‘โรม‘ จี้รัฐบาลขยับด่วน เหตุเมียนมาเสี่ยงสู้รบ อาจมีผู้อพยพทะลัก

‘โรม‘ เปรียบขบวนการค้ามนุษย์เล้าก์ก่ายคือนรกบนดินที่อยู่ไม่ไกลจากไทย เป็นภัยต่อคนทุกชาติ จี้รัฐบาลขยับด่วน เหตุเมียนมาเสี่ยงสู้รบ อาจมีผู้อพยพทะลัก พ้ออังกฤษ-สหรัฐ เตือนพลเรือนแล้ว แต่ไทยยังเฉย
วันนี้ (24 พ.ย. 66) นายรังสิมันต์ โรม และ นายมานพ คีรีภูวดล สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานและรองประธานคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดน และการปฏิรูปประเทศ เข้าเยี่ยมศูนย์ปฏิบัติการส่วนหน้า NRM (ศปก.สน.NRM) ที่ศูนย์การเรียนรู้มหานคร เขตหนองจอก กทม. เพื่อเยี่ยมกลุ่มคนไทยที่ได้รับการช่วยเหลือจากเมืองเล้าก์ก่าย ประเทศเมียนมา ที่ยังคงเหลืออยู่ราว 160 คน
นายรังสิมันต์ เผยว่า วันนี้ได้คุยกับเจ้าหน้าที่และเหยื่อการค้ามนุษย์ ทราบว่ามีการปล่อยกลับบ้านไปแล้วจำนวน 98 คน ยังเหลืออยู่ราว 160 คนที่นี่ ซึ่งในขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อเท็จจริง ความเป็นมาของเหยื่อแต่ละคน ว่าไปอยู่ที่เล้าก์ก่ายได้อย่างไร ไปทำอะไรบ้าง และเท่าที่ทราบมีความเป็นไปได้ที่จะนำไปสู่การขยายผลไปถึงคนที่อยู่เบื้องหลัง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวจีนที่อยู่เบื้องหลังของการค้ามนุษย์ และไม่ใช่แค่การค้ามนุษย์ แต่เกี่ยวพันไปถึงการหลอกลวงลงทุนในเหรียญดิจิตอล แก๊งคอลเซ็นเตอร์ สแกมมิ่งต่างๆ และเป้าหมายไม่ได้หลอกลวงเฉพาะคนไทย เท่าที่ได้พูดคุยกับคนที่เป็นเหยื่อ พบว่าเขาถูกบังคับให้ไปหลอก ทั้งคนสหรัฐอเมริกา ยุโรป จีน รวมถึงคนไทยด้วย
นายรังสิมันต์ กล่าวต่อว่า ตนได้พูดคุยกับเหยื่อกลุ่มหนึ่ง เล่าว่า พวกเขาไม่มีอิสระในการเดินทางไปไหนเลย อยู่ที่เล้าก์ก่ายเหมือนอยู่ในคุก เวลาทำอะไรผิดพลาดมีการซ้อมทรมาน นำตัวไปขังไว้ในห้องมืดเป็นเวลาหลายวัน มีการจับตัวเรียกค่าไถ่
เหยื่อรายหนึ่ง เล่าความรุนแรงให้ฟังว่า เขาเดินทางไปพร้อมกับแฟน ตอนแรกที่เดินทางไป ตนไม่ทราบว่าแฟนตั้งครรภ์ แต่เมื่อไปถึงแล้วทราบว่าตั้งครรภ์ คนจีนก็พาไปทำแท้ง นี่คือความรุนแรงที่ถูกกระทำ
นายรังสิมันต์ เล่าว่า เหยื่อที่ได้พูดคุยด้วย ส่วนใหญ่ รู้จักงานลักษณะนี้จากกลุ่มหางานใน Facebook หลอกล่อด้วยเงินเดือนที่สูง ทำงานเป็นแอดมินขายของออนไลน์รายได้ 30,000 บาทต่อเดือน แต่เมื่อไปถึงพบว่าเป็นขบวนการค้ามนุษย์ มีเหยื่อที่เป็นทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ ทั้ง ชาวเวียดนาม มาเลเซีย หรือจีน ขบวนการเหล่านี้เป็นเรื่องร้ายแรงและเป็นภัยต่อทุกชาติ เป็นเหมือนนรกบนดิน ที่อยู่ไม่ใกล้ไม่ไกลจากประเทศไทย
นายรังสิมันต์ เผยว่า เหยื่อที่ได้รับการช่วยเหลือกลับมา ส่วนใหญ่พอใจกับการดูแลของทางการไทย อาจมีบ้างที่บางส่วนอยากติดต่อกับครอบครัว เพราะตั้งแต่มาถึงยังติดต่อครอบครัวไม่ได้ ซึ่งเข้าใจว่ามันไม่ง่ายในการเตรียมความพร้อมเหตุการณ์ทั้งหมดนี้คงจะได้ประสานงานหาวิธีได้ติดต่อคนในครอบครัวให้ได้ เท่าที่ได้คุยกับเจ้าหน้าที่พบว่าทุกคนทำงานหนักช่วงแรกต้องทำงานตลอด 24 ชั่วโมง ตอนนี้ก็จัดการได้ดีขึ้น เท่าที่ดูการมาเยี่ยมโดยไม่แจ้งล่วงหน้าในวันนี้ คิดว่าได้เห็นข้อเท็จจริง และมาให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ทุกคน ทุกคนทำงานหนักมาก
ผู้สื่อข่าวถามในฐานะที่เป็น กมธ.ความมั่นคง มีข้อเสนอระยะกลาง ระยะยาว ถึงรัฐบาลอย่างไร เพราะชายแดนไทยมีขบวนการค้ามนุษย์และธุรกิจผิดกฎหมายมากขึ้น นายรังสิมันต์ ระบุว่า ในตอนนี้เป็นสถานการณ์ที่วิกฤตขึ้นเรื่อยๆ จากการรับฟัง ข้อมูลจากหน่วยความมั่นคง นักวิชาการ และภาคประชาสังคม พบว่าเมียนมามีวิกฤตค่อนข้างรุนแรง ไม่ใช่แค่ในเล้าก์ก่ายที่มีคนไทยไปอยู่ที่นั่น ยังมีอีกหลายพื้นที่ เราจำเป็นต้องมีการวางแผน หากสถานการณ์บานปลายจนไม่สามารถควบคุมได้ รัฐยังมีหน้าที่ช่วยเหลือคนไทยให้ปลอดภัย จำเป็นต้องมีแผนรองรับให้มีประสิทธิภาพมากกว่านี้หากในอนาคตมีจำนวนมากกว่า 260 คนดังที่เกิดขึ้น
นอกจากนี้อาจมีผู้หนีภัยการสู้รบจากเมียนมา มายังประเทศไทยอีก ประเมินตัวเลขเบื้องต้นอาจมีมากถึง 300,000 คน ซึ่งข้อมูลตอนนี้เราอาจรองรับผู้อพยพได้เพียง 75,000 คน เมื่อตัวเลขห่างกันมากจึงไม่เห็นความเป็นไปได้ว่าเราจะมีความพร้อมรองรับ หากสถานการณ์เกิดขึ้นจริง ดังนั้นทุกฝ่ายต้องประชุมอย่างเร่งด่วนเพื่อเตรียมการแผนงานให้มีความเพียงพอต่อสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นและต้องคิดถึงสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด หากเราเตรียมการไม่ดีจะกลายเป็นการค้ามนุษย์ซ้ำสอง การทุจริตคอรัปชั่น อาจมีการติดสินบนเจ้าหน้าที่เพื่อให้ได้อพยพเข้ามา
นายรังสิมันต์ เผยว่า กมธ.ความมั่นคง เตรียมทำหนังสือถึงรัฐบาล นำข้อมูลที่รับฟังมาให้รัฐบาลรีบทบทวนเพื่อรองรับสถานการณ์เลวร้ายที่สุดที่อาจเกิดขึ้นจากเมียนมา
นายรังสิมันต์ ชี้ว่า เรื่องสถานการณ์สู้รบเมียนมาเป็นเรื่องที่ประเทศต่างๆ เช่น ประเทศอังกฤษ หรือ สหรัฐอเมริกา มีการแจ้งเตือนพลเมืองหลีกเลี่ยงการเดินทางท่องเที่ยวแล้ว แต่ประเทศไทยยังไม่มีเลย คิดว่าเราจำเป็นต้องมีการสื่อสารกลางเพื่อแจ้งเตือนไปยังนักท่องเที่ยวและประชาชนที่อยู่ในแนวชายแดนไทยเมียนมา ระมัดระวังการเดินทางที่บางครั้งสถานการณ์อาจมีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วอาจส่งผลให้การเดินทางกลับมายังประเทศไทยทำไม่ได้
ดังนั้นรัฐบาลจึงต้องเร่งมีความชัดเจนในเรื่องนี้เป็นขั้นต้น หรือหากรัฐบาลไม่เชื่อข้อมูลของอังกฤษก็ต้องมีการประกาศเหตุผลว่า เรามีข้อมูลอื่นหักล้างอย่างไร แต่ในวันนี้ที่ประเทศต่างๆ ประกาศแล้ว แต่เรายังอยู่เฉย ทั้งที่มีพรมแดนติดกันยาวกว่า 2,000 กิโลเมตร จึงต้องเร่งวางแผน
รวมถึงต้องเร่งเตรียมแผนรองรับกรณีมีคลื่นผู้อพยพเข้ามาในประเทศไทย เรียกประชุมหน่วยงานในพื้นที่ โดยเฉพาะที่ติดกับแนวพรมแดนเมียนมา ต้องเร่งพูดคุยวางแผนรับมือ หากเกิดสถานการณ์เลวร้ายขึ้น และต้องเร่งสำรวจจำนวนคนไทยที่ยังอยู่ในเมียนมา เพื่อเป็นฐานข้อมูลสำหรับการช่วยเหลือในอนาคตด้วย