‘ชัยธวัช’ ระบุ พรรคการเมืองต้องทำให้ประชาชนเชื่อมั่นต่อระบบรัฐสภาให้ได้
เสวนาเอกภาพขบวนการประชาธิปไตยสู่ประชาธิปไตยสมบูรณ์ ‘ชัยธวัช’ ชี้ การเห็นต่างเป็นส่วนหนึ่งของประชาธิปไตย ระบุ พรรคการเมืองต้องทำให้ประชาชนเชื่อมั่นต่อระบบรัฐสภาให้ได้
วันนี้ (24 มิ.ย. 67) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ จัดเสวนา PRIDI Talks #26: เอกภาพขบวนการประชาธิปไตย สู่ ประชาธิปไตยสมบูรณ์: จากบทเรียน 2475 สู่ อนาคต โดยมี ชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล, ธนิสร์ วีระศักดิ์วงศ์ (สะอาด) นักเขียนการ์ตูนอาชีพ, นิธินันท์ ยอแสงรัตน์ กรรมการบริหาร สถาบันปรีดี พนมยงค์, แล ดิลกวิทยรัตน์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ศิธา ทิวารี อดีตแคนดิเเดตนายกรัฐมนตรี พรรคไทยสร้างไทย และอธึกกิต แสวงสุข สื่อมวลชนอิสระ ร่วมเสวนา
ชัยธวัช กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไปเป็นระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ไม่ใช้อำนาจในการเมืองด้วยพระองค์เอง ใช้รัฐสภา จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่สำเร็จและยังมีการต่อสู้โต้กันไปมาตลอดเวลา คิดว่าประชาธิปไตยไม่มีทางสมบูรณ์ แต่ต้องมีความเท่าเทียมกันในทางเศรษฐกิจด้วย เอกภาพในกระบวนการประชาธิปไตก็มีความสำคัญ แต่การไม่มีความเห็นต่างกันเลยอาจไม่ใช่สิ่งที่สำคัญที่สุดในการสร้างเอกภาพ ความเห็นต่างเป็นเรื่องปกติ และควรเป็นส่วนหนึ่งในสังคมประชาธิปไตย
ชัยธวัช กล่าวต่อว่า การผลักดันแต่ละเรื่องอาจมีท่าทีไม่เหมือนกัน วิธีการยืดหยุ่นได้ ไม่ว่าจะตัดสินใจอย่างไรในทุกจังหวะก้าว ต้องไม่ไปลดทอน ทำลาย คุณค่าของเป้าหมายที่เราอยากไป เราไม่อยากได้รัฐบาลจากรัฐประหาร แต่สังคมไทยก็ไม่ไว้วางใจนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง จึงไม่แปลกใจที่การรัฐประหารเมื่อปี 2534 หลายคนไม่ได้ต่อต้าน
ชัยธวัช กล่าวว่า บทบาทของพรรคการเมืองในการขับเคลื่อนประชาธิปไตย สถาบันทางการเมืองต่อสู้กันว่าใครถืออำนาจ ซึ่งมาจากประชาชนที่มีอำนาจสูงสุด ทำให้ต้องต่อสู้กันในสภา พรรคการเมืองจึงมีบทบาทสำคัญมาก ถ้าพรรคการเมืองที่มีอยู่ ไม่สามารถตอบสนองความต้องการ และเป้าหมายทางประชาธิปไตย เราก็ต้องช่วยกันสร้างพรรคการเมืองแบบที่ต้องการขึ้นมา ทั้งนี้ พรรคการเมืองต้องผลักดันทั้งเชิงระบบและโครงสร้าง เพื่อเพิ่มอำนาจของประชาชน และต้องกลับมาสร้างความเชื่อมั่น ความศรัทธาของประชาชนต่อระบบรัฐสภาให้ได้
แล กล่าวว่า จากการเปลี่ยนแปลงในปี 2475 บทเรียนที่เราได้ คือ ‘ไม่ง่าย ไม่จบ ไม่กลับไปที่เดิม’ ประชาธิปไตยสมบูรณ์คือต้องเท่าเทียมทางเศรษฐกิจด้วย สิ่งที่ปรีดีย์ พนมยงค์ บอกเรา ไม่ใช่จุดจบของหนังเรื่องนี้ แต่เป็นการพูดในบริบทสมัยก่อน ความเป็นเอกภาพเปรียบเหมือนแหนในบ่อ เมื่อโยนหินลงอาจกระจายออก แต่เมื่อน้ำสงบนิ่ง แหนก็กลับมารวมกันเสมอ นี่คือเอกภาพ เมื่อเราเผชิญอะไรสักอย่าง เราจะกลับมารวมกันเสมอ ตั้งแต่ 2475 เหตุการณ์ไม่เคยย้อนกลับไป เพราะทุกคนไม่เคยปฏิเสธประชาธิปไตย
ศิธา กล่าวว่า กราฟประชาธิปไตยควรสูงขึ้น แต่ตอนนี้ยังลุ่ม ๆ ดอน ๆ มาตลอด มองว่ารัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยมากที่สุดคือปี 2540 เพราะมาจาก สสร. มาจากประชาชนโดยตรง ซึ่งการพัฒนาในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาธิปไตย เราเป็นรองฝ่ายเผด็จการ ที่ผ่านมาเหมือนการตัดกิ่งประชาธิปไตยมาทาบต้นไม้เผด็จการ อย่างไรก็ได้ผลพิษ ถ้าผลออกมาตรงกันข้ามกับสิ่งที่อีกฝั่งเขียนในรัฐธรรมนูญ ฝ่ายเผด็จการจะล้มกระดาน
ศิธา กล่าวต่อว่า เราน่าอยู่บนเส้นประชาธิปไตยที่ตกต่ำลงทุกวัน แต่ภาพที่เห็นและเป็นส่วนดีจากการเลือกตั้งที่ผ่านมา คือพรรคที่ไม่ใช้เงินซื้อเสียงสามารถชนะเลือกตั้ง และมีเสียงส่วนใหญ่ในสภา เชื่อว่าในการเลือกตั้งสมัยหน้าจะเกิดการเปลี่ยนแปลง และได้ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อย่างแท้จริง
นิธินันท์ กล่าวว่า คนที่เห็นเหมือนเราคือคนดี ต่างจากเราคือคนชั่ว ความคิดนี้ทำให้มีคนแพ้ คนชนะ เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องในการสร้างประชาธิปไตย อยากให้เลิกชี้หน้าคนอื่นเป็นเผด็จการ มองสิ่งที่ขึ้นจริง ๆ ว่าประชาชนได้ประโยชน์หรือไม่ หากไม่ใช่ก็ควรพูดกันด้วยเหตุผล วิกฤตศรัทธาหลายอย่างไม่ได้เกิดจากข้อเท็จจริง แต่เกิดจากสื่อสร้าง
อธึกกิต กล่าวว่า ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ไม่มี คนที่ต้องการเปลี่ยนแปลงสังคมจะมีความคิดที่แตกต่างหลากหลายมาก แม้คนที่ต่อสู้ในยุคสมัยเดียวกันจากเหตุการณ์ 14 ตุลา ก็กลายมาเป็นเสื้อเหลือง เสื้อแดง หรือสุดโต่งไปเลยก็มี ปัญหาคือฝ่ายที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมมีความคิดที่แตกต่างหลากหลาย ประชาธิปไตยต้องยอมรับสิ่งนี้ ซึ่งมันเดินไปข้างหน้าเสมอ ดังนั้น เอกภาพมีทั้งดีและไม่ดี การเปลี่ยนไปของคนในขบวนการก็เป็นเรื่องปกติ
ธนิสร์ กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงในปี 2475 เริ่มตั้งแต่ยังเด็ก มีการปฏิวัติเกิดขึ้นทั่วโลก ซึ่งขณะนั้นเป็นเรื่องที่ใหม่ต่อสังคมไทย และเป็นอิทธิพลที่ส่งผลจนถึงปัจจุบันว่าเราควรคิดว่าประเทศนี้เป็นของราษฎร แต่บริบทที่เรายังเชื่ออยู่ เป็นสิ่งที่ช่วยให้เราเชื่อว่าจะผลักดันประชาธิปไตยไปได้ ขณะเดียวกัน เทคโนโลยีทำให้มนุษย์เป็นปัจเจกนิยมมากขึ้น ความชาตินิยมอ่อนแอลง การต่างความเชื่ออาจลดทอนการต่อสู้ร่วมกัน แต่ในทางกลับกันอาจส่งผลดีด้วย เช่น การวิพากษ์วิจารณ์ที่มีมากขึ้น ไม่สามารถปิดกั้นสื่อได้ บางอย่างก็มีการเปลี่ยนแปลงแล้ว เพราะสังคมเปลี่ยนแปลงความคิดไป และบางอย่างก็ต้องไปไกลกว่าเรื่องการเมือง