รัฐมนตรีเกษตรฯ นัดประชุม คกก.ป้องกัน ควบคุมและกำจัดโรค ASF เร่งหารือทางออกโดยเร็ว
ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอำนวยการป้องกัน ควบคุมและกำจัดโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรแห่งชาติ (African swine fever : ASF) โดยมี ดร.ทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ พร้อมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่า ภายหลังจากการตรวจพบโรคดังกล่าวอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2565 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมปศุสัตว์ได้ดำเนินการตาม พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ ซึ่งจะต้องประกาศเขตโรคระบาดและมีการควบคุมการเคลื่อนย้ายในรัศมี 5 กิโลเมตรรอบจุดที่พบโรค รวมถึงรายงานไปยังองค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (OIE) ซึ่งได้เน้นย้ำให้ดำเนินการโดยคำนึงถึงผลกระทบในทุกมิติอย่างรอบคอบ เพื่อลดความเสียหายและผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการผลิตสุกรและเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรให้เกิดขึ้นน้อยที่สุด
ทั้งนี้ จากผลการสำรวจข้อมูลสุกรปัจจุบัน เปรียบเทียบกับจำนวนเกษตรกรและจำนวนสุกร ณ เดือนมกราคม 2565 พบว่า เกษตรกรปี 2565 จำนวน 107,157 ราย ลดลงร้อยละ 43.35 สุกรทั้งสิ้น จำนวน 10.847 ล้านตัว ลดลง ร้อยละ 11.81 สุกรแม่พันธุ์ จำนวน 0.979 ล้านตัว ลดลงร้อยละ 11.16 สำหรับพื้นที่ที่มีการเลี้ยงแม่พันธุ์เพิ่มขึ้น ได้แก่ จังหวัดชัยนาท ขอนแก่น นครสวรรค์ อุทัยธานี กำแพงเพชร และเพชรบูรณ์ ในส่วนของพื้นที่เขตปศุสัตว์ที่เป็นแหล่งผลิตสำคัญมีการเลี้ยงแม่พันธุ์ลดลง ได้แก่ เขต 7 จำนวนแม่พันธุ์ลดลงร้อยละ 30 เขต 2 จำนวนแม่พันธุ์ลดลงร้อยละ 20 นอกจากนี้เกษตรกรมีการปรับตัว ยกระดับ ขยายขนาดการเลี้ยงให้เหมาะสม คุ้มค่าการลงทุน ลดความเสี่ยงจากปัญหาด้านสุขภาพ โดยลดความหนาแน่นของสุกรในฟาร์ม
รมว.เกษตรฯ กล่าวว่า แนวทางการส่งเสริมและฟื้นฟูการเลี้ยงสุกรของเกษตรกรรายเล็กและเกษตรกรรายย่อย เพื่อยกระดับการเลี้ยงสุกรให้มีการจัดการที่มีระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ ซึ่งเป็นการลดปัญหาจากโรคระบาดและส่งเสริมให้สินค้าปศุสัตว์มีความปลอดภัย โดยมีมาตรการ 3S คือ 1. Scan ภายใต้มาตรการประเมินความเสี่ยงเพื่อกำหนดพื้นที่นำร่อง Pig Sandbox หรือพื้นที่ควบคุมพิเศษ 2. Screen ตั้งแต่ ผู้เลี้ยง คอก เครื่องมือ อุปกรณ์ ที่มีความพร้อมและเหมาะสม และ 3. Support สนับสนุน ช่วยเหลือ ด้านการจัดการเลี้ยงดู การตลาด และแหล่งทุน
อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ได้สั่งการให้สำรวจจำนวนซากสุกร และผลิตภัณฑ์ที่จัดเก็บในห้องเย็น สถานที่จัดเก็บและการดำเนินการบังคับใช้กฎหมาย การตรวจห้องเย็นสินค้าปศุสัตว์ รวมพื้นที่เข้าดำเนินการทั้งสิ้น 195 แห่ง พื้นที่เข้าดำเนินการทั้งหมดสะสม ตั้งแต่วันที่ 20 – 25 มกราคม 2565 รวม 773 แห่ง ตรวจพบซากสุกร จำนวน 5,023,322.22 กิโลกรัม ตรวจพบซากสุกรสะสม ตั้งแต่วันที่ 20 – 25 มกราคม 2565 จำนวน 18,727,824.545 กิโลกรัม
กรมปศุสัตว์มีมาตรการเฝ้าระวังและป้องกันควบคุมโรคอหิวาต์แอฟริกาสุกรอย่างเข้มงวด มีการบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพื่อป้องกันการลักลอบนำสุกรมีชีวิตและผลิตภัณฑ์เข้าประเทศ เฝ้าระวังและค้นหาโรคเชิงรับและเชิงรุก เช่น การเฝ้าระวังทางอาการในฟาร์ม การเฝ้าระวังในโรงฆ่าสัตว์ การเฝ้าระวังในซากและผลิตภัณฑ์ที่จำหน่ายในตลาด การประเมินความเสี่ยงระดับอำเภอทั่วประเทศ เพื่อกำหนดมาตรการการควบคุมการเคลื่อนย้ายโดยทำฟาร์มที่มีระบบการป้องกันโรคและการเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสม (GFM: Good Farming Management) เพื่อเป็นการลดความเสียหายสามารถป้องกันการเกิดโรคได้และเป็นการเตรียมความพร้อมก่อน เพื่อยกระดับเป็นฟาร์มที่มีการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (Good Agricultural Practices: GAP) และการรายงานผลตรวจโรคหากพบเชื้อ ASF ในสุกร ในใบรายงานผลเพิ่มข้อแนะนำและมาตรการดำเนินการให้เกษตรกรทราบ เพื่อจะได้ดำเนินการได้ถูกต้องเพื่อลดความเสียหายจากการแพร่กระจายโรคด้วย