POLITICS

‘กรณ์’ ชี้ ยังไม่ต้องกู้เพิ่ม 1 ล้านล้าน ใช้ 5 แสนล้านเดิมให้ดีก่อน แนะขันน็อตระบบราชการ ให้ทันรับมือวิกฤต

นายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และหัวหน้าพรรคกล้า กล่าวในรายการถามอีกกับอิก ถึงกรณีธนาคารแห่งประเทศไทยเสนอกู้เงิน 1 ล้านล้านบาท เพื่อพยุงเศรษฐกิจว่า ที่ผู้ว่าแบงก์ชาติออกมาพูดถึงการกู้เพิ่มครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นถึงสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่คาดไม่ถึง ซึ่งอีกทางหนึ่งก็สบายใจได้ว่า สถานะทางการคลังของประเทศ สามารถแบกรับหนี้สาธารณะได้อีกหนึ่งล้านล้านบาท โดยไม่ต้องมีความกังวลในแง่ของเสถียรภาพ แต่ก็ต้องตระหนักถึงสถานการณ์ปัจจุบัน

“การที่ผู้ว่าแบงก์ชาติ บอกว่า 1 ล้านล้านกู้ได้ เป็นสัญญาณให้รัฐบาลว่า ถ้าจำเป็นต้องกู้ก็เป็นความเสี่ยงที่รับได้ เหลืออยู่ที่ว่าจะกู้ตอนไหน กู้แล้วไปทำอะไร เพราะเท่าที่ดูสถานการณ์ปัจจุบัน ความจำเป็นยังไม่มี เพราะ พ.ร.ก.เงินกู้ 5 แสนล้าน มีการเบิกจ่ายใช้ไปประมาณร้อยละ 20 หรือประมาณ 1 แสนล้าน เหลืออีก 4 แสนล้าน ก็ควรมีแผนงานการและประเมินผลการใช้เงินส่วนนี้ต่อดัชนีเศรษฐกิจ แล้วพิจารณาว่าต้องกู้หรือไม่ เพราะในตัวงบประมาณปี 65 เอง ก็ต้องกู้ 4 แสนล้านอยู่แล้ว ในอีก 1 ปีข้างหน้า โดยที่เราก็หวังว่าการฉีดวัคซีน การบริหารจัดการโควิด จะส่งผลทำให้เราเปิดเศรษฐกิจเปิดประเทศได้ เริ่มจะมีรายได้เข้ามาใส่กระเป๋าประชาชน ถ้าเราทำได้เร็ว ทำได้ดี อาจจะไม่จำเป็นต้องกู้เพิ่มเติม และการพิจารณาว่าจะกู้หรือไม่ในสถานการณ์วิกฤตขนาดนี้ แบงก์ชาติ กระทรวงการคลัง และทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล ต้องทำงานเป็นทีม ไม่ใช่ต่างคนต่างทำอย่างที่เป็นอยู่” อดีต รมว.คลัง กล่าว  

นายกรณ์ กล่าวว่า ช่วงที่รัฐบาลกู้ 1 ล้านล้านบาทครั้งแรก มีนักเศรษฐศาสตร์หลายท่านรวมทั้งตนเอง กังวลว่าอาจจะไม่พอ และยังกังวลว่าถ้าเบิกจ่าย พ.ร.ก.ที่สองคือ 5 แสนล้านบาทครบถ้วนแล้ว จะดันหนี้สาธารณะเทียบกับจีดีพีขึ้นไปเกือบ ๆ จะชนเพดาน อยู่ที่ระดับร้อยละ 58 ถ้าเทียบกับการกู้ยืมเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณในปี 65 ที่สภาฯ เพิ่งอนุมัติไป ทำให้หนี้สาธารณะทะลุเพดานร้อยละ 60 แน่นอน ซึ่งมีความจำเป็นที่นายกรัฐมนตรีอาจต้องปรับ เงื่อนไขตามกฎหมายวินัยทางการคลัง ให้เพดานหนี้สาธารณะขึ้นไปอีกที่ร้อยละ 70 เพราะมีแนวโน้มว่ายังขาดดุลประมาณ 4-5 แสนล้านบาท ไปอีกระยะหนึ่ง ยังไม่เห็นสัญญาณที่จะจัดงบสมดุลได้อีกหลายปี

นายกรณ์ ยังกล่าวถึงการคาดการณ์รายรับปี 2565 ว่า การตั้งสมมุติฐานรายได้ของรัฐบาลอาจจะสูงเกินไป อย่างปี 2564 จะเห็นว่ารายรับของรัฐบาลต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ และหวังว่า ปี 65 จะไม่ต่ำกว่านี้ จนเป็นเหตุที่ต้องให้กู้เพิ่มอีก ซึ่งเป็นสาเหตุให้ต้องมาพิจารณากันอย่างละเอียดว่าการออก พ.ร.ก. 1 ล้านล้านบาท เป็นจังหวะที่เหมาะสมหรือไม่ ซึ่งจากความเห็นผู้ว่าแบงค์ชาติ ที่บอกว่าถ้าจะกู้ก็กู้ได้ เงินมี และข้อดีอีกอย่างของประเทศไทย มีหนี้สาธารณะจำนวนหนึ่ง ซึ่งไม่ได้มากนักเมื่อเทียบกับเศรษฐกิจ ประเทศอื่น ๆ หลายประเทศหนี้สาธารณะเท่ากับร้อยละ 100 ของจีดีพีเลยด้วยซ้ำ ในขณะที่ของเราอยู่ที่ร้อยละ 50 กว่า ข้อดีอีกอย่างคือหนี้สาธารณะกว่าร้อยละ 98 เป็นการกู้เงินบาทภายในประเทศ ลดความเสี่ยงลงไปมาก ผิดกับอินโดนีเซียที่กู้เงินเป็นเงินดอลลาร์ เมื่อธนาคารกลางสหรัฐเปลี่ยนนโยบายทางการเงิน ทำให้ความเชื่อมั่นในเงินรูเปียห์ ของอินโดนีเซียลดลง

ส่วนกรณีที่ผู้ว่าแบงก์ชาติบอกว่า ถ้าเราไม่ทำอะไรเลย จะทำให้เกิดหลุมดำขนาดของรายได้จะหายไปราว 2.6 ล้านล้านบาท อดีต รมว.คลัง กล่าวว่า หลุมดำมันมีอยู่แล้วจากการล็อกดาวน์ และการห้ามรับนักท่องเที่ยว และอื่น ๆ เราไม่มีรายได้มาเป็นปีแล้ว ผู้หาเช้ากินค่ำไม่มีเงิน ไม่มีรายได้ เจ้าของร้านอาหาร ผับ บาร์ โรงแรม ท่านจึงมองว่าต้องอัดฉีดงบประมาณเข้ามา หนึ่งในประเด็นปัญหาที่ผ่านมา คือการขับเคลื่อนนโยบายของแบงก์ชาติเองด้วย ผู้ว่าฯ บอกจะกู้ 1 ล้านล้านอัดฉีดเข้าไป แต่หากเราย้อนไปดู การออก พ.ร.บ.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท จริง ๆ มันมีการออกกฎหมายอีกสองฉบับ เป็น พ.ร.ก. เช่นเดียวกัน คือ พ.ร.ก. เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ซึ่งเวลาผ่านไปนานหลายเดือน มีเสียงสะท้อนชัดเจนว่าเขาเข้าไม่ถึงเงินส่วนนี้ เพราะโครงสร้างการปล่อยสินเชื่อจากแบงก์ชาติผ่านธนาคารพาณิชย์ มันจึงเป็นปัญหาคอขวด ทั้งความเสี่ยง และความพร้อมในการรับความเสี่ยงของธนาคารพาณิชย์  ทำให้ไม่พิจารณาอนุมัติให้กับผู้เดือดร้อนจริง จึงไปไม่ถึงกลุ่มเป้าหมาย แม้ต่อมามีการปรับเงื่อนไขให้มันง่ายขึ้นแต่ก็ยังยากอยู่ดี ถามผู้ประกอบการเอสเอ็มอีวันนี้ว่า อะไรคือปัญหาหลักของเขา คำตอบคือขาดสภาพคล่อง และไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อตามนโยบายของรัฐบาลและของแบงก์ชาติได้

ส่วนถ้ากู้เพิ่มอีก 1 ล้านล้านบาทแล้วจะจบหรือไม่ อดีต รมว.คลัง กล่าวว่า มันก็ขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพการใช้เงิน ยกตัวอย่าง เงินกู้ 1 ล้านล้านบาทแรก กว่าจะเบิกจ่ายใช้เงินก็ใช้เวลานานพอสมควร แต่ในส่วนของ 5 แสนล้านที่กู้เพิ่ม ตอนนี้ใช้ไปแค่ 1 แสนล้านเหลืออีก 4 แสนล้าน ก็มีคำถามว่าเงินจำนวนนี้จะเบิกจ่ายให้เข้ามาอยู่ในระบบเศรษฐกิจเมื่อไหร่ และหลังจากใช้เงินนั้นไปแล้ว เป็นจังหวะที่เศรษฐกิจของเราจะกลับเข้ามาเป็นปกติแล้วหรือยัง ตรงนี้จะเป็นคำตอบว่าเราจำเป็นต้องกู้เพิ่มอีก 1 ล้านล้านบาทหรือไม่ ทั้งนี้ เมื่อดูประสิทธิภาพในการใช้เงินกู้ที่ผ่านมา เราจะเห็นว่า เมื่อเป็นลักษณะการผันเงินตรงให้กับประชาชนส่วนนี้มีประสิทธิภาพสูงมาก แต่พอโครงการที่ต้องพึ่งระบบราชการ เราจะเห็นว่าประสิทธิภาพลดลงไปมาก รัฐบาลมีความจำเป็นต้องขันน็อตเพื่อปรับระบบการทำงานในภาวะวิกฤต

ส่วนกรณีว่ามีความจำเป็นต้องเยียวยารายได้ประชาชน อีกนานแค่ไหน อดีต รมว.คลัง กล่าวว่า โดยส่วนตัวคิดว่า ให้รัฐบาลคิดเผื่อไว้เลยอย่างน้อย 3 เดือนหรือจนถึงสิ้นปี เพื่อสร้างความมั่นใจประชาชนว่ารัฐบาลดูแล โดยอาจจะเป็นยอดเงิน 5,000 บาทต่อเดือน ในกลุ่มอยู่ในเขตล็อกดาวน์ เชื่อว่าเงินประมาณสามแสนล้าน ทำให้ดูแลประชาชนมีอยู่มีกินไปต่อไปได้ แต่ถ้าจะกู้มาเพื่อมาจัดสรรให้กับโครงการต่าง ๆ ที่ไม่ได้เป็นปัญหาเฉพาะหน้า ที่เป็นความเดือดร้อนของประชาชนโดยตรง ไม่เห็นด้วย จัดสรรไป ก็ใช้ไม่ทันอยู่ดี และเงินเข้ามาในระบบเศรษฐกิจก็ไม่ทันเช่นเดียวกัน

Related Posts

Send this to a friend