‘วิษณุ’ ชี้ ยังไม่เห็นเหตุผลที่ควรย้ายทักษิณไป รพ.เอกชน
วันนี้ (25 ส.ค. 66) นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจว่า ไม่ทราบว่าต้องอยู่จนหายดีหรือไม่ ต้องถามความเห็นคณะแพทย์ ซึ่งมีคำยืนยันเพียงว่ายังอยู่ที่โรงพยาบาลตำรวจ และอาการยังทรง
พร้อมกันนี้ นายวิษณุ ระบุว่า เข้าใจว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับสุขภาพจิต กระทบกับร่างกาย เหมือนกับรัฐมนตรีบางคนยังมาบอกให้ตนฟังในเชิงตลกว่า ขณะ คสช. ยึดอำนาจ ท่านถูกเชิญไปควบคุมตัวไว้ที่บ้านสบายๆ แต่ความดันขึ้น 200 ทุกวัน ซึ่งก็ต้องเห็นใจ มันเป็นไปได้คนเคยอยู่สะดวกสบาย อยู่บ้านอยู่คอนโด เคยลงสระว่ายน้ำ ออกกำลังกาย ยกเวท พอไม่ทำสิ่งเหล่านั้นบางทีก็กระทบได้ ก็ต้องเข้าใจ
เมื่อถามว่าสามารถย้ายไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลเอกชนได้หรือไม่ นายวิษณุ ระบุว่า ไม่ควร ตนยังไม่เห็นเหตุผลอะไร แต่ที่ออกจากโรงพยาบาลราชทัณฑ์ มารักษานั้นเพราะว่าไม่มีแพทย์เฉพาะทาง จึงมาอยู่ที่โรงพยาบาลตำรวจ แต่หากจะออกจากโรงพยาบาลตำรวจนั้นแปลว่าแพทย์ที่โรงพยาบาลตำรวจไม่มีความเฉพาะทาง จะไปพูดอย่างนั้นไม่ได้ ซึ่งในส่วนของโรงพยาบาลราชทัณฑ์เราจะมองเห็นว่าไม่ได้มีการฝึกฝนคนหรือรับหมอมารักษาโรคเฉพาะทาง ซึ่งโรงพยาบาลตำรวจมีแพทย์เฉพาะทางทั้งหมด หากไปอยู่ที่อื่นซึ่งตนก็ไม่ทราบว่าคุณจะไปอยู่ที่โรงพยาบาลไหน อย่าว่าแต่โรงพยาบาลเอกชนเลย แม้แต่ โรงพยาบาลของรัฐตนก็ไม่เห็นเหตุผลนี้ ว่าจะย้ายไปอีกทำไม
ซึ่งโรงพยาบาลตำรวจและกรมราชทัณฑ์นั้นมีเอ็มโอยู ส่งต่อผู้ป่วยมาแล้วหลายลาย ร่วมกันมากกว่า 30 ปี แล้วทำมาแล้วหลายราย จึงปลอดภัยกว่าที่จะไปที่อื่น ตำรวจสามารถจัดกำลังเข้าไปดูแลได้ อย่างเคสของนายทักษิณ กรมราชทัณฑ์จะต้องจัดเจ้าหน้าที่ไปดูแลประมาณ 4 คน ส่วนตำรวจจะเพิ่มคนอีก ก็เป็นเรื่องของตำรวจ
เมื่อถามว่าศาลฎีกาได้แจ้งหรือไม่ว่าโทษของนายทักษิณนั้นสรุปแล้ว 8 หรือ 10 ปี นายวิษณุ ระบุว่า สำนักงานเลขาธิการศาลยุติธรรม ได้แจ้งมาว่านายทักษิณ ต้องได้รับโทษ 8 ปี
เมื่อถามว่าในระหว่างที่นายทักษิณยังพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลตำรวจขั้นตอนของการขอพระราชทานอภัยโทษ ยังทำได้หรือไม่นั้น นายวิษณุ ยืนยันว่ายังทำได้ เพราะถือว่ายังอยู่ในความดูแลของกรมราชทัณฑ์ และสามารถทำได้ทันที โดยการพระราชทานอภัยโทษไม่มีข้อยกเว้นเกี่ยวกับคดีทุจริต ขณะความผิดทางวินัย เป็นพระราชอำนาจตามรัฐธรรมนูญ ภาษาอังกฤษ เรียกว่า “Prerogative” คือพระราชอำนาจที่ ไม่สามารถ ที่จะโต้เถียงท้าทายได้