จับตาการชุมนุม 3 กลุ่ม เรียกร้องแก้ รธน.ฉบับประชาชน
วันนี้ (24 มิ.ย. 64) มีกิจกรรมการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่กรุงเทพมหานคร จุดหลักทั้งหมด 3 กลุ่ม
ช่วงเช้าเวลา 05.30 น. กลุ่มราษฎรจัดกิจกรรม “ราษฎรยืนยันดันเพดาน” เพื่อรำลึกการเปลี่ยนแปลงการปกครองของคณะราษฎร ปี 2475 โดยมีการจุดเทียนรำลึกรอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จากนั้นเป็นการแสดงของกลุ่มนักเรียนเลว และการอ่านแถลงการณ์ของคณะราษฎร
เวลา 10.00 น. จะเริ่มตั้งขบวน ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยจะออกเดินทางตรงไปตามถนราชดำเนินกลาง มุ่งหน้าสะพานผ่านฟ้าลีลาศ เข้าสู่ถนนหลานหลวง ถึงแยกอุรุพงษ์เลี้ยวเข้าสู่ถนนพระรามที่ 6 เข้าสู่ถนนทหาร เดินตรงต่อไปจนถึงแยกเกียกกาย โดยมีจุดหมายที่รัฐสภา ระยะทางรวมประมาณ 9 กิโลเมตร คาดว่าใช้เวลาเดินราว 3 ชั่วโมง ระหว่างการเดินทางจะมีการพักเป็นระยะ จุดละ 15 นาที โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อยื่นหนังสือแสดงจุดยืนของคณะราษฎร จากนั้นเวลา 17.00 น. เป็นการจัดกิจกรรมตอกย้ำข้อเรียกร้องเรื่องรัฐธรรมนูญ ณ สกายวอล์ก แยกปทุมวัน
เป้าหมายหลักของกลุ่มราษฎรวันนี้ คือ การแสดงจุดยืนเรื่องการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ ได้แก่
- รัฐธรรมนูญไทย จะต้องสามารถแก้หมวดที่ 1 และ 2 เพราะกลุ่มมองว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน การพูดคุยและถกเถียงกันในการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะต้องปลอดภัยและสามารถทำได้เป็นเรื่องธรรมดา รวมถึงการแก้ไขต้องเป็นไปได้จริงตามระบบประชาธิปไตย
- รัฐธรรมนูญต้องมาจากประชาชน
ทั้งผู้ร่างและตัวรัฐธรรมนูญจะต้องเป็นไปตามเสียงของประชาชน อีกทั้งการจะตั้งกฎการปกครองที่ประชาชนทุกคนต้องปฏิบัติตาม กฎเหล่านั้นก็ควรมาจากประชาชนเอง ไม่ใช่ให้คนเพียงกลุ่มเดียวมากำหนดกฎเกณฑ์ในการควบคุมคนทั้งประเทศ - รัฐธรรมนูญใหม่ต้องไม่เขียนกลไกที่นำไปสู่การสืบทอดอำนาจ หากจะเป็นระบบประชาธิปไตย อำนาจในการปกครองประเทศที่แท้จริงคือเสียงของประชาชน การสืบทอดอำนาจของคนเพียงบางกลุ่มจะต้องไม่ปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญไทยเด็ดขาด
เวลา 13.00 น. นายนิติธร ล้ำเหลือ จากกลุ่มประชาชนคนไทย จัดกิจกรรมเรียกร้องให้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยกำหนดการเคลื่อนไหวจะนัดรวมตัวที่ถนนอุรุพงษ์ ช่วงขาขึ้นทางด่วน จากนั้นจะเคลื่อนตัวไปที่ทำเนียบรัฐบาล โดยวางแผนว่าจะปักหลักค้างคืนที่ศาลกรมหลวงชุมพร ใกล้กับสะพานชมัยมรุเชฐ ส่วนประเด็นที่ออกมาเคลื่อนไหวนั้น นายนิติธร เผยว่า เกิดจากการบริหารงานที่ล้มเหลวของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ผ่านตัวชี้วัดใน 7 ปี ของการเข้ามาบริหารประเทศ เช่น ตัวชี้วัดด้านเศรษฐกิจ ที่ประเทศไทยมีจีดีพีลดลง แสดงให้เห็นว่าประเทศอยู่ในสภาวะขาดทุน เศรษฐกิจฝืดเคียง โดยไม่เห็นทิศทางฟื้นฟูเศรษฐกิจ
โดย นายนิติธร ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนวันที่ 23 มิ.ย. ระบุด้วยว่า หลังเคลื่อนตัวไปที่ทำเนียบรัฐบาล ตนเองมีกำหนดจะไปยื่นหนังสือให้ยุบพรรคพลังประชารัฐด้วย แต่รายละเอียดเพิ่มเติมว่าจะเป็นวันไหนนั้นจะแถลงให้ทราบอีกครั้ง ซึ่งตนเองเชื่อมั่นว่าจะทำทุกอย่างให้สำเร็จได้ หากต้องการให้ความสำเร็จเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วทุกคนต้องร่วมกันออกมา จะได้ไม่เสียเวลากำจัดไวรัสทางการเมือง พร้อมยืนยันว่าจะไม่มีการไปรวมกับกลุ่มอื่น แต่ตนเองก็ไม่ได้กีดกั้น เพราะได้กำหนดวัตถุประสงค์อย่างชัดเจน หากเห็นด้วยกับแนวทางขอให้ออกมาร่วมกัน
เวลา 16.00 น. กลุ่มไทยไม่ทน คณะสามัคคีประชาชนเพื่อประเทศไทย นำโดย นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. นายวีระ สมความคิด เลขาธิการเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชัน และคณะ จัดการชุมนุมขับไล่นายกรัฐมนตรี โดยนายจตุพร ระบุว่า จะใช้ยุทธการแม่น้ำร้อยสาย โดยเรียกร้องให้ประชาชนที่ไม่ทนต่อระบอบประยุทธ์ได้ออกมาร่วมกันในการขับไล่ ต่างคนต่างมารวมตัวกัน ซึ่งยุทธการแม่น้ำร้อยสายจะประกอบด้วยความหลากหลาย แต่จะใช้แผนพิฆาตฟ้าทะลายโจรจัดการกับพลเอกประยุทธ์
นายจตุพร ยังระบุว่าสถานการณ์จะเป็นตัวกำหนดอีกครั้งว่าการออกมาเรียกร้องจะยืดเยื้อหรือไม่ ซึ่งจะมีการตัดสินใจต่อไปอย่างไรนั้นขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ในส่วนของภาคประชาชนจะมีการประสานงานให้แต่ละฝ่ายสามารถเดินไปร่วมกันได้ เพราะทุกฝ่ายมีเป้าหมายเดียวกันคือการขับไล่พลเอกประยุทธ์ โดยจะเริ่มต้นชุมนุมในเวลา 16.00 น. ที่สะพานผ่านฟ้าลีลาศ จะมีการปักหลักตั้งเวทีปราศรัย ก่อนที่จะมีการเคลื่อนขบวนไปยังทำเนียบรัฐบาล
อย่างไรก็ตาม ข้อเรียกร้องของกลุ่มไทยไม่ทน ได้แก่ การประกาศขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในทันที เพื่อให้รัฐสภาเลือกบุคคลอื่นที่มีความสามารถมากกว่ามาบริหารบ้านเมืองในสถานการณ์วิกฤตครั้งนี้โดยเร็วที่สุดตามครรลองประชาธิปไตย ซึ่งพันธกิจของนายกรัฐมนตรีคนใหม่ จะต้องเข้ามาแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจผูกขาดและล้มเหลวในทันที รวมทั้งให้ยกเลิกการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และฉีดวัคซีนฟรีทั่วประเทศตามความสมัครใจของประชาชน และฟื้นฟูชาติบ้านเมืองจากวิกฤตด้านต่างๆ อย่างรวดเร็ว
นอกจากนี้ทางกลุ่มต้องการให้มีการร่างรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยฉบับใหม่โดยประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญโดยเร็วที่สุด โดยให้เสร็จก่อนหมดวาระเพื่อการเลือกตั้งทั่วไปครั้งหน้าภายใต้กติกาที่เป็นประชาธิปไตยและได้รับการยอมรับจากทุกฝ่ายในสังคม และให้มีการตั้งกรรมาธิการพิเศษในรัฐสภาเพื่อปรับปรุงสถาบันและองค์กรทางการเมืองต่างๆ โดยเฉพาะการปฏิรูปกองทัพและตำรวจอย่างเป็นระบบเพื่อการพัฒนาประเทศ รวมถึงข้อเสนอการปรับปรุงสถาบันกษัตริย์เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ส่วนที่รัฐสภามีการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ คาดว่าจะเริ่มลงมติได้ ในเวลา 16.00 น. ซึ่งเวลาลงมติก็จะลงแยก โดย นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ระบุเมื่อวันที่ 23 มิ.ย. 64 ว่า แนวทางการประชุมจะไล่ตามลำดับให้ ส.ส.อภิปรายทั้ง 13 ร่าง เริ่มจากพรรคเพื่อไทย พรรคพลังประชารัฐ พรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์ กำหนดเวลาฝ่ายค้าน 6 ชั่วโมง ฝ่ายรัฐบาล 6 ชั่วโมง และจะมีการถามทีละฉบับ โดยคำนวณเวลาที่ใช้ในการลงมติอาจจะหลายชั่วโมง
ซึ่งในวันนี้สามารถเกาะติดสถานการณ์การชุมนุมตลอดทั้งวันได้ที่ The Reporters