POLITICS

‘กัณวีร์’ อึ้ง ชาวบ้านจะนะ ถือครอง ส.ค.1 มากว่า 67 ปี ยังออกโฉนดไม่ได้

‘กัณวีร์’ อึ้ง ชาวบ้านจะนะ ถือครอง ส.ค.1 มากว่า 67 ปี ยังออกโฉนดไม่ได้ ทั้งๆ ที่อยู่อาศัยมากว่า 200 ปี และเข้ากระบวนการพิสูจน์สิทธิ์แล้ว รัฐกลับล่าช้าและล่าสุดป่าไม้กลับอ้างสิทธิ์ทำให้หลายรายไม่สามารถปลูกยางได้ พรรคเป็นธรรม ตั้งคณะทำงานเตรียมเรียกร้องคืนสิทธิให้ประชาชน

เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2565 ที่โรงเรียนบ้านหว้าหลัง ม.10 ต.นาหว้า อ.จะนะ จ.สงขลา นายกัณวีร์ สืบแสง ประธานยุทธศาสตร์และรองหัวหน้าพรรคเป็นธรรม พร้อมด้วย นายฮากิม พงติกอ รองเลขาธิการพรรคเป็นธรรม ลงพื้นที่พบปะ ชาวบ้านหว้าหลังกว่า 30 คน นำโดยนายประเสิรฐ เสนาจิตร ผู้ใหญ่บ้าน ม.10 นายอภิวัฒน์ พรหมทอง รองนายกอบต.นาหว้า และ นายประทีป ไชยยอด นายกอบต.นาหว้า เป็นตัวแทนชาวบ้าน ม.10 กว่า 116 ครัวเรือน ชี้แจงข้อเท็จจริงการถือครองที่ดิน ส.ค.1 ซึ่งมีมากว่า 67 ปี นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2498 เช่นเดียวกับคนไทยทั่วประเทศที่มีเอกสาร ส.ค.1 ในยุคนั้น และส่วนใหญ่ได้รับการออกโฉนดที่ดิน ได้ใช้ประโยชน์ในสิทธิทำกินมาหลายชั่วอายุคนแล้ว แต่สำหรับชาวบ้านหว้าหลัง กลับไม่สามารถใช้สิทธิของตัวเองได้ ทั้งๆที่อยู่อาศัยและทำกินมายาวนานกว่า 200 ปี

“คนที่มี ส.ค.1 มาตั้งแต่รุ่นปู่ รุ่นย่า มาตั้งแต่ปี 2498 ที่ผ่านมามีการมารังวัดเพื่อยื่นขอโฉนดแล้ว มีการออกใบไต่สวนมาหลายปี ยังไม่ได้ ตามหลักการออกโฉนดที่ดิน ใช้เวลา 90 วันเท่านั้น แต่นี่ผ่านมา 10-20-50-67 ปีแล้วทำไมถึงออกไม่ได้ ผมเดินมาทุกทางในฐานะผู้ใหญ่บ้าน ทำมาทุกอย่างแล้ว ก็ยังไม่สามารถช่วยชาวบ้านได้ ยิ่งปัจจุบันหลายคนขอกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางไม่ได้ เพราะทางป่าไม้โดยเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาเหรงมาคัดค้าน”

นายประเสริฐ เสนาจิตร ผู้ใหญ่บ้าน ชี้แจงถึงปัญหาของชาวบ้านหว้าหลังที่ไม่สามารถขอออกโฉนดที่ดินทำกินได้อย่างถูกต้อง ทั้งๆที่ถือครอง ส.ค.1 มากว่า 67 ปี และมีการยื่นขอเอกสารสิทธิ์มาอย่างต่อเนื่อง จนปัจจุบัน ผู้แจ้งชื่อตาม ส.ค.1 เสียชีวิตไปเกือบทั้งหมดแล้ว รวมถึงบุคคลที่มีชื่อใกล้เคียง รวมถึงเอกสาร ส.ค.1 ตัวจริงก็เริ่มเปื่อยยุ่ยไปตามกาลเวลา และบางส่วนเอกสารสูญหายไปกับการถูกหลอกลวง และสำนักงานที่ดินของ อ.จะนะ ถูกไฟไหม้ เมื่อนานมาแล้ว และล่าสุดไม่กี่ปีที่ผ่านมา ชาวบ้านหลายคนที่เคยขอทุนกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางมาได้ 3-4 รุ่น หรือกว่า 20-30 ปีแล้ว ไม่สามารถขอทุนปลูกสวนยางได้ใหม่ เพราะทางเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาเหรง มาคัดค้าน

นายกัณวีร์ เปิดเผยว่าได้รับทราบเรื่องราวของชาวบ้านหว้าหลัง และชาวตำบลนาหว้า รวมถึงชาวอำเภอจะนะ จ.สงขลา ในหลายพื้นที่ ที่มีปัญหาไม่สามารถออกโฉนดที่ดิน ทั้งๆที่มีหลักฐาน ส.ค.1 อย่างถูกต้อง จึงลงพื้นที่มารับฟังข้อเท็จจริงด้วยตนเอง และพบว่า บ้านหว้าหลังเป็นหมู่บ้านที่มีประวัติศาสตร์ชุมชนมายาวนานกว่า 200 ปี และได้เข้าสู่กระบวนการพิสูจน์เอกสารสิทธิ์มาแล้วหลายครั้ง ใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 30 ปี ก็ไม่สามารถออกโฉนดได้ จึงต้องการทราบข้อเท็จจริงจากรัฐด้วยว่า เหตุผลใดถึงกระบวนการต่างๆจึงล่าช้า และล่าสุดยังมีปัญหาการอ้างเขตป่ามาทับที่ทำกินของชาวบ้านอีก

“ผมมาตามสัญญาที่ให้ไว้กับพ่อแม่พี่น้องบ้านหว้าหลัง เพราะไม่เชื่อว่ายังมีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นในประเทศไทย ประชาชนที่ถือครองเอกสารสิทธิ์มากว่า 67 ปี ยังไม่สามารถออกโฉนดที่ดินได้ ทั้งๆที่ ที่อื่นๆ ที่มี ส.ค.1 เหมือนกัน เขาได้ออกโฉนดทำกิน บางที่ขายไปหลายทอด มีเงินมีรายได้ จนบางทีกลายเป็นของต่างชาติไปแล้วก็มี แต่พี่น้องเป็นคนไทยทำไมถึงยังไม่ได้สิทธิทำกินเป็นของตัวเอง” นายกัณวีร์ กล่าว

นายจรูญ สังข์ทอง เปิดเผยว่า พ่อของตนเองได้เอกสาร ส.ค.1 มาตั้งแต่ปี 2498 ตอนนั้นตนเองอายุ 2 ขวบ มาจนวันนี้อายุ 69 ปีแล้ว พ่อแม่ก็ตายไปแล้ว ส่วนตัวก็แก่ตัวลงทุกวัน ไม่รู้ว่าจะได้โฉนดที่ดินในตอนที่ยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ ก็เป็นเรื่องที่ชาวบ้านทุกข์ใจมาโดยตลอด เพราะไม่สามารถทำกินได้เหมือนเดิม อย่างตนเองมีคนมาขอซื้อที่ดิน จะทำการปลูกทุเรียน แต่ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ป่าไม้มาบอกว่าทำไม่ได้และจะเข้าจับกุม ทำให้ชาวบ้านหวาดกลัว จึงอยากให้มีการตรวจสอบเพราะหมู่บ้านนี้อาศัยมานานแล้ว เฉพาะครอบครัวตนเองก็อยู่กันมา 3 รุ่น ตั้งแต่รุ่นย่าเสียชีวิตอายุ 87 ปี รุ่นแม่เสียชีวิต อายุ 80 ปี มาถึงตนเองก็ 69 ปีแล้ว รวมกันก็ไม่ต่ำกว่า 200 ปี

“ยังมีหลักฐานต้นทุเรียนพื้นบ้านอายุกว่า 100 ปี สวนยางก็ทำกันมาไม่ต่ำกว่า 34 ปีที่พ่อผมขอทุน สกย.ครั้งแรก รวมถึงชาวบ้านทั้งหมู่บ้านได้ขอทุนกองทุนสวนยางฯ มาตั้งแต่ปี 2525 ก็น่าจะเป็นหลักฐานทางราชการที่ยืนยันได้หรือไม่ว่าชาวบ้านทำกินมาก่อนประกาศเขตป่าไม้ และทุกวันนี้ยังถูกจำกัดสิทธิ์จากป่าไม้ด้วย”

นายจรูญ เปิดเผยว่า ยังมีหลักฐานที่เป็นหลักหมุด หลวงพินิจภูวดล หมุดที่ 1 มีการสลักชื่อ นายสาย ณ บ้านเมือง ตั้งแต่ปี พ.ศ.2485 โดยให้ชาวบ้านหว้าหลังเป็นคนขนทรายขึ้นไปก่อหลักหมุดด้วย จึงน่าจะเป็นหลักฐานประวัติศาสตร์ชุมชนที่มายืนยันได้ว่าชาวบ้านหว้าหลังคือชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมที่อยู่อาศัยมาก่อนประกาศเขตป่าสงวนและการประกาศเขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาเหรงที่มาทีหลัง

นายประเสริฐ เสนาจิตร ผู้ใหญ่บ้านหว้าหลัง เปิดเผยเพิ่มเติมว่า เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาเหรง มีการประกาศเมื่อปี 2530 แต่ชาวบ้านทำมาหากินมานานแล้ว จึงอยากให้มีการช่วยเหลือชาวบ้านเพื่อให้ได้มีเอกสารสิทธิ์ที่ดินทำกิน โดยที่ผ่านมาชาวบ้านได้ทำตามกฏหมายไม่ว่าจะการทำสวนยาง ทำการเกษตร และยังช่วยอนุรักษ์ป่าไม้ไว้ด้วย เท่าที่ทราบว่าตอนจะมีการประกาศเขตห้ามล่าสัตว์ป่า ผู้นำชาวบ้านสมัยนั้นก็คิดแค่ว่าการประกาศเขตก็เพื่อจะได้ช่วยกันดูแลรักษาสัตว์ป่า โดยไม่ได้รู้ความจริงว่าการประกาศเขตห้ามล่าฯ กลับเอาที่ดินของตนเองไปด้วย ปัญหาก็เลยเกิดจนถึงปัจจุบัน

ขณะที่นายนิยม เอียดศรีไชย อดีตครู และผู้อำนวยการ ร.ร.บ้านหว้าหลัง เปิดเผยด้วยว่า บ้านหว้าหลังมีประวัติศาสตร์มายาวนาน แต่เป็นหมู่บ้านที่ขาดโอกาสในการพัฒนาทั้งเรื่องเส้นทางตั้งแต่ในอดีต แม้มีโรงเรียนแต่ลูกหลานของชาวบ้าน ก็ขาดโอกาสทางการศึกษา ส่วนหนึ่งเพราะพ่อแม่อาจไม่สามารถทำกินได้ตามสิทธิประโยชน์ที่ควรได้รับ โดยเฉพาะการไม่มีเอกสารสิทธิ์ ทำให้ขาดโอกาส ตนเองก็เป็นหนึ่งในชาวบ้านหว้าหลัง ที่อาจได้เรียนหนังสือ จนปัจจุบันอายุ 63 ปี เกษียณอายุราชการแล้ว ก็หวังจะได้เห็นชาวบ้านได้มีสิทธิทำกิน และที่ผ่านมาชาวบ้านเองต่างยึดถือแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง ร.9 ทำการเกษตรแบบพออยู่พอกินและยังช่วยกันอนุรักษ์ป่าไม้ และทำตามขั้นตอนในการขอเอกสารสิทธิ์ อย่างที่ดินของตนเองก็เข้าสู่กระบวนการมากว่า 10 ปี ตั้งแต่ปี 2551 จนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีการอนุมัติ

“สิ่งที่ตนเองอยากให้ชาวบ้านได้สิทธิทำกิน ก็เพื่อโอกาสในการศึกษาของเด็กๆในหมู่บ้าน และโอกาสในการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของชาวบ้าน ที่ผ่านมาชาวบ้าน ต่างช่วยกันรักษาชุมชนของเรา มีการเกษตร รักษาป่าไม้ มีโรงเรียน และอยากมีวัด ที่เป็นศูนย์กลางทางศาสนา แต่บ้านเรามีได้แค่ที่พักสงฆ์ เพราะไม่สามารถตั้งเป็นวัดได้ เพราะไม่มีเอกสารสิทธิ์ ก็กลายเป็นความเหลื่อมล้ำหนึ่งเหมือนกัน” นายนิยม กล่าว

นายประทีป ไชยยอด นายกอบต.นาหว้า เปิดเผยด้วยว่า ไม่เพียงแต่ชาวบ้านหว้าหลัง แต่ชาวบ้านตำบลนาหน้า และอีกหลายตำบลของอำเภอจะนะ ก็ประสปปัญหาเช่นเดียวกัน เป็นเรื่องที่ตนเองในฐานะผู้นำท้องถิ่นก็พยายามหาทางออกมากว่า 20 ปีก็ยังทำไม่สำเร็จ ก็อยากให้ชาวบ้านได้มีเอกสารสิทธิทำกินได้เสียทีหลังรอคอยมาหลายชั่วอายุคน

หลังได้ฟังข้อมูลจากชาวบ้าน นายกัณวีร์ เปิดเผยว่า พรรคเป็นธรรมจะตั้งคณะทำงานมาจัดทำข้อมูล ทั้งเรื่องเอกสาร ส.ค.1 ขั้นตอนการขอเอกสารสิทธิ์ ซึ่งจะสอบถามไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าทำไมถึงล่าช้าและมีปัญหาอยู่ที่หน่วยงานใด รวมถึงการร้องเรียนไปยังหน่วยงานต่างๆ เพื่อยืนเคียงข้างประชาชนให้ได้สิทธิทำกินที่เป็นของตนเองให้ได้

Related Posts

Send this to a friend

Thailand Web Stat