสู่สภาอีกรอบหนึ่ง

หลังจากนี้ จะไปหารือกับ สส.พรรคประชาชน เพื่อยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่งจะทำให้คณะกรรมการประสานงาน มีโอกาสในการวินิจฉัยอีกครั้งว่า ตกลงแล้วจำเป็นจะต้องมี การทำประชามติเพิ่มขึ้นมาเป็นครั้งที่ 3 หรือสามารถทำ 2 ครั้งเพียงพอ และเรามีความหวังว่า ข้อมูลใหม่ที่ได้นำมาในวันนี้ จะเพียงพอในการทำให้คณะกรรมการประสานงานวินิจฉัยว่า 2 ครั้งเพียงพอ

ส่วนจะทันการเลือกตั้งครั้งหน้าหรือไม่นั้น รัฐบาลเคยสัญญาไว้กับประชาชนว่า จะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ทันก่อนการเลือกตั้งครั้งถัดไป หากย้อนไปตอนที่พรรคเพื่อไทยฉีกเอ็มโอยูกับอดีตพรรคก้าวไกล แล้วมีการจัดตั้งรัฐบาล ก็ได้มีแถลงการณ์ออกมา ระบุว่า ต้องการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ให้เสร็จก่อนการเลือกตั้ง และเมื่อจัดทำเสร็จแล้ว จะมีการยุบสภา เพื่อคืนอำนาจให้กับประชาชนด้วยซ้ำ

ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นการตีความเจตนารมณ์ของแถลงการณ์นั้น หรือการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาของรัฐบาลชุดนี้ จะเห็นชัดว่า เป็นเป้าหมายที่รัฐบาลได้สัญญาไว้ แต่มาถึงวันนี้ ชัดเจนว่า หากรัฐบาลเดินตามแผนเดิม ที่จะมีการทำประชามติ 3 ครั้ง โดยไม่ริเริ่มครั้งแรก จนกว่าจะมีการแก้พระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติเสร็จนั้น เป้าหมายดังกล่าวก็มีโอกาสเป็นจริงน้อยมาก

ฉะนั้น จึงเห็นว่า หนทางเดียวที่จะทำให้เป้าหมายดังกล่าวเป็นจริงได้ คือการลดจำนวนการทำประชามติจาก 3 เป็น 2 ครั้ง ซึ่งความพยายามที่ผ่านมาในการเข้าพบกับประธานศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อขอความชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องความวินิจฉัยศาล รวมถึงการหารือกับประธานสภาวันนี้ ให้อาจจะมีการทบทวนการตีความคำวินิจฉัย และบรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับ สสร. จะต้องทำอย่างไรนั้น ก็ล้วนเป็นความพยายามของตนในฐานะประธานคณะกรรมาธิการฯ เพื่อให้เรามีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ใช้ทันการเลือกตั้งครั้งถัดไป

ส่วนเสียงจากทางแกนนำรัฐบาลเห็นว่าอาจจะไม่ทัน ตนเองมองว่าหากเดินตามแผนเดิม โอกาสทันก็น้อย นี่เป็นข้อเท็จจริง แต่สิ่งที่ตนเองอยากเห็น คือความมุ่งมั่นของรัฐบาลในการพยายามรักษาสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชน เพราะเป้าหมายเรื่องการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ เป็นเป้าหมายที่เป็นนโยบายของรัฐบาล และเป็นเป้าหมายที่แกนนำพรรคฝ่ายค้าน หรือพรรคประชาชน เห็นไปในทิศทางเดียวกัน

นายพริษฐ์ กล่าวต่อว่า วันนี้ตนเองสวมหมวก 2 ใบ เป็น สส.ของพรรคประชาชน ซึ่งเป็นแกนนำของฝ่ายค้าน ที่อยากเห็นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เกิดขึ้นจริง รวมถึงในฐานะประธานคณะกรรมาธิการฯ ด้วย จึงพยายามทำเรื่องนี้อย่างเต็มที่ และอยากเห็นรัฐบาลมาร่วมมือกัน

ส่วนจะมีการหารือกับแกนนำพรรครัฐบาลด้วยหรือไม่นั้น ความจริงตอนเราออกหนังสือขอเข้าพบ เราได้ออกหนังสือ 3 ฉบับ พร้อมกัน คือ 1.นายกรัฐมนตรี 2.ประธานสภา และ 3.ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งได้เข้าพบไปแล้ว 2 ท่าน เหลือเพียงกันรอคำตอบกลับจากนายกรัฐมนตรีอยู่ว่า จะให้เข้าพบเมื่อไหร่ เนื่องจากการให้สัมภาษณ์ของนายกรัฐมนตรีก่อนหน้านี้ ก็เคยระบุว่า ไม่ติดที่จะให้มีการเข้าพบ แต่วันนี้ยังไม่ได้รับคำตอบใดๆ กลับมาจากนายกรัฐมนตรี เพราะฉะนั้น นี่เป็นเจตนาของเราอยู่แล้ว ในการพูดคุยกันกับฝ่ายบริหาร แต่อยู่ที่ว่าฝ่ายบริหารจะพร้อมให้เราเข้าไปพูดคุยเมื่อไหร่

เมื่อถามว่าหากเดินตามไทม์ไลน์ใหม่ ซึ่งคือการทำประชามติ 2 ครั้ง ประเมินว่าจะเห็น สสร. ใหม่ ทันปี 68 หรือไม่ นายพริษฐ์ กล่าวว่า ตัวแปรที่จะกำหนดกรอบเวลามีมาก พร้อมยกตัวอย่างว่า หากสมมุติมีการยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เพิ่มหมวดเกี่ยวกับ สสร.เข้าสู่สภาแล้ว หากคณะกรรมการประสานงาน และประธานสภา ตัดสินใจบรรจุในรอบนี้ ก็จะทำให้เข้าสู่การพิจารณาในวาระ 1 ได้ทันที ซึ่งหาก เปิดสมัยประชุมสภาในช่วงปลายปีนี้ หรือเดือนธันวาคม และสามารถทำให้เข้าได้ทันทีนั้น ก็มีความเป็นไปได้ว่า อาจจะผ่าน 3 วาระ ภายใน 3-6 เดือน และหากเป็นเช่นนั้น ประชามติรอบแรกก็จะเกิดขึ้นหลังผ่านวาระ 3 ซึ่งอาจจะเป็นช่วงหลังของปี 68 และเมื่อประชามติผ่านแล้ว อาจจะต้องมีกระบวนการการเลือกตั้ง สสร. โดยหากทำทุกอย่างให้เสร็จได้ภายในปี 68 สสร.จะมีเวลาในปี 69 เพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และทำให้เราสามารถนำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้น ไปทำประชามติรอบที่ 2 ในช่วงต้นปี 70 ก็จะทันก่อนการเลือกตั้งครั้งต่อไป ดังนั้น ตนอยากเห็นความมุ่งมั่นของรัฐบาลในการร่วมรักษาสัญญา

ส่วนประธานสภาได้มีการระบุถึงการประชุมร่วมกันของวิป 3 ฝ่ายหรือไม่นั้น นายพริษฐ์ ชี้ว่า ต้องแยกเป็น 2 ส่วน คือ ร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขรายมาตรา ซึ่งถูกบรรจุเข้าระเบียบวาระการประชุมแล้ว เป็นหน้าที่ของวิป 3 ฝ่ายที่ต้องหารือกันว่า จะมีการประชุมในวันไหน และจะนำร่างไหนเข้าก่อนหรือหลัง แต่เรื่องร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับ สสร. ตอนนี้ยังไม่ถึงขั้นตอนนั้น เพราะต้องให้ประธานสภาบรรจุก่อน วันนี้เราจึงอยากให้มีการทบทวนใหม่

สำหรับกรณีที่พรรคประชาชนจะยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าไปใหม่ จะเป็นร่างเดิมหรือไม่ คงต้องมีการหารือกันก่อน แต่เวลานี้ยังไม่มีเหตุผลอะไรที่จะต้องปรับจากร่างเดิม สำหรับเหตุผลของประธานสภาที่ทำให้ต้องมีการยื่นใหม่ ทั้งที่มีร่างเดิมค้างอยู่ 2 ฉบับนั้น เป็นเพราะมีการวินิจฉัยไปแล้วเกี่ยวกับร่างนั้น ว่าไม่บรรจุ ดังนั้น เรื่องนั้นถือว่าสิ้นสุดไปแล้ว แม้จะมีข้อมูลใหม่ที่ได้มา ก็ไม่สามารถเปลี่ยนคำวินิจฉัยได้

ด้านว่าที่ร้อยตำรวจตรี อาพัทธ์ สุขะนันท์ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร กล่าวเสริมว่าตนเองในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงาน และเสนอความเห็นต่อประธานสภา ก็ได้รับข้อมูลใหม่ให้คณะกรรมการนำไปทบทวน หากมีการเสนอร่างจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ พร้อมได้ส่งมอบความเห็นเพิ่มเติมที่ได้รับจากศาลรัฐธรรมนูญ ประธานสภาจึงมีดำริว่า ให้คณะกรรมการนำข้อมูลส่วนนี้ไปประกอบคำวินิจฉัยเดิม ส่วนจะเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญร่างเดิมได้หรือไม่นั้น แล้วแต่ท่านผู้เสนอ

เมื่อถามว่าประธานสภาให้เหตุผลอะไร ทำให้ความเห็นของฝ่ายกฎหมายของสภา มีน้ำหนักมากกว่าความเห็นของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมากที่บอกว่าให้ทำประชามติสองครั้ง

ว่าที่ร้อยตำรวจตรีอาพัทธ์ ระบุว่า ประธานสภาเพียงมอบโจทย์ใหม่จากข้อมูลที่เปลี่ยนไปให้เป็นดุลย์พินิจของคณะกรรมการแต่ละคน ซึ่งมีทั้งผู้บริหาร และผู้ที่เกี่ยวข้องกับฝ่ายกฎหมายของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรที่นำมาพิจารณา คณะกรรมการดังกล่าวมีจำนวนประมาณ 10 กว่าคนที่เสนอความเห็นมา มีรองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ผู้อำนวยการสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย โดยคณะกรรมการชุดดังกล่าวมีมาตั้งแต่สภาผู้แทนราษฎรชุดที่แล้ว ซึ่งคณะกรรมการมีหน้าที่เพียงให้ความเห็นประกอบ แต่ผู้ใช้ดุลยพินิจคือประธานสภา และส่วนใหญ่ท่านจะ มีความเห็นคล้อยตามที่คณะกรรมการเสนอไปเป็นส่วนมาก

ว่าที่ร้อยตำรวจตรี อาพัทธ์ ระบุอีกว่า ตนเองรับปากกับนายพริษฐ์ไปต่อหน้าประธานสภา ว่าจะนำความเห็นของประธานศาลรัฐธรรมนูญมาร่วมพิจารณาด้วย และถ้ามีโอกาสจะเชิญนายพริษฐ์ และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง เข้าไปร่วมให้ข้อมูลด้วย

Related Posts

Send this to a friend