ผลสอบสะพานกลับรถพระราม 2 ถล่ม พบไม่มีเหล็กยึดระหว่างรื้อพื้นสะพาน
นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน รองปลัดกระทรวงคมนาคม (หัวหน้ากลุ่มภารกิจการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านทางหลวง) เป็นประธานคณะกรรมการพิจารณาตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีเกิดอุบัติเหตุคานสะพานกลับรถโครงการบูรณะและปรับปรุงสะพานทางหลวงหมายเลข 35 (ถนนพระราม2) ตอน สะพานข้ามแม่น้ำท่าจีนฝั่งตะวันตก – นาโคก ตอน 2 จังหวัดสมุทรสาคร พังถล่ม ครั้งที่ 3/2565
นายเอนก ศิริพานิชกร ผู้แทน วสท. และประธานอนุกรรมการคณะอนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อสืบหาสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุ รายงานสรุปผลการสำรวจทางวิศวกรรมกับโครงสร้างสะพาน ณ ปัจจุบัน ที่ได้รับความเสียหายด้วยระบบ Visual Inspection และ 3D Laser Scan พบว่า สภาพของโครงสร้างที่ได้รับความเสียหายได้ถูกรื้อถอนออกหมดแล้ว โครงสร้างส่วนอื่นที่เหลือยังอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ แต่ต้องมีการสำรวจความแข็งแรงของโครงสร้างในเชิงลึกด้วยวิธีอื่นประกอบ เพื่อความปลอดภัยของการติดตั้งโครงสร้างใหม่โดยเฉพาะ โครงสร้างจุดต่อรับคาน Girder
ด้านฝ่ายเลขานุการ รายงานว่า คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงของ ทล. ซึ่งมีวิศวกรใหญ่ด้านควบคุมการก่อสร้างเป็นประธาน ได้เรียกสอบผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องในโครงการแล้ว รวมถึงลงพื้นที่สำรวจ และเก็บข้อมูลหลังเกิดเหตุ โดยจากการตรวจสอบพบว่า คานที่เกิดอุบัติเหตุไม่พบจุดยึดรั้งระหว่างคาน (I-Girder) และคานขวาง (Diaphragm) ซึ่งตามรูปแบบการก่อสร้างจะประกอบด้วย เหล็กเสริมด้านบนและด้านล่างตลอดแนวยาวของคานขวาง และจากการตรวจสอบลักษณะความเสียหายบริเวณรอยต่อของโครงสร้างคานที่เกิดอุบัติเหตุคณะกรรมการได้มีข้อสังเกต ดังนี้
1.สาเหตุของการร่วงหล่น คาดว่าเกิดจากการสูญเสียเหล็กเสริมในโครงสร้างคานขวางระหว่างการรื้อถอนพื้นสะพานเพื่อซ่อมแซมพื้นสะพานแบบ Full Depth ส่งผลให้เกิดแรงบิดในโครงสร้างของคานตัวริม เนื่องจากน้ำหนักเยื้องศูนย์อาจทำให้โครงสร้างสูญเสียเสถียรภาพและหลุดออกจากจุดรองรับ และ
2.ลักษณะของการเกิดเหตุคาดว่า ไม่มีความเกี่ยวข้องกับอุบัติเหตุเพลิงไหม้รถบรรทุกน้ำมันบนสะพาน เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2547
สำหรับแผนการปรับปรุงสะพานกลับรถ เบื้องต้น ฝ่าย ทล.จะทำการออกแบบให้แล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2565 และจะลงพื้นที่เพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พร้อมร่วมกันวางแผนการก่อสร้างและแผนการจัดการจราจร ส่วนช่วงเดือนตุลาคม 2565 จะดำเนินการหล่อคานสำเร็จรูป ติดตั้ง และก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคมนี้ โดยก่อนเปิดการจราจรบนสะพานกลับรถ ทล.จะทำการทดสอบการรับน้ำหนักบรรทุกของสะพานตามหลักวิศวกรรมร่วมกับ วสท. เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่า สะพานกลับรถดังกล่าวมีความมั่นคงแข็งแรงตามหลักวิศวกรรม