“ไม่ยุบสภา ไม่ลาออก อยู่ไปเรื่อยๆได้ทุกกรณี” มองทางเลือก
“พล.อ.ประยุทธ์” ก่อนศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยปมดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครบ 8 ปี
วันที่ 23 สิงหาคม 2565 ก่อนถึงวันเส้นตาย 24 สิงหาคม 65 ที่ฝ่ายค้านยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ครบ 8 ปี หรือไม่ รศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิเคราะห์ไว้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ชิงยุบสภา หรือลาออก ก่อนศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอย่างแน่นอน
ท่าทีสำคัญน่าจะมาจากแนวทางที่ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้เปิดไพ่ มาแล้วว่า ไม่ว่ากรณีไหนๆ พล.อ.ประยุทธ์ ก็ยังอยู่ เช่นหากศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องและมีคำสั่งให้พล.อ.ประยุทธ์ หยุดปฏิบัติหน้าที่เป็นการชั่วคราว จนกว่าจะมีคำวินิจฉัย พล.อ.ประยุทธ์ ก็ยังเป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม !!!
การดูทิศทางการเมืองนับจากวันนี้ ต้องดูทีละขั้นตอน ง่ายๆ ดังนี้
23 ส.ค.นี้ แม้ม็อบจะนัดชุมนุมตีโอบทำเนียบรัฐบาล ขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ ทั้งคณะหลอมรวมประชาชน ที่ลานคนเมือง กลุ่มราษฎร ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย กลุ่มทะเลุแก๊ส และหลายกลุ่มที่จะเคลื่อนพลจากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิมายังทำเนียบรัฐบาล แต่ไม่สามารถกดดันใดๆได้ เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ ยืนยันแล้วว่า จะปฏิบัติหน้าที่ตามปกติจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย และวันนี้ก็มีประชุม คณะรัฐมนตรี ตามปกติ
24 ส.ค. ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีการประชุมต้องจับตาว่า จะนำคำร้องของฝ่ายค้าน ที่ประธานสภาผู้แทนราษฎณ ได้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญแล้วเมื่อวันที่ 22 ส.ค. ที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จะนำเข้าสู่การพิจารณาว่าจะรับคำร้องหรือไม่ หากรับคำร้อง จะมีคำสั่งให้ พล.อ.ประยุทธ์ หยุดปฏิบัติหน้าที่ไว้เป็นการชั่วคราวหรือไม่ ซึ่งศาลอาจจะสั่งไม่ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ก็ได้ และจะนัดไปมีคำสั่งรับคำร้องในวันอื่นก็ได้ ถ้าต้องพิจารณาเอกสารต่างๆ และศาลอาจจะไม่รับคำร้องก็ได้
“เมื่อรับคำร้องแล้วมีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ระหว่างรอการวินิจฉัยหรือไม่ ต้องมีรักษาการณ์นายกรัฐมนตรี ตำลำดับชั้นคือ สร.2 คือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ แต่อีกช่องทางหนึ่ง การรับคำร้อง แต่ไม่ได้มีคำสั่งให้ยุติปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี ก็ทำงานไปตามปกติ ซึ่งศาลอาจจะบอกว่า นายกรัฐมนตรี เป็นตำแหน่งสำคัญ ให้รอคำวินิจฉัยทีเดียว เช่นอาจจะ 1-2 สัปดาห์ ว่าจะครบ 8 ปีเมื่อไหร่ โดยไม่จำเป็นต้องยุติปฏิบัติหน้าที่ แต่ในประเด็นนี้ฝ่ายค้านได้ยื่นให้ตีความตามวรรคท้ายของ ม.172 ถ้าศาลเห็นควรให้ยุติปฏิบัติหน้าที่ก็ทำได้ เช่นในกรณี นายธนาธร จึงรุ่งเรื่องกิจ นายสิระ เจนจาคะ และ น.ส.ปรีณา ไกรคุปต์ ที่เคยถูกสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ระหว่างรอคำวินิจฉัย” รศ.ดร.สิริพรรณ กล่าว
เมื่อถึงวันที่ศาลรับคำร้อง และ สั่งให้ พล.อ.ประยุทธ์ หยุดปฏิบัติหน้าที่เป็นการชั่วคราว ก็จะส่งผลเฉพาะตัวของพล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะ นายกรัฐมนตรี เพียงคนเดียว คนอื่นยังเป็นรัฐมนตรี ตามปกติ รวมถึง พล.อ.ประยุทธ์ ก็ยังเป็น รมว.กลาโหม เข้าร่วมประชุมเป็นลูกน้อง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่จะปฏิบัติหน้าที่แทนนายกฯ ตามที่นายวิษณุ เครืองามได้กล่าวไว้
“ถ้าศาลรับคำร้อง แต่ไม่ได้สั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ พล.อ.ประยุทธ์ ก็ยังปฏิบัติหน้าที่ได้ กรณีอาจมีคำถามว่า ถ้าภายหลังศาลวินิจฉัยว่า พล.อ.ประยุทธ์ ครบ 8 ปีในวันที่ 24 ส.ค.65 แล้วการปฏิบัติหน้าที่ระหว่างนี้เป็นโมฆะ หรือไม่ ซึ่งกรณีนี้ศาลและกฏหมายรับรองเอาไว้ ก็ไม่เป็นโมษะ”
รศ.ดร.สิริพรรณ วิเคราะห์ไว้ด้วยว่า หากศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้ พล.อ.ประยุทธ์หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี ชั่วคราว จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัย มีพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ มารักษาการณ์นายกรัฐมนตรี ส่วนรัฐมนตรีคนอื่นๆยังทำงานตามปกติ รวมถึง พล.อ.ประยุทธ์ ที่เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
รูปร่างหน้าตาคณะรัฐมนตรีก็จะเป็นแบบนี้จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะนัดอ่านคำวินิจฉัย ซึ่งอาจจะเป็นเวลา 1-2 เดือนก็ได้ ขึ้นอยู่กับการกำหนดเวลาของศาลรัฐธรรมนูญ ทีมีขั้นตอนต่างๆในการประชุมอยู่แล้ว
ส่วนเมื่อถึงวันที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ก็ยังเป็นไปตาม 3 แนวทาง
1.หากศาลเห็นว่าการเป็นนายกรัฐมนตรีของ พลเอก ประยุทธ์ ครบ 8 ปี ในวันที่ 24 สิงหาคม 2565 ก็ต้องพ้นจากตำแหน่ง พล.อประวิตร วงษ์สุวรรณ จะรักษาการณ์นายกรัฐมนตรี เช่นเดียวกับคณะรัฐมนตรี ที่มีพลเอกประยุทธ์ รักษาการณ์รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ก่อนจะมีการเลือกนายกรัฐมนตรีใหม่ ตามแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีที่มีในรัฐสภา
2.หากศาลเห็นว่าสิ้นสุดตามการบังคับใช้ของรัฐธรรมนูญ 2560 พล.อ.ประยุทธ์ ก็สามารถเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปถึงปี 2568
3.หากสิ้นสุดตามการเลือกตั้งปี 2562 ก็สามารถเป็นได้ไปถึงปี 2570
“ยุบสภาเวลานี้จึงเป็นเรื่องที่ยากมาก ในวันนี้ 23 ส.ค.เชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ยุบสภาแน่นอน เพราะต้องจัดการเลือกตั้งใหม่ ซึ่งก็ต้องภายใน 23 ตุลาคม ถามว่า โอกาสที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะกลับมาในการเลือกตั้งครั้งหน้าได้แค่ไหน แม้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีรักษาการณ์ ที่อาจจะดูแลการประชุมเอเปคได้ ซึ่งต้องถามว่า เป็นเรื่องที่ พล.อ.ประยุทธ์ต้องการเหรอ การยุบสภา หรือการลาออก จึงไม่น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับพล.อ.ประยุทธ์ ในเวลา นี้ เท่าที่มองจากท่าทีต่างๆแล้ว เชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะอยู่จนกว่าจะมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ในทางใดทางหนึ่ง”
เรื่อง : ฐปณีย์ เอียดศรีไชย