POLITICS

‘นิกร’ ยัน พ.ร.บ.ประชามติ ไม่ใช่กฎหมายการเงิน ชี้ หากเป็นต้องเป็นตั้งแต่ปี 64

‘นิกร’ ยัน พ.ร.บ.ประชามติ ไม่ใช่กฎหมายการเงิน ชี้ หากเป็นต้องเป็นตั้งแต่ปี 64 แล้ว เหตุเงิน 3 พันล้านที่ใช้ทำประชามติเป็นเรื่องที่รู้อยู่แล้ว ระบุ หทักท้วงตอนนี้ถือว่าสายเกินไป หวั่น หากให้ ปธ.กมธ.ทุกคณะร่วมตัดสินกับประธานสภาฯ อาจผิดรัฐธรรมนูญได้

วันนี้ (25 พ.ย. 67) เวลา 13.30 น. ที่รัฐสภา นายนิกร จำนง ในฐานะกรรมาธิการ (กมธ.) ร่วมเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ กล่าวถึงกรณีที่มีการระบุว่ากฎหมายประชามติเป็นกฎหมายการเงิน เพื่อลดเวลาพักร่างกฎหมาย 180 วัน ว่า ส่วนตัวเชื่อว่าร่างกฎหมายประชามติไม่เป็นกฎหมายการเงิน ร่าง พ.ร.บ.ทั้ง 4 ฉบับที่เสนอเข้ามาตนเองตรวจสอบดูแล้ว ประธานสภาฯ ลงนามชี้ไปแล้วว่าไม่เป็นกฎหมายการเงิน ซึ่งหลักการในการพิจารณาตามข้อบังคับการประชุมสภาฯ

ทั้งนี้ หากมีใครสงสัย หรือประธานมองว่าเป็นกฎหมายการเงิน ก็จะชี้ว่าเป็นกฎหมายการเงิน และเมื่อประธานชี้ว่าเป็นกฎหมายการเงิน ผู้ที่ยื่นอาจจะมีข้อสงสัยว่าไม่เป็นกฎหมายการเงิน เมื่อไม่เป็นตามกลไลของสภาฯ หากตกลงกันไม่ได้ ก็ต้องเชิญประธานกรรมาธิการทุกคณะมาตัดสินร่วมกับประธานสภาฯ แต่ขั้นตอนเลยมาแล้ว และในระหว่างพิจารณาอาจจะมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง จากไม่เป็น พ.ร.บ.การเงิน ก็กลายเป็น พ.ร.บ.การเงินขึ้นมา ก่อนจะโหวตวาระ 3 มีข้อสงสัยก็สามารถทำได้อีกครั้งหนึ่ง แต่สภาฯ โหวตวาระ 3 ไปแล้ว ซึ่งไม่มีข้อสงสัย จึงถือว่าเลยจุดนั้นมาแล้ว โดยไม่มีใครชี้ว่าเป็น พ.ร.บ.การเงิน

“จริง ๆ แล้วมันไม่เป็น พ.ร.บ.การเงิน และตอนที่เราทำกฎหมายนี้ เราก็รู้อยู่แล้วว่ามันต้องใช้เงิน 3 พันกว่าล้านบาท ซึ่งถือว่ารู้อยู่ก่อนแล้ว แล้วมาแก้ว่าจะเอาสัดส่วนเกณฑ์ออกเสียงประชามติ 2 ชั้นหรือ 1 ชั้น เท่านั้นเอง และถ้าเป็น พ.ร.บ.การเงิน ก็เป็นตั้งแต่ปี 64 แล้ว ไม่ใช่มาเป็น พ.ร.บ.การเงินตอนนี้ เพราะเราแก้เพียงบางมาตรา และเมื่อเสร็จสิ้นชั้นสภาฯ ไปแล้ว” นายนิกร กล่าว

นายนิกร กล่าวต่อว่า ตอนที่เสนอไปวุฒิสภา ประธานสภาฯ ยืนยันว่าไม่ใช่ พ.ร.บ.การเงิน ซึ่งประธานวุฒิสภาก็นำเข้าพิจารณาในชั้นนั้น อาจจะมีข้อสงสัยได้ แต่ก็ไม่มีข้อสงสัยเพราะไม่ใช่พ.ร.บ.การเงิน เมื่อถึงตอนนี้ถือว่าเลยเวลาข้อสงสัยมาแล้ว ซึ่งในความเห็นส่วนตัว ถ้าเราไปเชิญประธานกรรมาธิการทุกคณะมาร่วมกันพิจารณาแล้วใช้เสียงข้างมาก อาจจะผิดรัฐธรรมนูญได้ เพราะไม่เป็น พ.ร.บ.การเงิน หรือแม้จะเป็นก็เลยเวลาที่จะทักท้วงไป

นายนิกร กล่าวว่า ตนเองมีความเป็นห่วง เพราะอยากให้ พ.ร.บ.ประชามติ ออกมาเร็ว ไม่อยากให้ชะลอแม้แต่วันเดียว ถ้าเป็นแบบนี้ให้ไปตามเส้นทางดีกว่า เพราะถ้ามีปัญหาก็จะบวกอีก 180 วัน และเมื่อ 180 วันแล้ว ขั้นตอนการเสนอทูลเกล้าฯ ขั้นตอนการทำกฎหมายลูกของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) อีก ต่อจากนั้นต้องใช้เวลาประมาณ 100 วัน ในการทำประชามติครั้งแรก จึงประเมินว่าน่าจะทำประชามติต้นเดือน ม.ค. ปี 69 เท่ากับหายไป 1 ปี ถ้าแต่สุ่มเสี่ยงต่อการผิดกฎหมายแม้ไม่ชอบก็ต้องยอมรับสภาพ

นายนิกร เชื่อว่าการทำประชามติครั้งแรกอย่างไรก็ผ่านเพราะใช้รูปแบบอย่างง่ายของ สส.ก็จะไปลงประชามติปลายปี 68 หรือต้นปี 69 แต่น่าจะเป็นต้นปี 69 มากกว่า ไม่มีทางหลีกเลี่ยง เพราะเมื่อพักร่างไว้ 180 วัน บวกกับทำประชามติอีก 3 เดือน รวมเป็น 9 เดือน ฉะนั้น รวมช่วงรอยต่อและการเสนอทูลเกล้าฯ ก็ใช้เวลาพอสมควร เชื่อว่าใช้เวลา 1 ปีพอดี

Related Posts

Send this to a friend