ชัชชาติ เผย กทม.พร้อมรับฟังความเห็นต่าง เพราะเป็นพื้นฐานประชาธิปไตย
เย็นนี้อาจไปเดินเล่น กินขนมงานฉลองวันชาติ ลานคนเมือง เก็บไอเดียมาพัฒนาเมือง
วันนี้ (24 มิ.ย.65) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงการออกประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง จัดให้มีสถานที่ใช้สำหรับการชุมนุมสาธารณะ ว่า ประกาศออกมาตั้งแต่วันที่ 23 มิ.ย.แล้ว มีทั้งหมด 7 จุด ได้แก่
1.ลานคนเมือง เขตพระนคร
2.ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) เขตดินแดง
3.ที่สาธารณะใต้สะพานรัชวิภา ใกล้ซอยวิภาวดีรังสิต 36 เขตจตุจักร
4.ลานจอดรถหน้าสำนักงานเขตพระโขนง
5.ศูนย์กีฬาเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา เขตมีนบุรี 6.ศูนย์กีฬาเฉลิมพระเกียรติ เขตทุ่งครุ
7.สวนมณฑลภิรมย์ เขตตลิ่งชัน
โดยแต่ละจุดมีผังชัดเจนว่า สามารถทำกิจกรรมตรงใดได้บ้าง เช่น ลานคนเมือง ฝั่งทิศใต้ สามารถใช้พื้นที่ได้ ร้อยละ 60 จากพื้นที่ทั้งหมด รองรับผู้ชุมนุมได้ 1,000 คน ส่วนศูนย์เยาวชนไทย-ญี่ปุ่น กำหนดพื้นที่ 3,000 ตารางเมตร รองรับได้ 800 คน
เนื่องจากเป็นประกาศครั้งแรกของกรุงเทพมหานคร ผู้ชุมนุมจะต้องปฏิบัติตามกฏหมายที่เกี่ยวข้อง กทม.มีหน้าที่อำนวยความสะดวก จัดพื้นที่ ห้องน้ำ หน่วยแพทย์ฉุกเฉิน CCTV ส่วนมาตรการความมั่นคง การกระทำผิดกฎหมาย การใช้อาวุธ เนื้อหาในการชุมนุม เจ้าหน้าที่ตำรวจจะเป็นผู้ดูแล
การประกาศครั้งนี้ถือเป็นการทดลอง เพราะ กทม.ยังไม่เคยประกาศให้มีพื้นที่ชุมนุมสาธารณะ โดยจะใช้เวลาทดลอง 1 เดือน เพื่อดูว่า กิจกรรมเป็นไปวัตถุประสงค์ของการประกาศหรือไม่ ประชาชนส่วนได้ประโยชน์หรือไม่ คงต้องดูอีกทีว่าจะสามารถดูแลการชุมนุมให้เป็นไปตามมาตรา 9 แห่ง พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ ปี 2558 หรือไม่
นายชัชชาติ กล่าวว่า หลายคนในที่ประชุมไม่เห็นด้วยที่จะจัดพื้นที่ เพราะกลัวว่าจะดูแลลำบาก เกิดความเสียหาย แต่ผมเชื่อว่าประชาชนคือเจ้าของพื้นที่ของ กทม. ดังนั้นการจัดพื้นที่ให้ประชาชนแสดงออกถือเป็นสิ่งที่ดี ลดการใช้พื้นที่ถนน ทำให้การจัดการดูแล ความปลอดภัยดีขึ้น โดยสรุปที่ประชุมทุกคนก็เห็นด้วยแต่คงไม่ได้ให้พื้นที่ทั้งหมด อาจจะให้แค่ร้อย 60 ของพื้นที่ เพราะต้องแบ่งให้กับผู้ที่จะมาใช้ประโยชน์ด้านอื่น ๆ ด้วย เช่น พื้นที่ออกกำลังกาย เต้นแอโรบิค
“การแสดงออกเป็นเรื่องที่ดี แต่ไม่ควรไปละเมิดสิทธิของคนอื่น กทม.พร้อมจะช่วยเหลือ แต่สุดท้ายก็ขึ้นอยู่กับเหตุการณ์”
นายชัชชาติ กล่าวว่า สำหรับการขออนุญาตให้ขอล่วงหน้าต้องอย่างน้อย 24 ชั่วโมง การขออนุญาตจริง ๆ กฏหมายไม่ได้กำหนด แต่เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวก เราจะได้เตรียมอุปกรณ์ต่าง ๆ และอำนวยความสะดวกให้ดีขึ้น หากมาขออนุญาตหลายกลุ่มพร้อมกัน อาจต้องมีการเจรจา คงไม่สามารถให้จัดพร้อมกันได้ ต้องถ้อยที ถ้อยอาศัย ทุกคนมีเจตนาที่ดี
ส่วากรณีที่มีประชาชนมาชุมนุมเกินกว่าที่กำหนดจะมีมาตรการอย่างไร นายชัชชาติ กล่าวว่า ผู้จัดจะต้องมีการประมาณการด้วยว่า ผู้ชุมนุมจะมาเท่าไร หากเกิดความหนาแน่น สามารถรับชมผ่านทางไลฟ์สดได้ เพราะมันมีช่องทางในการสื่อสารมากขึ้น อย่างวันนี้ กลุ่มผู้ชุมนุมที่จะจัดกิจกรรม 24 มิ.ย. ได้ประสานมายัง นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าฯ กทม. เรียบร้อยแล้ว คาดว่าจะมีผู้ที่มาชุมนุมประมาณ 500-600 คน เรื่องการกำหนดเวลาในการเลิกชุมนุมให้เป็นไปตามการขออนุญาตการใช้เครื่องขยายเสียง
เมื่อถามว่า กรณีที่มีผู้ชุมนุมบางกลุ่มอาจจะไม่ได้อยู่สถานที่ที่จัดไว้ให้ แต่ไปอยู่บนท้องถนนแทน นายชัชชาติ กล่าวว่า ต้องค่อย ๆ ดูกันไป เราต้องพยายามควบคุม ทุกอย่างเกิดขึ้นได้ เราต้องพยายามชี้แจง บรรยากาศกรุงเทพฯ ดีขึ้น อีกไม่นานก็จะเลือกตั้งใหญ่แล้ว เราทุกคนอยากฟังความคิดที่แตกต่าง ถ้าเราทำให้เกิดเรื่องอื่น สุดท้ายการแสดงความคิดเห็นจะไม่ได้แสดงความเห็น กลายเป็นทะเลาะเรื่องอื่นแทน ดังนั้นอย่าเปลี่ยนการแสดงความคิดเห็นสาธารณะเป็นอย่างอื่น
ส่วนงานที่ลานคนเมืองเย็นนี้ จะะลงไปฟังด้วยหรือไม่ นายชัชชาติ กล่าวว่า มีคนของ กทม.ในตำแหน่งที่เหมาะสม และผมจะลงไปในเมื่อเวลาที่เหมาะสม ผมเหมือนไม้สุดท้ายเก็บผมไว้หน่อย และผมก็คงลงไปเดินเล่น กินขนม ฟังความเห็นของคน อาจจะได้ไอเดียใหม่ ๆ มาพัฒนาเมือง
“ต้องมองว่าเป็นบรรยากาศบวก การฟังความคิดเห็นที่แตกต่าง คือพื้นฐานของการเป็นประชาธิปไตย เมื่อไร ก็ตามสังคมยอมรับความเห็นที่แตกต่างได้ ความขัดแย้งก็จะน้อยลง”