‘ศักดิ์สยาม’ ตรวจความพร้อมการให้บริการผู้โดยสารขาเข้าและขาออก ผู้โดยสารที่สนามบินสุวรรณภูมิ
‘ศักดิ์สยาม’ ตรวจติดตามความคืบหน้าตามข้อสั่งการในการเตรียมความพร้อมการให้บริการผู้โดยสารขาเข้าและขาออก และการอำนวยความสะดวกในช่วงที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปค
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ตรวจติดตามความคืบหน้าตามข้อสั่งการในการเตรียมความพร้อมการให้บริการผู้โดยสารขาเข้าและขาออก และการอำนวยความสะดวกในช่วงที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปค วันนี้ 24 พ.ย. 65) ที่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า จากการที่รัฐบาลมีนโยบายเปิดประเทศเต็มรูปแบบ ส่งผลให้ปริมาณการเดินทางทางอากาศของประชาชนและนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าประเทศไทยเพิ่มขึ้น และมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้บางช่วงเวลามีผู้โดยสารหนาแน่นและเกิดปัญหาความล่าช้าในการให้บริการ ซึ่งกระทรวงคมนาคมได้เร่งแก้ปัญหาความแออัดของผู้โดยสารในพื้นที่ท่าอากาศยานตามนโยบายรัฐบาล โดยตั้งคณะทำงานบูรณาการการให้บริการประชาชนและนักท่องเที่ยวต่างชาติ ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและท่าอากาศยานดอนเมืองให้มีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อพิจารณาแนวทางการอำนวยความสะดวกและเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ ณ ท่าอากาศยานทั้ง 2 แห่ง
รวมทั้งมอบนโยบายให้ทุกหน่วยงานตรวจสอบการให้บริการอำนวยความสะดวกประชาชนและนักท่องเที่ยว และเร่งแก้ปัญหาในระยะเร่งด่วน ภายใน 15 วัน ซึ่งท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและท่าอากาศยานดอนเมือง ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาและจัดตั้งศูนย์สั่งการร่วม (Single Command Center) เพื่อติดตามสถานการณ์และประสานการทำงานร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ แบบ Real Time เพื่อให้ Flow ผู้โดยสารมีการผ่านขั้นตอนตามกระบวนการต่าง ๆ อย่างสะดวก รวดเร็ว
สำหรับปัญหาความแออัดบริเวณจุดตรวจหนังสือเดินทางผู้โดยสารขาเข้าระหว่างประเทศ ภายหลังจากที่มีการทำงานแบบบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด พบว่าสามารถบรรเทาความแออัดบริเวณจุดตรวจหนังสือเดินทางได้ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยการบริหารจัดการคิวรอตรวจหนังสือเดินทางมีความเป็นระเบียบเรียบร้อย ผู้โดยสารได้รับการบริการที่สะดวกรวดเร็วขึ้น โดยผู้โดยสารใช้เวลารอคิวเพื่อตรวจหนังสือเดินทางเฉลี่ย 15 นาทีต่อคน และใช้เวลาหน้าจุดตรวจหนังสือเดินทาง 60 วินาทีต่อคน
ทั้งนี้ ในช่วงเวลาคับคั่งที่มีผู้โดยสารจำนวนมาก เจ้าหน้าที่สามารถระบายผู้โดยสารทั้งหมดได้ภายในเวลา 30 นาที ขึ้นอยู่กับข้อมูลของผู้โดยสารแต่ละรายด้วย ซึ่งถือว่าสามารถปฏิบัติงานได้อย่างรวดเร็ว โดยคำนึงถึงมาตรฐานการตรวจฯ เป็นไปอย่างถูกต้องตามระเบียบการปฏิบัติฯ ของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง
ในภาพรวมจุดตรวจหนังสือเดินทาง การดำเนินงานเป็นไปด้วยความเรียบร้อย แต่ยังคงพบปัญหาในบางกรณีที่เครื่องตรวจหนังสือเดินทางอัตโนมัติ (Auto Channel) ไม่สามารถสแกนหนังสือเดินทางผู้โดยสารชาวไทยได้ อาทิ หนังสือเดินทางที่ออกโดยเครื่อง Kiosk และหนังสือเดินทางที่ทำตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2563 เป็นต้นมา จะยังไม่สามารถใช้เครื่องตรวจหนังสือเดินทางอัตโนมัติ (Auto Channel) ได้
อย่างไรก็ตาม กองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง 2 (บก.ตม.2) ได้จัดเจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกให้กับผู้โดยสารคนไทยที่ไม่สามารถสแกนหนังสือเดินทางด้วยเครื่อง Auto Channel ไปตรวจหนังสือเดินทาง ผ่านเคาน์เตอร์ตามปกติ
ในส่วนของปัญหาการรับกระเป๋าสัมภาระล่าช้า เนื่องจากปัจจุบันบริษัทผู้ให้บริการภาคพื้นประสบปัญหาขาดแคลนบุคลากรและอุปกรณ์ ทำให้การบริการขนถ่ายกระเป๋าสัมภาระขาเข้ามีความล่าช้าในบางเที่ยวบิน ซึ่ง ทสภ. ได้แก้ไขปัญหาในเบื้องต้นโดยประสานแจ้งข้อมูลประมาณการผู้โดยสารขาเข้ารายเที่ยวบินล่วงหน้าให้เจ้าหน้าที่หน้างานเพื่อเตรียมความพร้อม
กรณีตรวจพบว่ามีการลำเลียงสัมภาระใบแรก (First Bag) ล่าช้าเกินกว่า 15 นาที จะดำเนินการแจ้งบริษัทผู้ให้บริการภาคพื้นเร่งดำเนินการแก้ปัญหา ซึ่งขณะนี้บริษัทผู้ให้บริการภาคพื้นอยู่ระหว่างการจัดหาอุปกรณ์และบุคลากรมาให้บริการเพิ่มเติม เพื่อให้สามารถขนถ่ายสัมภาระของเที่ยวบินต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ ทสภ. ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาความคับคั่งในการใช้บริการรถแท็กซี่สาธารณะ ในช่วงเวลาที่มีผู้โดยสารใช้บริการหนาแน่น โดยระดมกำลังเจ้าหน้าที่พร้อมทั้งเปิดช่องทางแท็กซี่เพิ่มเพื่อให้รถแท็กซี่สามารถเข้ามารับผู้ใช้บริการได้เร็วขึ้น
รวมทั้งขยายพื้นที่รอคอยกดตั๋วแท็กซี่ และกำหนดจุดยืนรอคิวรับบริการแท็กซี่ เพื่อความเป็นระเบียบและลดความแออัดของผู้มาใช้บริการ ซึ่งทำให้ผู้โดยสารสามารถลดระยะเวลาในการรอคิว รถแท็กซี่เหลือเพียงประมาณ 10 นาทีต่อคน
ทั้งนี้ ปัจุบันมีจำนวนผู้ขับขี่รถแท็กซี่สาธารณะที่เป็นสมาชิกให้บริการ ณ ทสภ. อยู่ประมาณ 2,400 คัน ลดลงจากช่วงก่อนเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาด Covid-19 ที่มีผู้ขับขี่รถแท็กซี่สาธารณะที่เป็นสมาชิก ประมาณ 4,200 คัน
สำหรับจำนวนรถแท็กซี่ที่มีอยู่ในปัจจุบันถือว่าเพียงพอต่อการให้บริการ เนื่องจากปัจจุบันตัวเลขผู้ใช้บริการยังน้อยกว่าในช่วงก่อนการแพร่ระบาด Covid-19 โดยมีจำนวนเที่ยววิ่ง 6,500 เที่ยวต่อวัน ในขณะที่ช่วงก่อนการแพร่ระบาด Covid-19 มีเที่ยววิ่งสูงถึง 9,000 เที่ยวต่อวัน
อย่างไรก็ตาม ได้สั่งการให้ ทสภ. ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการเพิ่มการให้บริการระบบขนส่งสาธารณะให้เพียงพอกับความต้องการของผู้ใช้บริการ และพิจารณานำรถขนส่งสาธารณะประเภทอื่น ๆ มาให้บริการเพิ่มเติมเพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้ใช้บริการ
จากการดำเนินการแก้ไขปัญหาความแออัดผู้โดยสารในระยะเร่งด่วน ปัจจุบันผู้โดยสารใช้เวลาตั้งแต่ลงเครื่องรับสัมภาระกระเป๋าจนออกจากท่าอากาศยาน มีระยะเวลาเฉลี่ยในกระบวนการขาเข้าระหว่างประเทศ ประมาณ 40 นาที ต่อผู้โดยสาร 1 คน ซึ่งถือว่าการบริการในภาพรวมทุกกระบวนการมีความคล่องตัวขึ้น จากการคาดการณ์ปริมาณผู้โดยสารในช่วงเดือนธันวาคม 2565 ณ ทสภ. จะมีจำนวนผู้โดยสารระหว่างประเทศและภายในประเทศ รวมประมาณ 130,000 คน/วัน (เพิ่มขึ้นร้อยละ 13 จากเดือนพฤศจิกายน 2565 ที่มีจำนวนผู้โดยสารรวมประมาณ 115,000 คน/วัน)
สำหรับการอำนวยความสะดวกในช่วงที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปค การดำเนินการเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ซึ่งช่วงระยะเวลาดังกล่าว เป็นช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว (High season) ทำให้มีผู้โดยสารใช้บริการผ่านเข้า – ออกท่าอากาศยานเป็นจำนวนมาก (ตั้งแต่วันที่ 16 – 20 พฤศจิกายน 2565 มีจำนวนผู้โดยสารทั้งสิ้น 610,419 คน
กระทรวงคมนาคมมีความพร้อมในทุกด้าน ทั้งด้านสิ่งอำนวยความสะดวก อาทิ ห้องน้ำ รถเข็นกระเป๋า ฯลฯ รวมทั้งจัดเจ้าหน้าที่เพิ่มเติมประจำทุกจุดให้บริการ ทั้งบริเวณจุดตรวจค้นร่างกายและสัมภาระผู้โดยสาร เพิ่มเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย จัดเจ้าหน้าที่ดูแลจัดระเบียบบริเวณโถงผู้โดยสารขาเข้าและขาออก การจัดเพิ่มเจ้าหน้าที่เพื่ออำนวยความสะดวกบริเวณพื้นที่ตรวจหนังสือเดินทางทั้งขาเข้าและขาออกสนับสนุนการดำเนินงานของการตรวจคนเข้าเมือง รวมทั้งจัดระเบียบคิวผู้โดยสารรอรับบริการ มีเจ้าหน้าที่ล่ามเตรียมพร้อมในการให้การสนับสนุนส่วนงานราชการหรือสายการบินเมื่อได้รับการร้องขอ รวมทั้งการให้บริการข้อมูลข่าวสารของท่าอากาศยานผ่านทาง Call Center ตลอด 24 ชม.
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้สั่งการให้เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาความล่าช้าการขนถ่ายสัมภาระผู้โดยสาร โดยให้บริษัทผู้ให้บริการภาคพื้นพิจารณาปรับแผนการบริหารจัดการให้มีความพร้อมรองรับปริมาณจำนวนเที่ยวบินและผู้โดยสาร และเร่งจัดทำ Action Plan ในการดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าว รวมทั้ง เน้นย้ำให้ ทอท. วิเคราะห์คาดการณ์ปริมาณการเดินทางและเที่ยวบินที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วงเวลา เพื่อบริหารจัดการทรัพยากรต่าง ๆ ให้การบริการมีความสะดวกรวดเร็วแก่ผู้โดยสารทั้งขาเข้าและขาออก โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่มีจำนวนเที่ยวบินหนาแน่น เพื่อลดความแออัดของจำนวนผู้โดยสารในท่าอากาศยาน
รวมทั้งมอบนโยบายให้ ทอท. ดำเนินการแก้ไขปัญหาความคับคั่งในท่าอากาศยาน รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถรองรับจำนวนผู้โดยสารที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคตได้อย่างยั่งยืน และในปี 2566 คาดว่าจะสามารถเปิดใช้งานอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (SAT-1) เพื่อลดความแออัดในพื้นที่ตรวจหนังสือเดินทางบริเวณอาคารผู้โดยสารหลัก และสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการผู้โดยสารได้ดียิ่งขึ้น