ขาดลอย สภาฯ คว่ำญัตติ ‘ก้าวไกล’ เสนอทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญใหม่
มติสภาฯ ขาดลอย คว่ำญัตติ ‘ก้าวไกล’ เสนอทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญใหม่ สส.รัฐบาล ชี้ซ้ำซ้อนกลไก คกก.ที่รัฐบาลกำลังศึกษาอยู่ ‘โรม’ ถามผิดตรงไหน ไม่เชื่อคนไม่มีสัจจะ เบี้ยวทำประชามติตั้งแต่สัปดาห์แรก
วันนี้ (25 ต.ค. 66) มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 26 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) วาระพิจารณาญัตติ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาเห็นชอบและแจ้งให้คณะรัฐมนตรีดำเนินการให้มีการออกเสียงประชามติเพื่อสอบถามความเห็นของประชาชนต่อการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เป็นผู้เสนอ
หลังสมาชิกได้อภิปรายแสดงความเห็นกันอย่างกว้างขวาง ทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับญัตติ แต่สมาชิกส่วนใหญ่มีความเห็นตรงกันว่า มีความจำเป็นต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2560 ที่ยังมีความบกพร่อง และแก้ไขได้ยาก โดย สส. ที่อภิปรายไม่เห็นด้วยกับญัตติ ส่วนมากเป็น สส.รัฐบาลที่เห็นว่าซ้ำซ้อนกับกลไกคณะกรรมการศึกษาแนวทางการจัดทำประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2560 ที่รัฐบาลตั้งขึ้นมาแล้ว และอยู่ระหว่างดำเนินการศึกษา
นายครูมานิตย์ สังข์พุ่ม สส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย ย้ำว่า พรรคเพื่อไทยเห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ต้องไม่ยุ่งเกี่ยวกับหมวด 1 และหมวด 2 และเท่าที่ทราบมาประชาชนสนใจแต่เรื่องปากท้อง ราคาพืชผลต่าง ๆ ทั้งนั้น ไม่มีใครถามเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ หรือการทำประชามติ หรืออาจจะเป็นผู้แทนตลาดล่างก็ได้ เพราะมาจากพี่น้องประชาชน และพรรคเพื่อไทย หัวใจคือประชาชน
“มาช่วยกันก่อนสิครับ ถ้ามันไม่ดี ไม่สมบูรณ์ตรงไหน ก็ค่อยว่ากันไป ท่านเชื่อผมไหม ตราบใดที่ประเทศไทยยังมีมนุษย์ ไม่มีเรื่องไหนหรอกที่ราบรื่น” นายครูมานิตย์ กล่าว
นายครูมานิตย์ กล่าวด้วยว่า เราไม่ได้พูดเอามัน แต่ดูการปฏิบัติ อยากจะดูว่าคนที่พูด ถึงเวลาปฏิบัติจะได้ตามข้อเท็จจริงหรือไม่ บางครั้งพูดเอาสนุก แต่ปฏิบัติจริงไม่ได้ พร้อมย้ำว่า พรรคเพื่อไทย พร้อมด้วยพรรคร่วมรัฐบาลต้องการแก้รัฐธรรมนูญ แต่มองเห็นแล้วว่าหลายหมวดยังไม่สมควรแก้ เช่น หมวด 1 และ หมวด 2
“ท่านเห็นเวลาลูกมันร้องไหม มันอยากจะได้โน่นนี่นั่น แต่มันไม่รู้หรอกว่า พ่อกับแม่มันเนี่ย คิดจนปวดหัวหมดแล้ว ว่าอะไรสามารถทำให้ลูกได้บ้าง” นายครูมานิตย์ กล่าว
ขณะที่ นายรังสิมันต์ โรม สส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายสนับสนุนญัตติ โดยระบุว่า เราผ่านรัฐประหารมาแล้วหลายครั้ง ฉีกรัฐธรรมนูญหลายครั้ง ไม่เห็นมีปัญหา ทำไมทหารทำรัฐธรรมนูญทั้งฉบับได้ แต่ประชาชนไม่สามารถทำได้ นอกจากนี้เมื่อไปดูรายละเอียดการอภิปราย หลายคนก็อภิปรายราวกับว่าอย่าให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) 100% เพราะไม่เชื่อว่าจะสะท้อนความหลากหลายได้ ไม่น่าเชื่อว่าคำพูดนี้จะมาจากผู้แทนราษฎร
“การที่เราไม่เข้าร่วม (คณะกรรมการศึกษาฯ) เพราะเราไม่เชื่อว่ากระบวนการที่ท่านทำอยู่ ซึ่งผิดไปจากกระบวนการหาเสียง การที่เราไม่เชื่อคนไม่มีสัจจะ เราผิดตรงไหน”
นายรังสิมันต์ กล่าวว่า คำถามประชามติก็เป็นคำถามที่เคยพยายามทำ ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรได้เสียงเอกฉันท์ แต่สุดท้ายไปล่มที่ สว. ดังนั้น จึงไม่เห็นเหตุผลใดที่พรรคเพื่อไทยจะไม่เห็นด้วยและลากออกไปให้ล่าช้า ที่บางท่านบอกว่าการเสนอญัตตินี้จะทำให้ประชาชนสับสน
“พรรคเพื่อไทยประกาศชัดเจนว่า ครม. นัดแรกจะดำเนินการให้มีการทำประชามติ เพื่อถามประชาชน มันก็ชัดเจนอยู่แล้ว แล้วไฉนวันนี้ท่านกลับบอกว่ารับฟังเสียงให้รอบด้าน กระบวนการแบบนี้ ผมว่ามันย้อนแย้ง … ถ้าจะคว่ำ ไปคว่ำที่ สว. ก็ยังดี อย่างน้อยคือการรักษาเกียรติที่มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน ท่านมองเพื่อร่วมพรรคของท่านบางท่านที่เคยถูกดำเนินคดี ไม่รู้สึกอะไรบางอย่างในจิตใจหรือ” นายรังสิมันต์ กล่าว
ต่อมา นายพริษฐ์ อภิปรายปิดญัตติก่อนลงมติ ความตอนหนึ่งว่า พรรคก้าวไกลไม่กังวลว่าคณะกรรมการศึกษาฯ ของรัฐบาล จะใช้เวลาเท่าไร แต่กังวลว่าจะมีความเห็นต่างหรือเหมือนกับคำถามประชามติที่พรรคก้าวไกลเสนออย่างไร ทั้งนี้กรณีที่พบว่ามีการปรับเปลี่ยนกรรมการเพราะไม่ให้ สส. เข้าไปเป็นกรรมการศึกษา ดังนั้นหากจะให้ สส. ก้าวไกลแสดงความเห็นต่อรัฐบาล จำเป็นต้องใช้เวทีสภาฯ และถือเป็นการใช้เวทีทางแจ้งที่จะดำเนินการ
จากนั้นเวลา 15:25 น. นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ซึ่งทำหน้าที่ประธานในการประชุม ได้กดออดเรียกสมาชิกมาออกเสียงลงมติว่าเห็นชอบกับญัตติ และแจ้งให้คณะรัฐมนตรีดำเนินการให้มีการออกเสียงประชามติเพื่อสอบถามความเห็นของประชาชนต่อการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ โดยหากเสียงส่วนใหญ่ของที่ประชุมเห็นชอบ ญัตติดังกล่าวจะส่งต่อไปยังที่ประชุมวุฒิสภา หากเสียงส่วนใหญ่ไม่เห็นชอบถือว่าญัตติดังกล่าวตกไป
โดยผลการลงมติ ที่ประชุมมีเสียงข้างมากไม่เห็นชอบกับญัตติ ด้วยคะแนนเห็นชอบ 162 เสียง ไม่เห็นชอบ 262 เสียง งดออกเสียง 6 เสียง จากจำนวนองค์ประชุมทั้งหมด 430 คน เท่ากับว่าที่ประชุมไม่เห็นชอบกับญัตติให้แจ้งคณะรัฐมนตรีให้มีการออกเสียงประชามติสอบถามประชาชนต่อการทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่