POLITICS

‘ชัยธวัช’ เผยข้อมูล 3 ล็อก ทำเศรษฐกิจภาคใต้โตต่ำกว่าภาคอื่น

ชี้ ต้องแก้เชิงระบบรวม ปฏิรูปที่ดิน-กระจายอำนาจ ด้าน ศิริกัญญา ชี้ รัฐควรเป็นผู้นำการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาคใต้-ดำเนินนโยบายอย่างรอบคอบ

วันนี้ (25 พ.ค. 67) ที่โรงแรมคริสตัล หาดใหญ่ จ.สงขลา นายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล และผู้นำฝ่ายค้าน ในสภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วยผู้นำ และ สส.พรรคฝ่ายค้าน ร่วมเปิดเวทีผู้นำฝ่ายค้านพบประชาชน โดยเวทีช่วงเช้า นายชัยธวัช กล่าวในหัวข้อ “3 ล็อกเศรษฐกิจภาคใต้” ต่อด้วยวงเสวนารับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชนและภาคธุรกิจ ก่อนร่วมกันลงพื้นที่รับฟังปัญหาประชาชนรอบบริเวณทะเลสาบสงขลาในช่วงเย็น

นายชัยธวัช ระบุว่า ล็อกที่หนึ่ง เมื่อดูข้อมูลภาพรวมรายได้ของภาคใต้ จะเห็นว่ามีอัตราเติบโตน้อยและถดถอยตั้งแต่ปี 2553 โดยเพิ่มขึ้นช้ากว่าค่าเฉลี่ยของทั้งประเทศ ค่าเฉลี่ยรายได้จากที่เคยสูงก็ต่ำลงอย่างต่อเนื่องมากว่า 10 ปีแล้ว การเติบโตของรายได้ในภาคใต้กระจุกตัวอยู่แค่ไม่กี่จังหวัด บางจังหวัดจนลง ศักยภาพในการสร้างมูลค่าและรายได้ต่อหัวเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยทั้งประเทศในปี 2554 ภาคใต้เคยคิดเป็น 77% แต่ลดลงอย่างต่อเนื่องจนถึงปี 2565 เหลือแค่ 57% และหากดูรายจังหวัดก็จะเห็นได้ว่าจีดีพีต่อหัวไม่เพิ่มขึ้นเลย และมีเพียงภูเก็ต ชุมพร และพังงา ที่โตเกิน 2%

ล็อกที่สองคือด้านอาชีพ ภาคใต้ช่วงหลังพึ่งพาการท่องเที่ยวเป็นหลัก ส่วนเครื่องยนต์แทบไม่โตในภาพรวม ขณะที่เศรษฐกิจหลังโควิดภาคใต้ก็ยังโตช้าเมื่อเทียบกับภาคอื่น

ล็อกที่สามคือคุณภาพชีวิต ซึ่งสัดส่วนครัวเรือนยากจนยังสูง อาจนำไปสู่ภาวะความเหลื่อมล้ำในระยะยาว ไม่มีงานให้ทำมากพอ อัตราอาชญากรรมสูงกว่าค่าเฉลี่ย สัดส่วนประชากรยากจนสูง ครัวเรือนในภาคใต้มีความเสี่ยงกับภัยพิบัติที่สูงกว่าภาพรวมของทั้งประเทศ

นายชัยธวัช กล่าวต่อไปว่า เครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจของภาคใต้ควรถูกตั้งคำถามว่าจะไปอย่างไรต่อ ในภาคเกษตรแม้จะมีการเปลี่ยนสัดส่วนผลผลิต แต่มูลค่าผลผลิตโดยรวมไม่เปลี่ยนแปลง การท่องเที่ยวยังฟื้นตัวช้า นักท่องเที่ยวกลับมามากขึ้นแต่การจับจ่ายใช้สอยไม่ได้เพิ่มขึ้นตาม ขณะที่นักท่องเที่ยวต่างประเทศตอนนี้กลับมาแค่ 71% ของช่วงก่อนโควิด โจทย์ใหญ่อยู่ที่จะกระจายสัดส่วนการกระจุกตัวของการท่องเที่ยวที่อยู่แค่ จ.กระบี่ ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี สงขลา และพังงา ได้อย่างไร

ในภาคอุตสาหกรรมมีปัญหาเรื่องการกระจุกตัวอยู่ในอุตสาหกรรมขั้นต้นเท่านั้น คือการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรเป็นส่วนใหญ่ ปัญหาคืออุตสาหกรรมเหล่านี้จะได้รับผลกระทบจากความผันผวนในราคาภาคเกษตรของโลกตามไปด้วย อย่างที่เคยเกิดขึ้นและยังคงเกิดอยู่กับราคายางพาราในปัจจุบัน

นายชัยธวัช ยังกล่าวว่า สิ่งที่ต้องคิดไม่ใช่การแก้ปัญหาเป็นรายมาตรการหรือรายธุรกิจ แต่เป็นการแก้ปัญหาเชิงระบบ หลายคนสะท้อนเรื่องการจัดการปัญหาที่ดิน หลายคนพูดเรื่องการกระจายอำนาจ เราให้ความสำคัญกับเรื่องเหล่านี้เพราะเชื่อว่าการยกระดับศักยภาพทางเศรษฐกิจในต่างจังหวัดไม่ใช่แค่การแก้ปัญหาทีละเรื่อง แต่ต้องแก้ปัญหาทั้งระบบโครงสร้าง

เวทีช่วงต่อมาคือการเสวนาในหัวข้อ ”ปัญหาและโอกาสทางเศรษฐกิจของภาคใต้“ โดยมีตัวแทนพรรคการเมืองฝ่ายค้านเข้าร่วม ประกอบด้วย ศิริกัญญา ตันสกุล จากพรรคก้าวไกล, พลอยทะเล ลักษมีแสงจันทร์ จากพรรคประชาธิปัตย์, ชวลิต วิชยสุทธิ์ จากพรรคไทยสร้างไทย, กัณวีร์ สืบแสง จากพรรคเป็นธรรม, วิชาญ ช่างวาด จากพรรคครูไทยเพื่อประชาชน และ ธนกร สังข์โพธิ์ จากพรรคใหม่

ศิริกัญญา ระบุว่า ประเด็นที่สะท้อนมาจากภาคประชาชนและภาคเอกชนมีหลายเรื่องที่ฝ่ายค้านสามารถรับนำไปผลักดันได้ทันที หลายเรื่องเป็นประเด็นที่ต้องผลักดันผ่านร่างกฎหมาย เช่น พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ร.บ.โรงแรม ฯลฯ ส่วนอีกประเด็นที่ตัวแทนภาคประชาชนสะท้อนขึ้นมา คือเรื่องของระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (SEC) ซึ่งล่าสุดยังไม่มีร่าง พ.ร.บ.ที่เป็นของคณะรัฐมนตรีออกมา ที่น่ากังวลคือถ้าร่างของคณะรัฐมนตรีออกมาเมื่อไหร่ อาจจะเข้าสภาฯ และผ่านการพิจารณาอย่างรวดเร็วจนขาดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน

ทั้งนี้ แม้เนื้อหาหลักหลายเรื่องจะมีความคล้ายคลึงกับเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) แต่พอเป็น SEC บริบทค่อนข้างแตกต่างกัน เพราะ EEC เป็นการต่อยอดจากพื้นที่ที่มีพื้นฐานอุตสาหกรรมดั้งเดิมอยู่แล้ว แต่ SEC เป็นการเริ่มใหม่ตั้งแต่ต้น ทำให้การดำเนินโครงการจำเป็นต้องมีความรอบคอบมากยิ่งขึ้น

ศิริกัญญา กล่าวว่า เวลาพูดถึงเศรษฐกิจของภาคใต้ เราอยากเห็นบทบาทของรัฐที่มาเป็นผู้นำการขับเคลื่อน หลายครั้งที่รัฐเหมือนจะมีแนวคิดแต่ก็ไม่ได้ขับเคลื่อนให้สุดหรือไม่ได้ทำ เช่นรับเบอร์ซิตี้ (Rubber City) ที่เดิมวางให้เป็นโครงการส่งเสริมอุตสาหกรรมการแปรรูปยางพาราในขั้นปลายถึงขั้นตั้งนิคมอุตสาหกรรมรับเบอร์ซิตี้ขึ้นมา แต่สุดท้ายก็กลายเป็นนิคมร้าง

ส่วนภาคเกษตรยังเป็นปัญหาโครงสร้างใหญ่สำคัญของภาคใต้ เพราะการพึ่งพิงพืชเศรษฐกิจไม่กี่ชนิด อาจทำให้มีความเสี่ยงต่อรายได้ที่ผันผวน ภาคใต้เคยเป็นภาคที่มีอัตราส่วนของเด็กที่เรียนต่อในระดับภาคบังคับสูงที่สุดในประเทศรองจากกรุงเทพมหานคร หลังจากนั้น 10 ปีกลายเป็นภาคที่มีเด็กต้องตกหล่นจากระบบการศึกษาประมาณหนึ่งในสาม สะท้อนภาพใหญ่ของเศรษฐกิจที่เปราะบางผันผวนของภาคใต้

Related Posts

Send this to a friend