’พิธา‘ กลับมาแล้ว อภิปรายแก้ปัญหาขยะสมุทรปราการ-ภูเก็ต
เสนอ 5 แนวทาง เพิ่มงบ-โอนอำนาจให้หน่วยงานท้องถิ่น ออก พ.ร.บ.จัดการขยะ ส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน
วันนี้ (26 ม.ค.67) นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายในญัตติการบริหารจัดการขยะชุมชนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยกล่าวว่า “ผมกลับมาแล้ว อาจจะเป็นเวลานานถึง 6 เดือนที่ไม่ได้มีโอกาสเข้ามาอภิปรายปัญหาของพี่น้องประชาชนในสภาฯ แห่งนี้”
นายพิธา ยกประสบการณ์การลงพื้นที่ 2 แห่งระหว่างถูกหยุดปฏิบัติหน้าที่ได้แก่ บ่อขยะตำบลแพรกษาใหม่จังหวัดสมุทรปราการ และบ่อขยะเทศบาลนครจังหวัดภูเก็ต ซึ่งมีความแตกต่างกัน จังหวัดสมุทรปราการเป็นเมืองอุตสาหกรรม ส่วนจังหวัดภูเก็ตเป็นเมืองท่องเที่ยว
นายพิธา เปิดภาพบ่อขยะตำบลแพรกษาใหม่ จังหวัดสมุทรปราการ ที่มีความสูงเทียบเท่ากับตึก 5-10 ชั้น มีปริมาณขยะ 2,830 ตันต่อวัน สามารถจัดการขยะได้อย่างถูกต้องตามสุขลักษณะ 300 ตันต่อวัน และมีขยะที่ถูกจัดการไม่ถูกต้อง 2,530 ตันต่อวัน ส่งผลกระทบต่อสุขภาพชาวสมุทรปราการ ตรวจพบสารพิษสูงเกินมาตรฐานในน้ำบาดาลเพื่อการบริโภค ถัดจากบ่อขยะเป็นโรงเรียนเด็กเล็ก เสี่ยงอัคคีภัยที่เกิดจากการไม่มีระบบรวมแก๊สที่เกิดขึ้นจากการฝังกลบ
เมื่อดู GDP จังหวัดสมุทรปราการอยู่ที่ 660,865 ล้านบาท เทียบกับงบประมาณ อปท.ในเขตจังหวัดสมุทรปราการ 1,654 ล้านบาท คิดเป็น 0.25% ของ GDP ของจังหวัดสมุทรปราการ
ขณะที่บ่อขยะเทศบาลนครจังหวัดภูเก็ต ซึ่งอยู่ใกล้กับทะเล อยู่ในระดับ Emergency และอาจกลายเป็นสรวงสวรรค์ที่เต็มไปด้วยขยะในอนาคต โดยในจังหวัดภูเก็ตมีปริมาณขยะสูงสุด 871 ตันต่อวัน มีความสามารถในการเผา 700 ตันต่อวัน ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยว GDP จังหวัดภูเก็ตอยู่ที่ 202,555 ล้านบาท เทียบงบประมาณ อปท.ในจังหวัดภูเก็ต 10 แห่ง 633 ล้านบาท หรือคิดเป็น 0.31% เท่านั้น
หากมีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ควรจะมีข้อมูลสถานการณ์จัดการขยะ ทั้งต้นทาง กลางทาง และปลายทาง จากข้อมูลพบว่ามีในไทยมีปริมาณขยะที่ได้รับจัดการเพียง 88% ซึ่งไม่รู้ว่าได้รับการจัดการแบบมาตรฐานหรือไม่ ขณะที่จำนวน หลุมขยะในประเทศไทยมี 1,941 หลุม ได้มาตรฐาน 72 หลุม ส่วนเตาเผามีจำนวน 105 เตา ถูกต้องมาตรฐานเพียงแค่ 11 เตา
นายพิธา เสนอการวางกรอบการทำงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญ 5 ข้อครอบคลุม ทั้งการจัดการขยะ ตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง
1.ลดขยะต้นทางโดยการส่งเสริมให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) จัดตั้งหน่วยงานเฉพาะที่ทำหน้าที่รับผิดชอบ
2.ออกพระราชบัญญัติการบริหารจัดการขยะและการหมุนเวียนทรัพยากร ทำให้ผู้ผลิตต้องรับผิดชอบกับขยะที่เกิดขึ้นจากการผลิตและการใช้ซ้ำ ซึ่งเป็นกฎหมายที่พรรคก้าวไกล พยายามจะนำเสนอ
3.โอนอำนาจให้หน่วยงานส่วนท้องถิ่นมีอำนาจในการจัดการขยะ
4.เพิ่มงบประมาณสำหรับการดำเนินการบริหารจัดการขยะ หากใช้งบประมาณ 20 ล้านบาทต่อบ่อ งบประมาณการจัดการขยะกับเศรษฐกิจหมุนเวียนในปีนี้รวมกันแค่ 1,800 กว่าล้านบาท จึงต้องเพิ่มอีกอย่างน้อย 20 เท่า ถึงจะแก้ปัญหาบ่อขยะในประเทศไทยได้
5.ออกมาตรการด้านกองทุนฟื้นฟูพื้นที่ปนเปื้อนและสำหรับผู้รับบำบัดกำจัดขยะ เพื่อลดจำนวนขยะ ป้องกันปัญหาก่อนจะเกิด