POLITICS

ประกาศแล้ว หลักเกณฑ์ให้คำปรึกษา ก่อนยุติการตั้งครรภ์

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง การตรวจและรับคำปรึกษาทางเลือกในการยุติการตั้งครรภ์ ตามมาตรา 305 (5) แห่งประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2565 โดยได้เผยแพร่ในในราชกิจจานุเบกษาเมื่อที่ 26 ก.ย. 65 และจะมีผลบังคับเมื่อพ้น 30 วันนับแต่วันประกาศ

โดยประกาศฉบับนี้ ได้การวางแนวปฏิบัติ รองรับมาตรา 305 (5) แห่งประมวลกฎหมายอาญาที่กำหนดให้ หญิงซึ่งมีอายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ แต่ไม่เกิน 20 สัปดาห์ สามารถยุติการตั้งครรภ์ได้โดยไม่ถือเป็นความผิดทางอาญา แต่หญิงนั้นต้องได้รับคำปรึกษาจากผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมและผู้ประกอบวิชาชีพอื่นตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประกาศกำหนดโดยคำแนะนำแพทยสภาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ เพื่อให้หญิงนั้นได้รับข้อมูลที่รอบด้านก่อนการตัดสินใจยุติการตั้งครรภ์

น.ส. ไตรศุลี กล่าวว่า ตามประกาศฯ ได้กำหนดขั้นตอนการเข้ารับคำปรึกษาทางเลือก โดยหญิงซึ่งมีอายุครรภ์ตามกำหนดสามารถแจ้งความประสงค์ต่อหน่วยบริการปรึกษาทางเลือก (ซึ่งกรมอนามัยจะประกาศรายชื่อให้ทราบต่อไป) เพื่อเข้ารับคำปรึกษาโดยจะแจ้งผ่านช่องทางใดช่องทางหนึ่งก็ได้ ทั้งแจ้งด้วยตนเอง เป็นหนังสือ ทางโทรศัพท์ หรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์

โดยหากหน่วยบริการฯ ดำเนินการตรวจวินิจฉัยอายุครรภ์แล้ว 1) อายุครรภ์ เกิน 12 สัปดาห์ แต่ไม่เกิน 20 สัปดาห์ ให้ดำเนินการให้คำปรึกษาทางเลือก 2) อายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ หากหญิงยืนยันจะยุติการตั้งครรภ์ ให้ดำเนินการเพื่อให้หญิงได้รับการยุติการตั้งครรภ์ตามข้อบังคับแพทยสภา 3)อายุครรภ์เกิน 20 สัปดาห์ ให้หน่วยบริการฯ ดำเนินการเพื่อให้หญิงได้รับการดูแลช่วยเหลือหรือได้รับการจัดสวัสดิการสังคมที่เหมาะสม แก่การตั้งครรภ์และเลี้ยงดูบุตรต่อไป

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ประกาศฯ ยังได้วางหลักการให้คำปรึกษา เช่น การรับฟังปัญหาของหญิงตั้งครรภ์ด้วยความใส่ใจและเป็นมิตร การไม่ตีตราหรือตัดสินเกี่ยวกับการกระทำ หรือพฤติการณ์ต่าง ๆ ของหญิงตั้งครรภ์ การให้ข้อมูลทางการแพทย์เบื้องต้น ข้อมูลการยุติการตั้งครรภ์แบบองค์รวม การให้อิสระ ไม่โน้มน้าว และไม่บีบบังคับ การรักษาความลับ ซึ่งให้การให้คำปรึกษาต้องดำเนินการโดยเร็วและคำนึงถึงอายุครรภ์ของหญิง ไม่ให้เกินกว่าที่กฎหมายกำหนด
ซึ่งการให้คำปรึกษาทางเลือกในการยุติการตั้งครรภ์ ถือเป็นการส่งเสริมการคุ้มครองสิทธิของผู้หญิงและชีวิตของทารกในครรภ์ อีกทั้งสร้างความมั่นใจต่อบุคลากรการทางการแพทย์ในการให้บริการยุติการตั้งครรค์โดยสมัครใจ ลดแรงจูงใจของผู้หญิงในการทำแท้งผิดกฎหมายด้วย

Related Posts

Send this to a friend