POLITICS

‘ปานปรีย์’ เตรียมบินหลวงพระบาง ร่วมประชุม รมต.ต่างประเทศอาเซียน

‘ปานปรีย์’ เตรียมบินหลวงพระบาง ร่วมประชุม รมต.ต่างประเทศอาเซียน ครั้งแรก ชู ‘ไทย’ เริ่มหารือ ‘เมียนมา’ มอบความช่วยเหลือมนุษยธรรมให้มากขึ้น ย้ำบทบาทเชิงรุก-ยึดมั่นฉันทามติ 5 ข้อ เพื่อบรรลุผลลัพธ์ทางการเมือง

วันนี้ (26 ม.ค. 67) นางกาญจนา ภัทรโชค อธิบดีกรมสารนิเทศ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ แถลงข่าวต่อสื่อมวลชน ณ กระทรวงการต่างประเทศ เกี่ยวกับภารกิจด้านการต่างประเทศของ นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ หรือ ASEAN Foreign Ministers’ (AMM) Retreat ณ เมืองหลวงพระบาง สปป. ลาว ระหว่างวันที่ 28 – 29 มกราคม 2567 ซึ่งจะถือเป็นการเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนครั้งแรกของนายปานปรีย์ ด้วย

โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า ฝ่ายลาวจะแจ้งประเด็นสำคัญที่จะผลักดันในการเป็นประธานอาเซียนในปี 2567 ภายใต้แนวคิดหลัก “อาเซียน : การยกระดับ การเชื่อมโยง และความเข้มแข็ง“ ถือเป็นโอกาสให้ทุกประเทศหารือ เพื่อร่วมกำหนดทิศทางการดำเนินงานของอาเซียนตลอดปี 2567 รวมถึงจะหารือประเด็นภูมิภาคระหว่างประเทศที่อยู่ในความสนใจร่วมกัน เช่น วิสัยทัศน์อาเซียน 2045

สำหรับสถานการณ์ในภูมิภาค และสถานการณ์ในเมียนมา ฝ่ายไทยจะใช้โอกาสนี้หยิบยกประเด็นการเริ่มหารือกับเมียนมา เกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมในเมียนมา เพื่อให้เกิดผลต่อประชาชน ซึ่งเป็นเรื่องของมนุษยธรรมอย่างแท้จริง

โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า ไทยในฐานะที่เป็นประเทศเพื่อนบ้านมีความสัมพันธ์กับประเทศลาว พร้อมสนับสนุนการทำหน้าที่ประธานอาเซียนของลาว และจะช่วยผลักดันในประเด็นที่มีประโยชน์ต่อประเทศไทย และอาเซียนอย่างเต็มที่

นางกาญจนา ยังตอบคำถามสื่อมวลชนต่างประเทศ เกี่ยวกับบทบาทของไทยต่อสถานการณ์ในเมียนมาว่า แน่นอนว่าเมียนมาเป็นเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิด ประเทศไทยพยายามมีบทบาทเชิงรุก เพื่อให้มั่นใจว่าฉันทามติ 5 ข้อของอาเซียน ยังคงได้รับการยึดถืออยู่ และมีความคืบหน้าได้ ซึ่งคาดว่าเป็นความพยายามของรัฐบาลนี้ ดังนั้น เพื่อที่จะให้เกิดผลลัพธ์ทางการเมือง เราพยายามจะทำให้เกิดความร่วมมือ และมอบความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมมากขึ้น ให้กับผู้คนในเมียนมาที่ได้รับผลกระทบจากการสู้รบ

ส่วนข้อเสนอเกี่ยวกับการทบทวนหลักการไม่แทรกแซงกิจการภายในนั้น นางก่ญจนา มองว่า หลักการดังกล่าวค่อนข้างเป็นที่ถกเถียง เพราะในภาคราชการถือเป็นตัวช่วย ในหมู่ประเทศอาเซียนไม่มีความขัดแย้งใหญ่ที่กระทบทุกประเทศเทียบเท่าภูมิภาคอื่น เพราะอาเซียนมีสันติภาพ เสถียรภาพ และการเติบโตในระดับหนึ่ง ภูมิภาคอื่นของโลกมองมายังอาเซียนและเอเชียเป็นภูมิภาคที่มีโอกาสด้านเศรษฐกิจมาก อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่าเราไม่ทำงานกับประเทศสมาชิกในเวลามีปัญหา เพราะมีประเทศสมาชิกพยายามประคับประคองสถานการณ์โดยการพูดคุยกับผู้นำต่าง ๆ ด้วย

นอกจากนี้ นายปานปรีย์ ยังมีกำหนดเข้าร่วมประชุม EU Indo-Pacific Ministerial Forum (IPMF) ครั้งที่ 3 และ ASEAN-EU Ministerial Meeting (AEMM) ครั้งที่ 24 ณ ราชอาณาจักรเบลเยียม (2 ก.พ.) ต่อไปด้วย

Related Posts

Send this to a friend