‘รอมฎอน’ เสนอญัติติด่วนปมส่ง 48 ชาวอุยกูร์กลับจีน สส.ประท้วงวุ่น

‘รอมฎอน’ เสนอญัติติด่วนปมส่ง 48 ชาวอุยกูร์กลับจีน สส.ประท้วงวุ่น เหตุไม่มีข้อเท็จจริงเป็นที่ประจักษ์
วันนี้ (27 ก.พ. 68) นายรอมฎอน ปันจอร์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน เสนอญัตติด่วนด้วยวาจา ขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาข้อเท็จจริงและผลกระทบกรณีกรณีการผลักดันผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์กลับไปเผชิญการประหัตประหารในประเทศจีน โดยระบุว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะตั้งแต่เมื่อวานช่วงบ่ายมีกระแสข่าวมาโดยตลอดว่า รัฐบาลจะส่งตัวผู้ต้องกักชาวอุยกูร์ทั้ง 48 คน ที่อยู่ในสถานกักกันต่างด้าวสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สวนพลู) กลับไปยังประเทศจีน อย่างไรก็ตามเมื่อสัปดาห์ที่แล้วก็มีข่าวลือเรื่องนี้ ซึ่งตนเองพยายามสืบหาข้อเท็จจริง
นายรอมฎอน เปิดภาพขบวนรถขนรถผู้ต้องกัก จำนวน 6 คัน ออกจาก ตม.สวนพลู เมื่อเวลา 02.14 น.ขบวนรถดังกล่าวมีการใช้เทปสีดำปิดตรงหน้าต่าง อย่างไรก็ตามสัปดาห์ที่แล้ว มีข่าวลือว่าจะส่งตัวชาวอุยกูร์ไปพร้อมกับคณะคนจีนที่เมืองเมียวดี ซึ่งตนเองถูกนายภูมิธรรม เวชชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สวนกลับมาบอกว่าอย่าปูด อย่าทำให้เรื่องนี้เป็นที่น่าตระหนกตกใจ
เมื่อเช้านี้ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เดินทางมาที่สภาฯ ซึ่งนายกฯ ตอบคำถามสื่อมวลชนว่ายังไม่ทราบเรื่องดังกล่าว เป็นที่น่าแปลกใจว่าเรื่องใหญ่ขนาดนี้นายกฯ ไม่ทราบได้อย่างไร เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องที่จะต้องตัดสินใจทางการเมือง เท่าที่เราตรวจสอบจากรัฐมนตรี ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ยังไม่มีคำยืนยันเรื่องนี้ เพราะหลายท่านบอกว่าการตัดสินใจอยู่ที่ฝ่ายการเมือง คำตอบและข้อเท็จจริงต้องขึ้นอยู่กับฝ่ายบริหารและนายกฯ แต่ท่านกลับไม่ได้ให้รายละเอียดอะไร
ตนเองไม่แน่ใจว่าเรื่องนี้ผิดปกติหรือไม่ที่ขนย้ายคนหลังเที่ยงคืน ภาพรถบรรทุกทำให้ตนนึกถึงภาพของรถบรรทุกเมื่อ 20 ปีก่อน ขนคนจากการสลายการชุมนุมที่ตากใบในเดือนรอมฎอน หากปิดกระจกเช่นนี้คนข้างในจะหายใจกันอย่างไร อยู่กันอย่างไร การเดินทางจะไกลแค่ไหน และใช้เวลาเท่าไร
แม้จะยืนยันไม่ได้ว่าจุดหมายปลายทางของรถคันดังกล่าวจะเดินทางไปที่ไหน แต่เมื่อช่วงเช้าเวลาประมาณ 04.00 น. มีบัญชีทวิตเตอร์เปิดเผยว่าพบเครื่องบินต้องสงสัย เดินทางออกจากสนามบินดอนเมือง ไม่ระบุจุดหมายปลายทาง แต่ล่าสุดมีข้อมูลยืนยันว่าเครื่องบินลำดังกล่าวลงที่มณฑลซินเจียง สาธารณรัฐประชาชนจีนแล้ว เราก็ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่า ผู้โดยสารที่นั่งอยู่ในเครื่องบินลำดังกล่าวเป็นชาวอุยกูร์หรือไม่
และเมื่อไม่กี่ชั่วโมงที่ผ่านมารายงานข่าวภาษาจีน ซึ่งแปลโดยสั้น ๆ ว่ากระทรวงความมั่นคงของสาธารณรัฐประชาชนจีน ยืนยันการนำตัวชาวอุยกูร์ 40 คนจากกรุงเทพฯ ประเทศไทยไปยังประเทศจีนเรียบร้อยแล้ว โดยอ้างว่าเป็นความพยายามของทางการจีนที่จะทำให้พวกเขาเดินทางกลับมาครอบครัวอย่างเป็นสุข และสันติสุข
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2558 ชาวอุยกูร์ 109 คนที่ถูกคุมตัวไว้ที่ประเทศไทยถูกนำตัวเดินทางกลับไปยังประเทศจีน ซึ่งกลายเป็นตราบาปและรางวัลอันน่าเศร้าของประเทศนี้ ในเรื่องการพิทักษ์รักษาชีวิต สิทธิมนุษยชน และเสรีภาพของประชาชน เราไม่รู้ชะตากรรมของพวกเขา แต่เป็นมลทินมัวหมองต่อชื่อเสียงของประเทศไทย
ส่วนชาวอุยกูร์อีก 48 คน เรายังไม่แน่ใจว่าข้อเท็จจริงจะเป็นกี่คน ซึ่งมีผู้ถูกดำเนินคดีและอยู่ระหว่างการดำเนินคดีของศาลอาญาประเทศไทยด้วย เราจึงไม่แน่ใจว่าข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับการปฎิบัติการครั้งนี้เป็นอย่างไร เรื่องนี้มีการติดตามรณรงค์ของพี่น้องชาวมุสลิมอุยกูร์ทั่วโลกที่พยามเรียกร้องให้รัฐบาลไทยไม่ส่งกลับไปสู่ประเทศจีน ซึ่งเป็นปัญหาการเมืองระหว่างประเทศของเรามาโดยตลอด
นายรอมฎอน อยากให้ สส.นำเสนอข้อมูลเพื่อช่วยกันประเมินผลกระทบทางการเมือง เศรษฐกิจ การเมืองระหว่างประเทศ ความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ หาก สส.จะมีข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลก็ยินดีอย่างยิ่ง เหตุที่ต้องทำอย่างนี้ เพราะว่ายังไม่มีความชัดเจนและไม่มีคำยืนยันจากรัฐบาลหรือนายกฯ ทั้งหมดเป็นเพียงข้อเท็จจริงแวดล้อม
ฝากไปถึงนายกฯ ช่วยยืนยันหรือปฏิเสธว่าข้อเท็จจริงในกรณีนี้เป็นอย่างไร ทำไมต้องส่งกลับในเวลานี้ มีเหตุผลอันใด ได้ประเมินรอบด้าน มีผลได้ผลเสียขนาดไหน มีดีลอะไรหรือไม่ จะรับมือผลกระทบอย่างไร ไม่รวมผลกระทบทางกฎหมายที่ละเมิดกฎหมายทั้งภายใน และกฎหมายระหว่างประเทศ
“ผมรู้สึกเสียใจเสียใจที่เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ เราพยายามรักษาดุลอำนาจ สิทธิเสรีภาพของประชาชน เราเชิดชูหลักการ เคารพชีวิตของประชาชน แต่เราอนุญาตให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้อย่างไร เรามีมลทินมาแล้วในปี 2558 ในรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร ผมเสียใจที่ยังเกิดขึ้นในรัฐบาลนี้ อย่างไรก็ตามผมอาจจะเข้าใจผิด มีเพียงนายกฯ ที่จะยืนยันกับเราได้” นายรอมฎอน กล่าว
นายภราดร ปริศนานันทกุล รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม กล่าวว่า
ฟังดูแล้วไม่แน่ใจว่า ปลายทางต้องการเสนอญัตติด่วน เพื่อนำไปสู่ทางใด โดยปกติญัตติที่พวกเราเสนอจะเสนอให้คณะกรรมาธิการสามัญไปพิจารณาต่อ ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ หรือเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ไปศึกษาพิจารณา แต่ฟังช่วงท้ายคือ ให้รัฐรัฐบาลมาตอบ เป็นเหมือนญัตติที่ตั้งกระทู้ถามตามธรรมเนียม ซึ่งเราไม่ได้ทำอย่างนั้น
นายรอมฎอน จึงกล่าวต่อว่ารัฐบาลต้องการคำแนะนำ การรับมือต่อสถานการณ์นี้ ถ้ายังไม่ได้รับรายงาน สภาฯ น่าจะเป็นส่วนหนึ่งในการเสนอข้อเท็จจริง ประเมินผลกระทบ หรือให้คำแนะนำแก่รัฐบาล แต่ในความเห็นของตนเองคิดว่า ตอนนี้นายกฯ ต้องการความช่วยเหลือ
นายภราดร กล่าวว่ายังไม่มีข้อสรุปว่าเกิดเหตุการณ์เช่นนี้จริงหรือไม่ นายรอมฎอน ตั้งญัตติด่วนหรือถามกระทู้รัฐบาล ตนเองพยายามฟังให้เข้าญัตติด่วน แต่ขอสอบถามว่า อยากให้รัฐสภาดำเนินการแบบไหน เนื่องจากข้อเท็จจริงยังไม่ปรากฏชัดเจน
นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน จึงชี้แจงว่าเป็นการเสนอญัตติด่วนด้วยวาจาืสาระสำคัญคือ การส่งข้อคิดเห็นของ สส.ไปยัง ครม.เพื่อให้รัฐบาลเอาความคิดเห็นไปประมวลผลและนำไปสู่การแก้ปัญหาต่อไป เท่าที่ทราบเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นจริง มีการแถลงข่าวและแถลงการณ์ออกมาแล้ว
นายวิทยา แก้วภราดรัย สส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ กล่าวว่าเรื่องนี้ตนเองฟังข่าวมาเป็นระยะ สถานการณ์แบบนี้ไม่น่าเกิดขึ้น ขณะเดียวกันหากจะร่วมอภิปราย ตนเองก็ไปไม่ถูก ไม่แน่ใจว่าเป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นเป็นที่ประจักษ์ ซึ่งนายรอมฎอนที่เสนอญัตติก็ใช้การคาดการณ์ ซึ่งมีทั้งความเป็นไปได้และเป็นไปไม่ได้ จึงขอให้ประธานในที่ประชุม ซึ่งเป็นประมุขโทรศัพท์ไปถามว่า เหตุการณ์เป็นอย่างไรจะได้ช่วยอภิปรายถูก
“หากเตลิดเปิดเปิงไปถึงประเทศจีน แต่ปรากฏว่ายังอยู่ที่ สตม.หมด เราก็จะยุ่ง ผมว่าท่านพักแล้วไปประสานงานในฐานะประมุขของนิติบัญญัติว่า มีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นในสภาฯ ทุกฝ่ายน่าจะให้คำตอบท่านได้ แล้วท่านค่อยมาแจ้งพวกเรา”
ด้านนายอดิศร เพียงเกษ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ให้กำลังใจกับสภาฯ เพื่อแก้ปัญหา หากปัญหาเร่งด่วนสมาชิกทุกคนก็ควรสนใจนำเรื่องมาแถลง ตนเองพยายามตั้งใจฟังแล้วตั้งใจฟังอีก ไม่ทราบว่าท่านจินตนาการหรือคิดว่ามันจะเป็นอย่างนู้นอย่างนี้หรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิ่งที่ท่านได้พูดไปกระทบกับความสัมพันธ์ของประเทศจีน ตนเองมีความมั่นใจว่ากรณีผู้ลี้ภัยต้องมีกฎระเบียบแบบแผนในการกักขัง
ตนเองเอาใจช่วย ไม่อยากให้มีการละเมิดสิทธิเสรีภาพคนไทย หรือคนอื่นที่อยู่ภายใต้กฎหมายไทย จึงอยากให้ความมุ่งหมายว่าญัตติที่เกิดขึ้น เกิดขึ้นที่ไหน เมื่อไร อย่างไร บุคคลทั้งหมดชื่ออะไร มีข้อหาอะไรบ้าง ตนเองอยู่สภาฯ มานานยังไม่เคยเจอ หากเป็นข้อเท็จจริง เราจะได้ผสมโรงเรียกร้องให้รัฐบาลหรือสำนักงานตำรวจแห่งชาติมาแถลง ถ้าไม่สามารถวินิจฉัยวันนี้ได้ พรุ่งนี้ก็มีการประชุมกันต่อ ขอให้ยกญัตติด่วนนี้ไปหารือกันในการประชุมวันศุกร์นี้จะดีหรือไม่ วิปรัฐบาลหรือ สส.จะได้ไปศึกษารายละเอียด
นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาชน ในฐานะประธานคณะกรรมการพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) กล่าวว่าเราพูดคุยกันระหว่างวิปว่าจะส่งเรื่องนี้ไป ครม. เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นจริง มีข่าวปรากฏ โดยกระทรวงการต่างประเทศของจีนก็ออกมายอมรับ และในภายในวันนี้กระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาอาจจะออกแถลงการณ์ด้วย ส่วนบางอย่างที่ไม่ชัดเจนเรามีทางเลือกคือ ส่ง ครม.บางส่วน หาือมอบหมายให้คณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐฯ ไปศึกษา
นายภราดร กล่าวว่าจากที่ฟังยิ่งไปใหญ่ว่าญัตติด่วนที่นายรอมฎอนเสนอ จะเสนอว่าอะไร ศึกษาเพื่อส่งไปให้คณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ หรือจะให้อภิปรายเสนอแนะ เพื่อส่งไปให้รัฐบาล ซึ่งผิดปกติจากญัตติที่พวกเราเคยปฏิบัติ และผิดข้อบังคับ
นายปกรณ์วุฒิ ย้ำว่ามติของนายรอมฎอนคือ การส่งข้อเสนอแนะไปให้ ครม. ในทางปฏิบัติของสภาฯ บางครั้งเวลาที่จบญัตติ มักจะขึ้นว่าให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ ซึ่งเมื่ออภิปรายจบจะมีการตกลงกันอีกครั้งว่า ควรจะตั้งคณะกรรมาธิการหรือไม่ อาจสรุปว่าส่งไปที่ ครม.อย่างเดียว ก็เป็นสิ่งที่สามารถทำได้
นายรอมฎอน ในฐานะผู้เสนอญัตติ ยืนยันว่าเรื่องนี้ หากจะต้องศึกษาในรายละเอียดก็ส่งไปที่คณะกรรมาธิการได้ แต่เราต้องการให้สภาฯ ได้ระดมข้อเสนอแนะวิเคราะห์ผลกระทบและส่งไปที่ ครม.พร้อมกับโชว์ภาพสำนักข่าวจากจีนที่ยืนยันว่ากระทรวงความมั่นคงแห่งรัฐของทางการจีน ระบุถึงการส่งตัวคนเข้าเมืองผิดกฎหมายกลับจากประเทศไทย ซึ่งเผยแพร่วันนี้เมื่อเวลา 13.58 น. จึงควรมีความเห็นส่งต่อให้ ครม.พิจารณา หากคิดรอบด้าน การเปิดให้อภิปรายญัตติด่วนนี้น่าจะเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย
ขณะที่นายรังสิมันต์ กล่าวว่าเรากำลังอยู่ในกระบวนการอภิปราย เพื่อสนับสนุนญัตตินี้ ผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับญัตตินี้สามารถอภิปรายแสดงความเห็นได้ ปกติญัตติด่วนด้วยวาจาไม่เคยมีปัญหา จึงขอประธานในที่ประชุมเปิดให้อภิปราย
นายภราดร จึงได้เปิดให้มีการอภิปราย โดยญัตตินี้มีผู้อภิปราย 2 คนคือ นางสาวชลธิชา แจ้งเร็ว สส.ปทุมธานี พรรคประชาชน และนายกัณวีร์ สืบแสง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเป็นธรรม
ภายหลังที่นางสาวชลธิชา ได้อภิปรายไประยะหนึ่ง ก็มีการประท้วงโดยนายอดิศร ระบุว่าปัญหาที่พูดเป็นปัญหาที่ใหญ่หลวง ต้องมีองค์ประชุมครบ เพื่อให้สมาชิกเตรียมข้อมูลต่าง จึงอยากให้ถามองค์ประชุม เพราะเป็นเรื่องระหว่างเรากับประเทศอื่น จึงมีบางคำที่ไม่ควรถูกเอ่ยออกไป จึงขออนุญาตนับองค์ประชุม
นายรังสิมันต์ กล่าวว่าถ้าเสนอนับองค์ประชุม ถ้าทำกันแบบนี้ จุดประสงค์ชัดเจนว่าไม่ให้เราอภิปรายต่อ ถ้าทำแบบนี้ พวกท่านอยู่กันให้ครบ นายภราดร จึงกล่าวว่าการนับองค์ประชุม ไม่ใช่การยุติการอภิปราย ในการที่องค์ไม่ครบ เรื่องนี้ยังคาอยู่ ถ้าฝั่งนี้ต้องการประชุมล่ม จะได้ไม่ต้องอภิปราย
นายรังสิมันต์ กล่าวต่อว่าแล้วจะทำแบบนั้นไปเพื่ออะไร เรามีกันแค่สองคน ตนเองเป็นคนสรุปจบ และเอาความเห็นไปให้รัฐบาล นางสาวชลธิชา ยังอภิปรายไม่จบเลย และมีการเสนอให้นับองค์ ถ้าเสนอแล้วให้ยื่นญัติใหม่ ถ้าจะเดินแบบนี้ก็แล้วแต่ แต่ฝ่ายค้านเราไม่เป็นองค์ประชุมกับท่าน เราได้เห็นแล้วว่าความจริงใจของท่านที่ไม่แคร์ผลกระทบของประเทศ ไม่รู้เลยเหรอว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นคืออะไร
นายอดิศร ย้ำว่าตนเองว่าจะเอาไม้มาสอนขวัญ ขออนุญาตนับองค์ประชุม เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ของประเทศ มีข้อมูลที่ละเอียดและรอบคอบ มวยคนละชั้นกัน ก็มองคนละมุม จากนั้นนายภราดร เสนอให้พักการประชุม 5-10 นาที เพื่อให้พูดคุยกัน และให้นายอดิศรถอนญัตติการนับประชุม
ภายหลังพรรคการประชุมได้ข้อสรุปว่าจะมีการเปลี่ยนชื่อญัตติ นายรอมฎอน กล่าวว่า ตนเองไม่มีปัญหาในการเปลี่ยนชื่อญัตติ จึงขอให้ทุกฝ่ายสอดคล้องและเห็นพ้องต้องกัน เพื่อให้ญัตตินี้ได้เดินหน้าต่อไป ขออนุญาตเปลี่ยนชื่อญัตติเป็น “ญัตติด่วนด้วยวาจาเรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาข้อเท็จจริง และผลกระทบ กรณีการผลักดันผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์ กลับไปประเทศจีน เพื่อส่งข้อเสนอแนะให้กับคณะรัฐมนตรีดำเนินการต่อไป“ ก่อนที่นายภราดร จะเปิดให้มีการอภิปรายต่อ