POLITICS

‘ชาญวิทย์’ ยกเลือกตั้งผู้ว่าฯ เป็น “การเมืองแห่งความหวัง” ชี้การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญกำลังเกิดขึ้น

ศ.พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ มอง 90 ปีปฏิวัติสยาม ผ่านมาไกลแต่อยู่ใกล้ ยกปรากฏการณ์เลือกตั้งผู้ว่าฯ สะเทือนประเทศเป็น “การเมืองแห่งความหวัง” ชี้การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญกำลังเกิดขึ้น

วันนี้ (24 มิ.ย. 65) เวลา 14:18 น. ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขึ้นกล่าวนำในงาน 90 ปี แห่งการอภิวัฒน์สยาม “อุดมการณ์เพื่อชาติและราษฎรไทย”

“เห็นว่ามีการไปกู้หมุดราษฎรมาวางไว้ แต่ก็เก็บไปอีก เก็บได้ก็เก็บไป ยังไงเราก็ผลิตขึ้นมาใหม่ ผลิตด้วยมือไม่ได้ เราก็ผลิตในใจเราตลอดเวลา” ศ.พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ เริ่มกล่าวจากเหตุการณ์ไม่คาดฝันที่เกิดขึ้นเมื่อเช้าวันนี้ในการจัดงานของสถาบันปรีดี พนมยงค์

ศ.พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ กล่าวแนะนำความสัมพันธ์ระหว่างเหตุการณ์ปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 กับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่า ระหว่างเดินทางเข้ามาในมหาวิทยาลัย ท่านอาจไม่ทันคิดว่า ด้านหน้าหอประชุมนี้ มีเสา 6 ต้น คือหลัก 6 ประการของคณะราษฎร น่าแปลกที่เสาทั้ง 6 ต้นนี้สร้างขึ้นพร้อมหอประชุมใหญ่ จากการวางศิลาฤกษ์ครบรอบ 20 ปีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. 2497

ศ.พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ ยังกล่าวย้อนไปถึงชีวิตการศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ของตนเองว่า ขณะเข้ามาเป็นนักศึกษายังไม่ทราบประวัติศาสตร์คณะราษฎร แต่เมื่อได้ “ตาสว่าง” ขึ้น ก็เห็นว่าควรมีแนวทางการศึกษา 2 รูปแบบ คือ

  1. การศึกษาแบบประวัติศาสตร์ก่อนหน้า (Long History) ก่อนเหตุการณ์ปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 เช่น คำกราบบังคมทูล ร.ศ.103 และกบฏหมอเหล็ง
  2. การศึกษาการปฏิวัติประชาธิปไตยในเชิงเปรียบเทียบ ทั้งการปฏิวัติอันรุ่งโรจน์ของอังกฤษ การปฏิวัติอเมริกา และการปฏิวัติฝรั่งเศส

ศ.พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ กล่าวว่า เมื่อ 90 ปีที่แล้วก็เป็นวันศุกร์ แม้เราอยู่ไกลแสนไกลจากคณะราษฎร ไกลแสนไกลจากเรื่องราวของการปฏิวัติ 2475 แต่ปรากฏว่าเราอยู่ใกล้แสนใกล้ในวันนี้ เพราะเกิดปรากฏการณ์ใหม่ “การเมืองแห่งความหวัง” ขึ้นมา เมื่อคุณชัชชาติก็มาด้วยเมื่อเช้า

“ปฏิวัติสยามอาจเป็นเหรียญสองด้าน ที่กล่าวได้ว่าใจร้อนไปหรือเปล่า หรือแท้จริงคือใจเย็นไปหรือไม่ เหมือนอย่างที่เกิดขึ้นกับการเลือกตั้งผู้ว่าราชการเพียงแห่งเดียวแต่สั่นสะเทือนไปขนาดนี้ แปลว่าสังคมไทยกำลังจะเปลี่ยนอย่างมากมายมหาศาล อย่างแนบเนียน ราบรื่น และไม่เสียเลือดเนื้อแบบในวันที่ 24 มิ.ย. 2475” ศ.พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ กล่าว

ศ.พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ กล่าวทิ้งท้ายว่า การมองประวัติศาสตร์การปฏิวัติ พ.ศ. 2475 ที่ผ่านมาเป็นการมองประวัติศาสตร์ในแง่ลบ เป็นอคติมาก เราไกลจากเรื่องราวคณะราษฎรมากว่า 90 ปี แต่นึกไม่ถึงว่าคนรุ่นใหม่จำนวนมากนำเรากลับไปสู่คณะราษฎร กลับไปสู่ 2475 กลับไปนึกถึงหมุดและอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ผมว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญกำลังเกิดขึ้นแล้ว ขอให้คนหนุ่มสาวรักษาชีวิตไว้ แล้วมาเป็นแสงสว่างของชาติและราษฎรไทย

เรื่อง : ณัฐนนท์ เจริญชัย
ภาพ : ศุภสัณห์ กันณรงค์

Related Posts

Send this to a friend