‘หมอวรงค์’ ร้องผู้ตรวจการแผ่นดินสอบราชทัณฑ์- รพ.ตำรวจ เอื้อ ‘ทักษิณ’
‘หมอวรงค์’ ร้องผู้ตรวจการแผ่นดินสอบราชทัณฑ์- โรงพยาบาลตำรวจ เอื้อ ‘ทักษิณ’ นอนห้องพิเศษ ต้องแจงให้ชัดผ่าตัดส่วนไหนของกระดูก บอกคนเป็นหมออ่านแล้วตลก
วันนี้ (25 ต.ค. 66) นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานพรรคไทยภักดี เข้ายื่นหนังสือต่อผู้ตรวจกานแผ่นดิน ขอให้ตรวจสอบกรมราชทัณฑ์ และโรงพยาบาลตำรวจ กรณีการรักษาตัวของนายทักษิณ ชินวัตร ตามมาตรา 22 (3) ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ 2560 เสนอต่อนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี แจ้งให้กระทรวงยุติธรรม กรมราชทัณฑ์ใช้อำนาจหน้าที่อย่างเคร่งครัด
นพ.วรงค์ กล่าวว่าสิ่งที่เกิดขึ้นตลอดระยะเวลา 60 วันที่นายทักษิณกลับถึงไทย สะท้อนว่าเจ้าหน้าที่รัฐไม่ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ทำลายกระบวนการนิติรัฐ นิติธรรมอย่างจงใจ ตามระเบียบของกรมราชทัณฑ์ระบุไว้ว่าผู้คุมขังที่จะออกไปรักษาภายนอก ต้องผ่านสถานพยาบาล หรือโรงพยาบาลราชทัณฑ์ก่อน ส่วนตัวไม่เชื่อว่านายทักษิณไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์
ทั้งนี้ตลอดระยะเวลาการรักษา กรมราชทัณฑ์และโรงพยาบาลตำรวจปิดบังรายละเอียดของนายทักษิณ โดระเบียบกรมราชทัณฑ์กำหนดชัดเจนว่า ผู้คุมขังที่ไปรักษานอกโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ไม่มีสิทธิไปรักษาห้องพิเศษ แต่นายทักษิณกลับได้รับเอกสิทธิพิเศษเหนือนักโทษคนอื่น
การรักษาตัวของนายทักษิณนอกโรงพยาบาลราชทัณฑ์ หากจำเป็นต้องรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจก็ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์ ซึ่งอธิบดีกรมราชทัณฑ์ต้องรายงานปลัดกระทรวงยุติธรรมด้วย แต่ปัญหาอยู่ที่ว่านายทักษิณป่วยหนักจริงหรือไม่ เนื่องจากกรมราชทัณฑ์ได้แถลงอาการป่วยของนายทักษิณโดยใช้ภาษากำกวม ใช้คำว่า ผ่าตัดออร์โธปิดิกส์ และรักษาตัวอยู่ที่ห้อง ICU ศัลยกรรมประสาท ซึ่งเมื่ออ่านคำแถลงนี้แล้วตนเองรู้สึกหัวเราะเยาะ เพราะเป็นการใช้ศัพท์ทางวิชาการ หากแปลออร์โธปิดิกส์เป็นภาษาไทยคือ กระดูก ข้อ และเอ็น จึงอยากให้กรมราชทัณฑ์และโรงพยาบาลตำรวจชี้แจงว่านายทักษิณได้รับผ่าตัดส่วนใดของกระดูก ข้อ และเอ็น หรือป่วยเกี่ยวกับระบบสมองอย่างไร ส่วนที่นายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์ว่านายทักษิณต้องเจาะที่ไหล่ 4 รู ก็ต้องชี้แจงให้ชัดเจนด้วย
นพ.วรงค์ ตั้งข้อสังเกตว่าหลักการทั่วไป เมื่อผู้ถูกคุมขังมีอาการเจ็บป่วยจะต้องมีการตั้งคณะแพทย์เพื่อแถลงอาการป่วย แต่ครั้งนี้ให้กรมราชทัณฑ์แถลง ซึ่งเป็นเรื่องที่ผิดปกติ เพราะหากแถลงอาการป่วยของนายทักษิณ คณะแพทย์อาจจะต้องติดบ่วงทางจริยธรรม และอาจถูกยึดใบประกอบวิชาชีพ