กมธ.ความมั่นคง สภาฯ เชิญหน่วยงานความมั่นคง ถกทางแก้ผู้ลี้ภัย-หนีภัยเมียนมา

กมธ.ความมั่นคง สภาฯ เชิญหน่วยงานความมั่นคง ถกทางแก้ผู้ลี้ภัย-หนีภัยเมียนมา ทบ. เผยมาตรการตอบโต้การรุกล้ำจากเบาไปหาหนัก ย้ำไม่เป็นปฏิปักษ์กับใคร กต. คาดสู้รบยืดเยื้อ มุ่งส่งตั้งถิ่นฐานใหม่สหรัฐฯ สมช. มองผู้หนีภัยควบสถานะแรงงานไม่ได้ เห็นพ้องส่งไปประเทศที่สาม
วันนี้ (26 ต.ค. 66) เวลา 09:30 น. มีการประชุมคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติ และการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 4 ณ อาคารรัฐสภา วาระพิจารณาปัญหาและแนวทางแก้ไขเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยและผู้หนีภัยการสู้รบตามแนวชายแดนไทย – เมียนมา โดยมีนายรังสิมันต์ โรม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) พรรคก้าวไกล ประธานกรรมาธิการฯ ทำหน้าที่ประธานการประชุม
คณะกรรมาธิการฯ ได้เชิญบุคคลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาชี้แจง ได้แก่ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) และปลัดกระทรวงมหาดไทย (มท.)
นายพืชภพ มงคลนาวิน รองอธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ ในฐานะผู้แทนปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยข้อมูลว่า รายงานล่าสุดเกี่ยวกับยอดผู้หนีภัยการสู้รบจากเมียนมา (ผภร.) มี 77,838 คน กระจายในพื้นที่พักพิง 9 แห่ง ใน 4 จังหวัดชายแดนไทย – เมียนมา คือ แม่ฮ่องสอน 4 แห่ง ตาก 3 แห่ง กาญจนบุรี 1 แห่ง และราชบุรี 1 แห่ง โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ประมาณ 3-5 ล้านบาท/ปี ขณะที่กระทรวงมหาดไทยก็อนุญาตให้องค์กรที่ไม่ใช่รัฐบาล (NGO) 13 องค์กรดำเนินกิจกรรมให้ความช่วยเหลือดูแลด้านอาหาร สุขาภิบาล อนามัยเจริญพันธุ์ และการป้องกันทุ่นระเบิด เป็นต้น
ผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศ ประเมินว่า สถานการณ์ความขัดแย้งในปัจจุบันมีแนวโน้มยืดเยื้อ ไม่น่าหาทางออกได้ในระยะสั้น คาดว่ากลุ่ม ผภร. ต้องอยู่ในประเทศไทยไปอีกสักพัก จึงมีการแสวงหาแนวทางดูแลเพิ่มเติม โดยล่าสุด พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้เห็นขอบในหลักการข้อเสนอของสหรัฐอเมริกา ในการตั้งถิ่นฐานใหม่ (Resettlement) ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งถือเป็นพัฒนาการที่ดี ขณะเดียวกัน UNHCR และกระทรวงมหาดไทยอยู่ระหว่างการเก็บสำรวจข้อมูลประชากรในพื้นที่พักพิงต่าง ๆ คาดว่าการดำเนินการจะแล้วเสร็จภายในปี 2566 ซึ่งคาดว่าสามารถตั้งถิ่นฐานใหม่ในรอบนี้ได้ถึง 2,500 คน
ส่วนกลุ่มผู้หนีภัยความไม่สงบชาวเมียนมา (ผภสม.) มีการทยอยหนีภัยเข้ามาเป็นกลุ่มย่อย ๆ ในประเทศไทยรวมประมาณ 51,280 ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์รัฐประหารในเมียนมา เพื่อหนีการปะทะกันระหว่างกองทัพเมียนมาและชนกลุ่มน้อย บางส่วนเข้ามาเพียง 2-3 วันแล้วกลับไปเนื่องจากมีทรัพย์สินและบ้านเรือนอยู่ในเมียนมา โดยปัจจุบันเหลือ ผภสม. ติดอยู่ในประเทศไทยราว 7,000 คน กระจายอยู่ใน 5 แห่งตามแนวชายแดน โดยรัฐบาลมีการเตรียมการจัดทำพื้นที่ชั่วคราวรองรับ ซี่งอยู่ในความดูแลของกองทัพ ทั้งยังดำเนินการให้ความช่วยเหลือทวิภาคี และกรอบอาเซียน ซึ่งรัฐบาลมีศักยภาพในการดูแลคนเหล่านี้ได้เอง โดยไม่ได้ขอความช่วยเหลือจากองค์การระหว่างประเทศ
นางสาวอัญชลี ดวงแก้ว ผู้อำนวยการกองความมั่นคงภายในประเทศ ในฐานะผู้แทนเลขาธิการ สมช. ชี้แจงว่า ผู้หนีภัยชาวเมียนมาบางส่วน มีความต้องการอยู่ในประเทศไทย โดยนโยบายของไทยคืออนุญาตให้อยู่อาศัยเป็นการชั่วคราว สำหรับ ผภร. ไม่มีการจัดสอนภาษาไทยอย่างเป็นระบบ หรือแม้แต่ ผภสม. บางส่วนก็ไม่ประสงค์เรียนภาษาไทย เพราะต้องการเรียนภาษาอังกฤษหรือภาษาชนกลุ่มน้อยมากกว่า ขณะเดียวกัน สมช. ได้จัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจ ผภสม. แล้ว ซึ่งคาดว่าต้องมีการผลักดันกลไกในการเจรจาแก้ไขปัญหาในเวทีต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง
“ทั้งสองกลุ่มนี้ สมช. เห็นควรผลักดันแก้ไขโดยอาศัยการสนับสนุนจากประเทศที่สามให้แก้ไขโดยเร็ว การดำเนินนโยบายที่แข็งกร้าวต่อเมียนมา ควรดำเนินการผ่านช่องทางระดับพหุภาคี โดยเฉพาะกลไกอาเซียน ซึ่งสอดคล้องนโยบายพรรครัฐบาลชุดใหม่ ที่ส่งเสริมให้ไทยแสดงบทบาทในกรอบอาเซียนมากขึ้น และผลักดันให้อาเซียนสร้างความสมานฉันท์ในการแก้ไขปัญหาในเมียนมา เพื่อหลีกเลี่ยงการสร้างความขัดแย้งโดยตรงระหว่างไทยและเมียนมา”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในที่ประชุมฯ มีกรรมาธิการให้ความเห็นและสอบถามเกี่ยวกับการอนุญาตให้ผู้หนีภัยใช้แรงงานขณะอยู่ในประเทศไทยด้วย ผู้อำนวยการกองความมั่นคงภายในประเทศ สมช. ชี้แจงว่า การอนุญาตให้ผู้หนีภัยเป็นแรงงานอาจกระทบต่อการนำเข้าแรงงานต่างด้าวตามระบบ MOU ได้ โดยกรณีผู้หนีภัยนี้ ทางการเมียนมาให้ผู้หนีภัยกลับเข้าไปแสดงตนก่อน แล้วกลับเข้ามาในประเทศไทย แต่สถานการณ์ปัจจุบันการดำเนินการส่วนนี้ชะงักลง ขณะเดียวกัน รัฐบาลไทยเกิดคำถามว่า ผู้หนีภัยที่ประสงค์ทำงาน จะเป็นทั้งสถานะผู้หนีภัยที่รับความช่วยเหลือ และแรงงานได้อย่างไร
เช่นกันกับ นายพิชญเดช โอสถานนท์ นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษ สมช. ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ผู้หนีภัยชาวเมียนมา มีสถานะเป็นบุคคลเข้าเมืองผิดกฎหมายตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 สมช. จึงหาทางออกยั่งยืนคือ นโยบายการส่งกลับโดยสมัครใจ แต่มีข้อจำกัดอย่างสถานการณ์ในเมียนมา และนโยบายการตั้งถิ่นฐานใหม่อย่างในประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งคาดการณ์ว่าจะได้ปีละหมื่นคน
ด้าน นางวรสุดา รัตนสุคนธ์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้แทนปลัดกระทรวงมหาดไทย ชี้แจงความรับผิดชอบของกระทรวงมหาดไทยว่า ดูแลพื้นที่พักพิงชั่วคราว 9 แห่งใน 4 จังหวัด 8 อำเภอที่รวมแล้วมี ผภร. 78,574 คน โดยมีการจัดการปกครองตนเองผ่านคณะกรรมการพื้นที่พักพิง (Camp Committee) โดยมีปลัดอำเภอเป็นผู้อำนวยการพื้นที่พักพิง พร้อมหน่วยรักษาดินแดนและ NGO ช่วยดูแล
ผู้แทนกระทรวงมหาดไทย ชี้แจงว่า พื้นที่พักพิงชั่วคราวมีมาตั้งแต่ พ.ศ. 2527 ถือว่าดำเนินการมาในห้วงระยะเวลายาวนานแล้ว การดำเนินการจึงค่อนข้างนิ่ง ปัญหาที่เกิดขึ้นจึงมักเป็นข้อเรียกร้องของชาวเมียนมาในพื้นที่พักพิงตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เช่น การขอไปทำงานนอกพื้นที่
ส่วนกรณี ผภสม. ผู้แทนปลัดกระทรวงมหาดไทยชี้แจงว่ามีจำนวน 6,937 รายอยู่ในพื้นที่ปลอดภัยชั่วคราว ใน 3 อำเภอในจังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยมีฝ่ายทหารเป็นผู้ดูแล หากเกิดเหตุการณ์ไม่สงบ กระทรวงมหาดไทยในฐานะหน่วยงานสนับสนุน ก็เตรียมพื้นที่ปลอดภัยชั่วคราวเพิ่มเติมไว้รองรับได้ถึง 70,000 รายในจังหวัด 5 จังหวัดชายแดน ยืนยันว่า ปลัดกระทรวงมหาดไทย และอธิบดีกรมการปกครอง แจ้งผู้ว่าฯ และนายอำเภอ ให้รายงานเพื่อให้ดำเนินการในระดับนโยบาย ตลอดจนถือตามกรอบระเบียบแนวทางที่ สมช. กำหนดแนวทางไว้ชัดเจน และถือหลักมนุษยธรรมในการบริหารจัดการชาวเมียนมา
ด้าน พล.ต.ชัชช์ มนตรีมุข ผู้อำนวยการสำนักปฏิบัติการ กรมยุทธการทหารบก ชี้แจงว่า กองทัพบกได้กำหนดช่องทางตามชายแดน รวม 23 แห่ง ทั้งพื้นที่ปลอดภัยและพื้นที่พักรอ ที่ผ่านมามี ผภสม. สามารถเข้ามาในพื้นที่ปลอดภัยได้อย่างปลอดภัย ภายใต้การดูแลของหน่วยงานความมั่นคง และดูแลตามหลักมนุษยธรรม จนสามารถส่งกลับได้เมื่อสถานการณ์ปลอดภัย ถือเป็นภารกิจแฝงของกองทัพบก
ส่วนภารกิจหลักของกองทัพบกนั้น กองทัพบกเตรียมกำลังให้มีความพร้อมปกป้องอธิปไตยและผลประโยชน์ของชาติ กรณีมีการล้ำแดนของกองกำลังในประเทศเพื่อนบ้านนั้น ก็มีมาตรการจากเบาไปหาหนัก ตลอดจนใช้กลไกความสัมพันธ์ระหว่างผู้บังคับบัญชาหน่วยพื้นที่กับเพื่อนบ้านตามแนวชายแดน เพื่อแจ้งเตือนตั้งแต่ระดับพื้นที่ ถึงกองบัญชาการกองทัพไทย (บก.ทท.) หากไม่ยุติ กองทัพบกจะใช้มาตรการทางทหารเพื่อตอบโต้ ผลักดัน และขับไล่ฝ่ายตรงข้ามให้ออกนอกประเทศได้โดยเร็วที่สุดตามสัดส่วนของภัยคุกคาม บนพื้นฐานอธิปไตยและความถูกต้อง
พล.ต.ณรงค์ฤทธิ์ ปาณิกบุตร ผู้บัญชาการกองกำลังนเรศวร ชี้แจงว่า มีพื้นที่รับผิดชอบในจังหวัดตาก และจังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยหลักของการปฏิบัติการทางทหารจะมีการดูแลผู้ที่เดือดร้อนให้อยู่ในสภาพปลอดภัย ในพื้นที่ที่เราเตรียมการไว้ และให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม ผ่านจุดรับการสนับสนุน ณ ที่ว่าการอำเภอ และต่อมาก็เชิญ UNHCR ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง และ NGO มาประชุมถอดบทเรียน จนทำเป็นโมเดลทั้งในอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก และจังหวัดแม่ฮ่องสอน
พล.ต.ณรงค์ฤทธิ์ ยังชี้แจงข้อจำกัดในที่ประชุมว่า เส้นแนวชายแดนเส้นตรงลากจากเขาลูกหนึ่งไปอีกลูกหนึ่ง ยากที่จะเห็นเขตแดน จึงมีโอกาสที่อีกฝ่ายล้ำแดนมาได้ เมื่อโดนไล่ติดตาม ก็ไม่รู้จะออกทางใด จึงต้องมีการวางกำลังใหม่ให้สอดคล้องกับพื้นที่นี้เพิ่มเติม แต่ที่ผ่านมาคิดว่ากองกำลังนเรศวรแก้ปัญหาได้ดีมากพอสมควรสำหรับผลกระทบในระยะยาวบนพื้นฐานความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ยืนยันว่าดำเนินการโดยไม่เป็นปฏิปักษ์กับกลุ่มใด ตามกรอบอาเซียน หากชนกลุ่มน้อยเมียนมามีการบาดเจ็บก็ช่วยเหลือทางมนุษยธรรม หากมีการติดอาวุธ ก็จะตรวจอาวุธและส่งกลับไปตามหลักมนุษยธรรม
ผู้อำนวยการกองความมั่นคงภายในประเทศ ในฐานะผู้แทนเลขาธิการ สมช. ยังกล่าวเสริมว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการครอบคลุม ไม่ว่าจะเป็นกรณีกระสุนตกฝั่งไทย มีกองกำลังติดอาวุธล่วงล้ำอธิปไตย อากาศยานรุกล้ำน่านฟ้าไทย หรือการชี้แจงต่อประชาชน โดยทางกองทัพบกและกองกำลังนเรศวรก็ได้ปฏิบัติตามแนวทางนี้เช่นกัน