อดีตตุลาการศาล รธน.เผยในการพิจารณาคดี ศาลต้องสกัดทุกความกดดันเพื่อให้คำวินิจฉัยมีคุณภาพ
‘จรัญ ภักดีธนากุล’ อดีตตุลาการศาล รธน. กล่าวปาฐกถา ในการพิจารณาคดี ศาลต้องสกัดทุกความกดดันเพื่อให้คำวินิจฉัยมีคุณภาพ มองเสียงติติงจากประชาชนเหมือนขุมทรัพย์
วันนี้ (25 ก.ค. 66) ศาสตราจารย์พิเศษจรัญ ภักดีธนากุล อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวช่วงหนึ่งในปาฐกถาพิเศษ “บทบาทของสื่อมวลชนในการส่งเสริมประชาธิปไตยและหลักนิติธรรม” ว่า ศาลอยากจะพูดอะไรกับประชาชนก็เขียนลงในคำวินิจฉัยให้หมด ไม่ต้องโต้แย้งหรือโต้เถียง ขอให้ประชาชนรับเอาคำวินิจฉัยของศาลมาวิเคราะห์ วิจัยโดยสุจริตเป็นธรรม ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับศาลรัฐธรรมนูญด้วย โดยยืนยันว่าไม่มี IO ของศาล และเสียงติติงจากประชาชนก็เหมือนขุมทรัพย์ของศาล ที่จะนำไปพัฒนาปรับปรุง เพราะไม่มีใครในโลกสมบูรณ์ 100%
แทบทุกศาลไม่มีโอกาสได้สื่อสาร หรือแสดงหลักเกณฑ์ให้ประชาชนได้เข้าใจ ข้อข้ดแย้งในสังคมสับสนวุ่นวายในโลกไซเบอร์ ศาลแทบไม่มีโอกาสเข้าไปแสดงหลักการพื้นฐานได้เลย ก่อนคดีเข้ามาตุลาการจะระมัดระวังเรื่องการกำหนดล่วงหน้า (Predestination) ระหว่างคดีเข้ามาสู่ศาล ก็ไม่สามารถบอกให้ประชาชนรับรู้ถึงเนื้อหาคดีได้ กระแสกดดันในสังคม เป็นปกติที่จะมีแรงกดดันจากฝ่ายต่าง ๆ ในสังคม อยากให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในทางที่เป็นคุณประโยชน์แก่ตน ซึ่งเป็นสถานะความยากลำบากต่อศาล ทั้งนี้ระหว่างการพิจารณาคดีจะต้องสกัดความกดดันศาลทุกรูปแบบ เพื่อให้คำวินิจฉัยชี้ขาดในคดีนั้นมีคุณภาพ หากคำวินิจฉัยไม่ตรงไปตรงมาก็เช็กบิลและจัดการตามช่องทาง
ศาสตราจารย์พิเศษจรัญ กล่าวต่อว่าเราเคารพเสียงข้างมาก แต่เราขอให้เราฝ่ายข้างน้อยในมติ แสดงความเห็นในหลักวิชาให้ปรากฏไว้เป็นหลักฐานว่าได้พยายามทำหน้าที่ตามภารกิจอย่างเต็มกำลัง เพียงแต่เกินกำลังจะสื่อสารกับประชาชน ถือเป็นวัฒนธรรมการทำงานของศาล