สมาพันธ์สื่อ ปชต.-ภาคีนักเรียนสื่อ หอบ 2 พันชื่อ ค้าน พ.ร.บ.จริยธรรมสื่อฯ
หวั่นรัฐแทรกแซงการทำงาน-เอื้อประโยชน์ทับซ้อน ด้าน กมธ.พัฒนาการเมือง สภาฯ รับเรื่อง บรรจุหารือพรุ่งนี้
วันนี้ (24 ม.ค. 66) สมาพันธ์สื่อไทยเพื่อประชาธิปไตย (DemAll) และภาคีนักเรียนสื่อ ยื่นหนังสือและรายชื่อประชาชนกว่า 2,000 รายชื่อผ่านเว็บไซต์ Change.org/NoMediaBill คัดค้านการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน ซึ่งอยู่ในระเบียบวาระการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ต่อคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร ส่วนคณะกรรมาธิการฯ วุฒิสภา ไม่มารับ จึงจะส่งสำเนาไปแทน
นางสาววศินี พบูประภาพ ผู้แทนสมาพันธ์สื่อไทยเพื่อประชาธิปไตย กล่าวว่า 2,000 รายชื่อที่นำมายื่นครั้งนี้ แสดงให้เห็นว่า ประชาชน นักวิชาการสื่อ และสื่อมวลชนกลุ่มใหญ่ ไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวของกรมประชาสัมพันธ์ที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ เนื่องจากเห็นว่ามีเนื้อหาควบคุมการสื่อสารไม่ใช่เพียงสื่อมวลชนตามนิยามแบบแคบ แต่ยังขยายออกไปได้ถึงอินฟลูเอนเซอร์ และคอนเทนต์ครีเอเตอร์ด้วย ถือเป็นกฎหมายที่ถูกออกแบบมาด้วยคนจำนวนน้อย เพื่อมาครอบคนจำนวนมาก ภายใต้ภูมิทัศน์สื่อที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
จึงนำมาสู่ความกังวลว่า จะนำไปสู่ผลประโยชน์ทับซ้อน เนื่องจากกระบวนการคัดสรรผู้มาควบคุมสภาวิชาชีพสื่อมวลชนตามที่ พ.ร.บ. นี้กำหนด มีความซับซ้อน และถูกโยงกับหน่วยงานรัฐ เพื่อมากำกับสื่อ จึงอาจส่งผลประสบต่อสิทธิเสรีภาพในการทำหน้าที่ของสื่อได้ ทั้งนี้ ยังมีการจัดสรรงบประมาณจากภาษีประชาชนจำนวนไม่ต่ำกว่า 25 ล้านบาทต่อปี เพื่อนำมาขับเคลื่อนสภาวิชาชีพสื่อดังกล่าว
“สื่อมวลชนในสังคมประชาธิปไตยถูกคาดหวังให้ตรวจสอบการทำงานและการใช้อำนาจของภาครัฐ จึงควรปิดช่องทางที่ภาครัฐจะเข้ามาแทรกแซงการทำหน้าที่”
ด้านนายอภิสิทธิ์ ฉวานันท์ ตัวแทนภาคีนักเรียนสื่อ ย้ำข้อเรียกร้อง ขอให้ชะลอกระบวนการพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวออกไปก่อน และขอให้เปิดเวทีรับทราบความคิดเห็นอย่างทั่วถึงและรอบด้าน จากสื่อมวลชนที่มีสังกัดและสื่อภาคพลเมือง ทั้งระดับบริหารและระดับปฏิบัติการ รวมถึงประชาชนทั่วไป
ขณะที่ นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) กรุงเทพมหานคร (กทม.) พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการพัฒนาการเมืองฯ กล่าวว่า เสรีภาพของสื่อ คือเสรีภาพของประชาชน สิ่งที่ดีที่สุดคือไม่ควรมีกฎหมายใดเลยมาครอบงำความเป็นเสรีในการทำงานของสื่อมวลชน เพื่อนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องโปร่งใสไปสู่ประชาชน
นายณัฐชา เปิดเผยว่า ทางคณะกรรมาธิการฯ จะได้นำเรื่องนี้บรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระในวันพรุ่งนี้ (25 ม.ค. 66) แล้วถึงแม้อายุของสภาฯ ชุดนี้จะเหลืออยู่อีกไม่นาน มีโอกาสที่กฎหมายดังกล่าวจะตกไป ขึ้นอยู่กับคณะรัฐมนตรีชุดหน้าว่าจะนำกลับมาพิจารณาอีกหรือไม่ แต่คณะกรรมาธิการฯ จะจัดทำรายงานการศึกษา โดยเชิญผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างกรมประชาสัมพันธ์และคณะรัฐมนตรีเข้ามาชี้แจง เพื่อเสนอความเห็นต่อสภาผู้แทนราษฎรสมัยหน้า หวังจะเป็นการปรับปรุงให้กฎหมายฉบับนี้ผ่านการรับฟังและแก้ไขให้เหมาะสมยิ่งขึ้น
เรื่อง : ณัฐนนท์ เจริญชัย
ภาพ : พุฒิพงศ์ ธัญญพันธุ์