‘ชวน’ ชี้ ประธานสภาฯ ต้องเป็นกลาง พรรษาน้อยหรือมากก็ไม่เกี่ยว
‘ชวน’ มอง ปมขัดแย้งประธานสภาฯ เหตุอันดับ 1-2 อยู่ฝ่ายเดียวกัน ชี้ ประธานสภาฯ ต้องเป็นกลาง ไม่มีผลต่อการบรรจุวาระ พรรษาน้อยหรือมากก็ไม่เกี่ยว
วันนี้ (23 มิ.ย. 66) นายชวน หลีกภัย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ เข้ารายงานตัวต่อสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร พร้อมให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนถึงกรณีตำแหน่งประธานสภา
ผู้สื่อข่าวถามว่าตำแหน่งประธานสภายังไม่ลงตัวจะทำให้เกิดความวุ่นวายหรือไม่ นายชวน ระบุว่า ไม่น่ามีปัญหาอะไร เพราะอาจจะเป็นประสบการณ์ที่ทั้งสองฝ่ายไม่เคยเจอ โดยทั่วไปพรรคการเมืองที่มีเสียงข้างมากจะเป็นประธานประสภาฯ ซึ่งที่ผ่านมาพรรคอันดับ 1 และพรรคอันดับ 2 จะอยู่คนละฝ่ายกัน แต่คราวนี้อยู่ฝ่ายเดียวกันจึงมีปัญหาเกิดขึ้น
“ปัญหาในการแย่งตำแหน่งประธานสภา หากมองว่า การเป็นประธานสภาฯ จะทำให้ได้เปรียบในการเสนอกฎหมาย ผมมองว่ามันไม่มีผล เนื่องจากประธานสภาฯ ต้องเป็นกลางตามที่รัฐธรรมนูญเขียนเอาไว้ ไม่ว่าประธานจะมาจากพรรคไหน โดยจะนำกฎหมายของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งออกมาพิจารณาก่อนไม่ได้ เว้นแต่เป็นมติของที่ประชุม”
นายชวน กล่าวว่าโดยทั่วไปใครเป็นรัฐบาลสามารถเสนอกฎหมายได้เป็น 100 ฉบับ และสามารถพิจารณาได้ตามที่รัฐบาลขอ อย่างเช่นเป็นเรื่องด่วนก็จะถูกบรรจุไว้เป็นเรื่องด่วน จึงไม่แปลกใจที่กฎหมายที่รัฐบาลนำไปพิจารณาในทุกเรื่อง แต่ของฝ่ายค้านยังไม่ถูกนำไปพิจารณา เนื่องจากไม่ใช่เรื่องด่วน ปัญหาเรื่องตัวบุคคลจึงเป็นคนละเรื่องกัน แต่หากเป็นห่วงว่าใครเป็นแล้วจะเอา เปรียบอีกฝ่ายนั้น ตนเองมองว่าทำได้ยาก เพราะมีกฎเกณฑ์ข้อบังคับที่ชัดเจน จะไปละเมิดกฎเกณฑ์ดังกล่าวไม่ได้ เนื่องจากมีสมาชิกคอยตรวจสอบ
ผู้สื่อข่าวถามต่อว่าความกังวลของพรรคก้าวไกล คือ กลัวว่าประธานสภาจะไม่บรรจุวาระการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 นายชวน ระบุว่า ที่ผ่านมาเป็นหน้าที่ของนายสุชาติ ตันเจริญ อดีตรองประธานสภาคนที่ 1 เป็นผู้พิจารณาเรื่องระเบียบวาระ ซึ่งคราวนั้นมีความเห็นว่า ร่างแก้ไขดังกล่าว อาจขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 6 จึงส่งคืนกลับไปให้แก้ไข แต่ผู้เสนอญัติไม่ได้แก้ จึงไม่ได้บรรจุ ซึ่งตนก็เห็นว่า นายสุชาติวินิจฉัยได้รอบคอบ นั่นเป็นกฎหมายเพียงฉบับเดียว แต่กฎหมายฉบับอื่นไม่มีปัญหา แม้จะเป็นกฎหมายจากภาคประชาชน สภาก็ดูแลอย่างดี และเร่งรัดให้ด้วยซ้ำไป
ผู้สื่อข่าวถามอีกว่าหากพรรคก้าวไกลเป็นประธานสภาฯ จะผลักดันการแก้ไขมาตรา 112 หรือไม่ นายชวน ระบุว่า ต้องดูว่า ผู้ใดเป็นคนเสนอมา หากรัฐบาลเป็นผู้เสนอ สภาก็จะพิจารณา เพราะรัฐบาลต้องใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการบริหาร
ส่วนการเสนอคนนอกพรรคเป็นประธานสภาฯ สามารถทำได้หรือไม่ นายชวน ระบุว่า เมื่อการเลือกตั้งปี 2562 พรรคประชาธิปัตย์ได้ตำแหน่งประธานสภาฯ แม้จะได้ลำดับ 4-5 แต่มีการขอให้ตนเองรับตำแหน่ง โดยไม่ตัดโควตาเก้าอี้รัฐมนตรีออก ซึ่งในช่วงแรกก็ปฏิเสธ แต่พรรคร่วมรัฐบาลอื่น ๆ ไม่เกี่ยง จึงยอมรับตำแหน่งไป และต้องยอมรับว่า คราวที่แล้วมีสมาชิกรุ่นใหม่เข้ามาเยอะที่ยังไม่คุ้นกับระเบียบกฎเกณฑ์ เราจึงต้องช่วยกันประคับประคองในฐานะประธานสภาและรองประธานสภา
“ผมคิดว่า ข้อขัดแย้งต่างๆ ไม่ใช่เรื่องหลัก แต่ที่สำคัญ คือต้องทำให้ระบบนิติบัญญัติ เดินต่อไปได้โดยปกติ เราผ่านประสบการณ์มา 4 ปี ได้รู้อะไรพอสมควร ต่อไปนี้ สิ่งต่างๆ เหล่านี้ก็คงจะค่อยดีขึ้นตามลำดับ”
นายชวน ยืนยันว่า แม้คราวนี้จะมีสมาชิกใหม่เยอะ แต่สมาชิกก็ผ่านประสบการณ์มาแล้ว 4 ปี จึงไม่น่าจะมีปัญหา และไม่ว่าประธานสภาฯ จะมาจากฝ่ายใด เชื่อว่าทุกคนจะให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี