POLITICS

ประชาธิปัตย์ โต้ข่าวลือร่วมวางแผนจัดตั้งรัฐบาล

ซัด โรม “พูดเอาดีเข้าตัว เอาชั่วใส่คนอื่น” ปมพาดพิง ‘ชวน’ ทำหน้าที่ประธานสภาฯ พร้อมค้านหาก ‘ก้าวไกล’ เสนอลดโทษดูหมิ่น เจ้าพนักงาน – ตุลาการศาล

วันนี้ (27 พ.ค. 66) นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนถึงกรณีถูกพาดพิงว่ามีการร่วมวางแผนจัดตั้งรัฐบาลที่สนามกอล์ฟแห่งหนึ่ง โดยจะผลักให้พรรคก้าวไกล และพรรครวมไทยสร้างชาติ ไปเป็นพรรคฝ่ายค้าน และร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย กับพรรครัฐบาลเดิม นายราเมศ ยืนยันว่าไม่เป็นความจริง และทุกคนในพรรคไม่ได้มีการไปร่วมวางแผนเจรจากับใครใดๆ เพราะกระบวนการเลือกหัวหน้าพรรคยังไม่เสร็จสิ้น ส่วนแกนนำที่มีเสียงข้างมากจะจัดตั้งรัฐบาลกับพรคใดบ้างขอไม่ก้าวล่วง

สำหรับเรื่องประธานสภาฯ ที่มีหลายถกเถียง และพาดพิงมาถึงนายชวน หลีกภัย อดีตประธานสภาฯ นั้น นายราเมศ กล่าวว่า เป็นเรื่องของพรรคการเมืองที่ร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล แต่เมื่อมีการพาดพิงจึงขอชี้แจงว่า หลักการของการเป็นประธานสภา คือ ตามอำนาจของรัฐธรรมนูญ ประธานสภาฯ ไม่มีอำนาจที่จะไปช่วยเหลือพรรคการเมืองใดในการผลักดันร่างกฎหมาย หรือสั่งการใดๆ นอกเหนือจากข้อบังคับที่ประชุม และรัฐธรรมนูญ ซึ่งสิ่งที่สำคัญทั้งรัฐธรรมนูญ และข้อบังคับการประชุม ระบุไว้คือ ประธานสภาฯ ต้องวางตนเป็นกลางในการปฏิบัติหน้าที่ ดังนั้น ส่วนที่บอกว่าเหตุผลที่ต้องการให้พรรคของตนได้ตำแหน่งประธานสภาฯ ก็เป็นเรื่องของพรรคอื่น แต่หลักการที่ถูกต้องก็ควรถูกนำมาพูดด้วย

ส่วนการทำงานของนายชวน ก็ทำงานได้อย่างสมบูรณ์แบบ ตรงไปตรงมา และให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย โดยยึดหลักความเป็นกลางของที่ประชุมสภาฯ ทั้งนี้การกล่าวหาว่า นายชวนไม่ร่วมผลักดันแก้ไขกฎหมายแต่ละฉบับนั้นไม่ถูกต้อง เพราะการยกเลิกกฎหมายมาตรา 112 และการลดอัตราโทษดูหมิ่นเจ้าพนักงาน และศาล โดยทั้งหมดขัดแย้งต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ประธานสภาฯ จึงเห็นแย้งในที่ประชุม ซึ่งการผลักดันกฎหมายโดยไม่อยู่ในหลักเกณฑ์เป็นสิ่งที่ประธานสภาฯ ทำแล้วจะเกิดปัญหา และเป็นการทำหน้าที่โดยมิชอบ

นายราเมศ ยังกล่าวถึงกรณีที่พรรคฝ่ายค้านในขณะนั้นขอให้มีการอภิปรายเรื่องที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เกี่ยวกับการถวายสัตย์ฯ ซึ่งกรณีดังกล่าวก็มีคำสั่งจากศาลรัฐธรรมนูญออกมาแล้ว โดย นายชวน ในฐานะประธานสภาฯ จึงขอให้ยุติการอภิปราย แต่ในท้ายที่สุด นายชวน ก็ได้หารือหลายฝ่าย และเผยว่า เราต้องยึดหลักความถูกต้อง เมื่อเป็นคคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญ ย่อมไม่มีผลผูกพันกับองค์กรอื่น ดังนั้น ฝ่ายค้านจึงสามารถอภิปรายได้ จากเหตุการณ์นั้นจึงทำให้เกิดการขัดข้องหมองใจจากรัฐบาลพอสมควร

ส่วนกรณีที่ นายรังสิมันต์ โรม โฆษกพรรคก้าวไกล กล่าวหาว่านายชวน ไม่ให้ความสำคัญกับกฎหมายฉบับประชาชน ทั้งร่าง พ.ร.บ.อ้อย และน้ำตาล จากภาคเกษตรกร และร่างพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไปจนถึงร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ซึ่งนายชวนให้ความสำคัญต่อเรื่องนี้อย่างเต็มที่ ได้มีบัญชาให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฏรจัดที่อำนวยความสะดวก และให้เจ้าหน้าที่ช่วยเหลือกับประชาชนในการร่างกฎหมาย พร้อมขอให้อย่าพูดเอาดีใส่ตัว เอาชั่วใส่คนอื่น เพราะเป็นสิ่งที่ขัดแย้งกับความรู้สึกของประชาชนที่เห็นการทำงานของประธานสภามาโดยตลอด

อีกทั้งกรณีที่โฆษกพรรคก้าวไกล ระบุว่าอยากให้สภาฯ โปร่งใส นั่นก็เป็นเรื่องที่ดี แต่สมัย นายชวน ก็ไม่ได้ละเลยเรื่องเหล่านี้ เพราะได้ริเริ่มโครงการให้มีบ้านเมืองสุจริต และการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ และเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชน รวมถึงสิ่งที่สำคัญคือ การดำเนินการทุกข์ร้อนพี่น้องประชาชน และข้อหารือของสมาชิกสภาฯ ที่มีกระบวนการผ่านไปยังรัฐบาลก็ได้รับฟังปัญหา และได้รับการแก้ไขตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม พรรคประชาธิปัตย์ได้แสดงความเป็นห่วงของพรรคจัดตั้งรัฐบาลตามภาพข่าว เกี่ยวกับเรื่องไม่แก้ไขหรือยกเลิกกฎหมายมาตรา 112 ซึ่งถึงแม้ว่าในข้อตกลง MOU จะไม่ได้ถูกระบุเกี่ยวกับกฎหมายมาตรา 112 แต่ในฐานะพรรคที่มีเสียงข้างมากก็สามารถผลักดันได้ โดยก่อนหน้านี้ พรรคก้าวไกลได้เสนอการยกเลิกอัตราโทษจำคุกฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงาน และศาลมาตั้งแต่วันที่ 25 มี.ค. 2564 ซึ่งเราไม่เห็นด้วย เราไม่ได้ต้องการปกป้องอำนาจตุลาการ แต่หลักการความถูกต้อง กระบวนการที่ทำให้กระบวนการยุติธรรมพิจารณาคดีด้วยความตรงไปตรงมา ปราศาจากการกดดันจากทุกฝ่าย ซึ่งสมัยที่ผ่านมาก็มีการคุกคามข่มขู่ตุลาการ ทั้งการเปิดชื่อผู้พิพากษา การนำข้อมูลส่วนตัวไปประกาศบนเวทีปราศรัย ฉะนั้นเรามีกฎหมายคุ้มครองตุลาการแค่นี้ ไม่ได้ทำให้หนักส่วนไหนของใคร และหากมีการเสนอต่อสภาฯ อีกครั้ง ยืนยันว่า พรรคประชาธิปัตย์จะเป็นพรรคที่ร่วมต่อสู้เรื่องนี้ให้เต็มที่ถึงที่สุด

สำหรับความเคลื่อนไหวของพรรคประชาธิปัตย์ล่าสุด เกี่ยวกับเลือกตั้งหัวหน้า และกรรมการบริหารพรรค ขณะนี้อยู่ในระหว่างการเลือกตั้งหัวหน้าพรรค และกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ ซึ่งต้องรอให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รับรองจำนวน ส.ส. เสร็จสิ้น จากนั้นเราต้องกลับมาพัฒนาฟื้นฟูการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองของพรรคในวันข้างหน้า และพรรคได้ย้ำกับผู้สมัคร รวมถึงตัวแทนพรรคประจำสาขาในการเก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อนำมาสรุป และทำเป็นบทวิเคราะห์ในกรณีที่แพ้การเลือกตั้งในหลายพื้นที่นั้นเกิดจากสาเหตุใด เพื่อเสนอให้กรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ร่วมพิจารณากับสมาชิกพรรค

Related Posts

Send this to a friend